นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู รวมทั้งการขอคืนอัตราเกษียณของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังพิจารณาการคืนอัตราเกษียณของปี 2554-2555 แต่ยังไม่ได้พิจารณาของปี 2556 ทั้งนี้ เห็นว่าการขอคืนอัตราเกษียณเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู เมื่อดำเนินการระยะหนึ่งก็อาจจะมีปัญหาเรื่องเพดานจำนวนข้าราชการที่เหมาะสมของทั้งประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาการขาดครูมีความซับซ้อน และหากพิจารณาจากจำนวนครูที่ขาดแคลน ก็พบว่าขณะนี้ขาดแคลนครูจำนวน 103,743 คน ในจำนวนนี้ยังเป็นการขาดแคลนครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ รวม 51,462 อัตรา ได้แก่ ภาษาต่างประเทศ 7,444 อัตรา คณิตศาสตร์ 7,248 อัตรา ภาษาไทย 6,324 อัตรา วิทยาศาสตร์ 6,039 อัตรา และอื่นๆ
แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูของ ศธ. จึงต้องคำนึงถึงหลายๆ ส่วนประกอบกัน เช่น
- การขออัตราเกษียณ และเกลี่ยครู ต้องพิจารณาในหลายส่วนทั้งการขออัตราคืนเกษียณ การเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่มีครูเกินไปยังโรงเรียนที่ครูขาด รวมทั้งเกลี่ยเพื่อให้ครูที่จบตรงวิชาเอกไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม
- การผลิตครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขาดแคลน ขณะนี้แม้จะมีการสอบบรรจุครู แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งข้อมูลการผลิตครูของสภาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2556-2560) พบว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 259,522 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาที่จำนวนการผลิต พบว่ามีจำนวนเพียงพอและเกินกว่าจำนวนที่ขาด แต่ก็จะมีปัญหาในการสอบ และมีการคาดการณ์ว่าจะยังคงขาดแคลนครูในสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก
- แนวโน้มประชากรวัยเรียนในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องมาพิจารณาด้วยว่าจะเป็นอย่างไร มีจำนวนเท่าใดในแต่ละปี มีแนวโน้มจะลดลงหรือไม่ หรือจะมีจำนวนครูที่ขาดแคลนอีกเท่าใด ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ยังไม่ได้นำมาพิจารณาประกอบ จึงได้มอบให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นำไปพิจารณาแล้ว นอกจากนี้จะมีเรื่องของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ เช่น ข้าราชการทั่วไป เป็นเหตุให้ไทยก้าวไปสู่สังคมของผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการวางแผนครอบครัว การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้เราต้องผลิตคน สร้างคนให้มีอาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูแลเลี้ยงดูผู้สูงอายุด้วย
- การเสนอขอขยายอายุเกษียณครูเป็น 65 ปีของ สพฐ. เป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์ แต่จะพิจารณาถึงหลักเกณฑ์กติกา และระเบียบของ ก.ค.ศ. และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ประกอบด้วย รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับส่วนอื่นๆ
- อัตราส่วนนักเรียนต่อครู สำหรับผู้เรียนประเภทต่างๆ ทั้งผู้เรียนภาษาต่างประเทศ เด็กพิเศษ เด็กพิการ ซึ่งมีสัดส่วนนักเรียนต่อครูที่ต่ำมาก
- การนำเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามาช่วยจัดการเรียนการสอนและการอบรมพัฒนาครูให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนครูต่อนักเรียนลดลงในหลายส่วน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้งว่า หากจัดการศึกษาโดยใช้ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ICT) ที่ทันสมัยแล้วจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร และสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ จะมีแนวทางวิธีการพัฒนาครูให้สามารถสอนด้วยการใช้สื่อ ICT อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร รวมทั้งการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาช่วยในการเกลี่ยกำลังคนด้วย
- การแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้มีกำลังอัตราที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีปัญหาในการย้ายครูจากโรงเรียนที่ครูเกินเกณฑ์ไปยังโรงเรียนที่ครูขาด การโอนย้ายข้ามเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งครูต้องเขียนขอย้ายด้วยตัวเอง มิฉะนั้นจะย้ายไม่ได้ หากส่วนใดที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดระบบครูทั้งหมด จะให้ ก.ค.ศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย
ในส่วนของโครงการครูคืนถิ่นนั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการ แต่ก็มีเสียงสะท้อนของครูเช่นกันว่า มีปัญหาเรื่องการเกลี่ยครูในสาขาที่ขาดแคลนด้วยเช่นกัน
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ต้องการคุ้มครองไม่ให้ถูกย้ายโดยไม่สมัครใจ หรือเขตพื้นที่การศึกษาใดจัดสอบก็ให้คนในเขตพื้นที่การศึกษานั้นไปสมัคร เพื่อให้ได้ครูที่อยู่ในพื้นที่นั้นมากๆ ไม่เกิดปัญหาการย้ายข้ามเขตพื้นที่การศึกษามากนัก แต่ในความเป็นจริงเป็นการเปิดสอบโดยทั่วไปไม่มีโควตา จึงได้มอบให้ ก.ค.ศ.นำไปพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ด้วย รวมทั้งควรขอความร่วมมือจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่อาจจะต้องมีการปรับระบบสอบคัดเลือก เพราะการดำเนินการสอบที่ผ่านมา มีปัญหาครูอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ตรงกับพื้นที่ภูมิลำเนาของตัวเองเป็นจำนวนมาก
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/aug/252.html