ในฐานะครูคนหนึ่ง ที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทางการศึกษาในเว็บไซต์เป็นประจำ และพบว่ามีผู้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวการศึกษาเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ว่าความคิดเห็นที่ถูกโพสต์ขึ้นมาอย่างมากมายนั้น กำลังบอกหรือสะท้อนอะไรเกี่ยวกับสภาวะ หรือสภาพที่เป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ เราจะยอมรับชะตากรรม หรือมองมองอย่างรู้เท่าทันแล้วรวมพลังกันเผชิญหน้า...
ความเป็นมา
เว็บไซต์ http://www.kroobannok.com และ http://www.kruthai.info เป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอเกี่ยวกับความรู้ ข่าวสาร บทความ กฎหมาย การเผยแพร่ผลงานวิชาการ ห้องสมุดความรู้ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นแหล่งความรู้ของชุมชนครูและบุคลากรทางการศึกษาออนไลน์ ที่มีผู้เข้ามาศึกษาความรู้ แลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างอิสระ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จากสถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์เกี่ยวกับการศึกษา ของ http://www.kroobannok.com ในเดือน พฤศจิกายน 2551 พบว่า มีผู้เข้าชมเฉลี่ย 29,380 ครั้งต่อวัน(http://truehits.net/script/200812/rank_1.php) ส่วนเว็บไซต์ http://www.kruthai.info ไม่ปรากฏจำนวนผู้เข้าชมเฉลี่ย แต่สถิติตัวเลขผู้อ่านข่าวที่ปรากฏในเว็บไซต์ดังกล่าวมีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทั้งสองเว็บไซต์ยังสามารถเชื่อมโยงมาจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษารู้จักและเข้าถึงเว็บไซต์ทั้งสองแห่งได้ง่าย
ในการนำเสนอข่าวการศึกษาของเว็บไซต์ทั้ง 2 แห่ง มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และนำเสนอความเคลื่อนไหวทางการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นต่อข่าวเรื่องนั้นๆ ได้ตามความสนใจของแต่ละบุคคลโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ภาษา มีความสำคัญต่อการนำเอาสิ่งที่ไม่อาจจับต้องได้และมีลักษณะเป็นความคิดนามธรรมที่อยู่ในสมองและจิตใจของมนุษย์เรา ให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้และสัมผัสได้ ภาษาและความคิดจึงเป็นอีกด้านหนึ่งของกันและกัน เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองหน้าซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก (อวยพร พานิช และ คณะ, 2548 : 89) ภาษาจึงเป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา การวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้อ่านข่าวการศึกษาจากการใช้ภาษา จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ ความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่าครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสนใจข่าวการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องใด และแสดงความคิดเห็นโดยมีเจตนาสื่อสารกับผู้อื่นอย่างไร
จากเหตุผลดังกล่าว ผู้ศึกษาได้ใช้ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 ถึง 20 มกราคม 2552 จำนวน 30 วัน เพื่อศึกษาข่าวที่ปรากฏบนเว็บไซต์ทั้งสองแห่ง ประกอบด้วย ข่าวการศึกษาจาก http://www.kruthai.info จำนวน 132 ข่าว ข่าวการศึกษาจาก http://www.krobannok.com จำนวน 172 ข่าว รวมข่าวการศึกษาทั้งสิ้น 304 ข่าว และศึกษาความคิดเห็นต่อข่าวการศึกษาที่มีผู้อ่านมากที่สุดในลำดับที่ 1 – 5 จำนวน 516 ความคิดเห็น ผลการศึกษา พบว่า
ข่าวการศึกษาที่ปรากฏในเว็บไซต์ มากที่สุด คือ ข่าวเกี่ยวกับเรียนฟรี 15 ปี รองลงมาคือ ข่าวปฏิรูปการศึกษา
ข่าวการศึกษาที่มีผู้อ่านมากที่สุด เป็นข่าวเกี่ยวกับวิทยฐานะ ข่าวการศึกษาที่มีผู้อ่านน้อยที่สุดได้แก่ ข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา
เจตนาการสื่อสารเพื่อแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านข่าวการศึกษาในเว็บไซต์ชุมชนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พบมากที่สุดคือการบ่น
ข้อสังเกต
ข่าวการศึกษาที่ปรากฏในเว็บไซต์ มากที่สุด คือ ข่าวเกี่ยวกับเรียนฟรี 15 ปี รองลงมาคือ ข่าวปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีการรับตำแหน่งใหม่ของรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีการแถลงนโยบาย และประกาศ เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ผู้อ่านสนใจข่าวเกี่ยวกับวิทยฐานะมากที่สุด เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการประกาศผลการประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นของครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในช่วงเวลาเดียวกันมีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเยียวยาผู้ไม่ผ่านการประเมิน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาอนุมัติหลักสูตรเยียวยา (จากข่าวเรื่อง อนุมัติหลักสูตรเยียวยาวิทยฐานะ. http://www.kruthai.info) นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตรวจสอบพบว่า ในการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษในหลายพื้นที่ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด เช่น บางพื้นที่แต่งตั้งผู้ที่ไม่มีรายชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.กำหนด ให้เป็นคณะกรรมการประเมิน ขณะที่บางพื้นที่ก็แต่งตั้งบุคคลไม่ตรงกับสาขาวิชา เช่น ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินฯ สาขาภาษาไทย จากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.กำหนดให้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สาขาก่อนประถมศึกษา ซึ่งเป็นคนละสาขา เป็นต้น (ข่าว ครูอึ้ง!" อ.ก.ค.ศ.เขตฯตั้งกก.ประเมินผิดหลัก ก.ค.ศ.สั่ง"โละ"ตั้งใหม่. http://www.kroobannok.com, 2552)
มีผู้ขอรับการประเมินเพื่อเข้าสู่วิทยฐานะในระดับที่สูงขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแรงจูงใจ 2 ประการคือ แรงจูงใจในเรื่องค่าตอบแทนและเงินเดือนที่สูงขึ้น กับระบบโครงสร้างของเงินเดือน ที่กำหนดเพดานในระดับชำนาญการ คือ 33,540 บาท หากไม่ทำผลงานเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น จะทำให้เงินเดือนถึงระดับเพดานสูงสุด มาก ดังนั้น ข่าวเกี่ยวกับวิทยฐานะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้อ่านให้ความสนใจ
ส่วนเรื่องที่ผู้อ่านเว็บไซต์ให้ความสนใจน้อย คือ การปฏิรูปการศึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นหน้าที่หลักของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการปฏิรูป โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง พบว่าการดำเนินงานของครูมีเพียงร้อยละ 50 – 60 เท่านั้น นอกจากนี้ จากผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน พบว่า ยังอยู่ในระดับปรับปรุงถึงร้อยละ 40 – 60 (วิทยากร เชียงกูล, 2550) นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปการศึกษา พบว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จในหลายๆ ด้าน จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการปฏิรูปศึกษาโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนจึงมีความสนใจในเรื่องดังกล่าวน้อย
ส่วนเจตนาการสื่อสารเพื่อแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านข่าวการศึกษาในเว็บไซต์ชุมชนครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า เจตนาการสื่อสาร เพื่อแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านข่าวการศึกษาในเว็บไซต์ทั้งสองเว็บไซต์ที่พบมากที่สุดคือการบ่น ซึ่งเป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึก ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ด้วยความอึดอัดใจ โดยเฉพาะเรื่องที่สนใจ คือเรื่องวิทยฐานะ สะท้อนให้เห็นว่าทางออกของครูและบุคลากรทางการศึกษาเมื่อเจอปัญหาอึดอัดใจในการประกอบอาชีพคือการยอมรับสภาพด้วยความไม่เต็มใจ
เจตนาของเว็บไซต์ชุมชนครูและบุคลากรทางการศึกษาคือ ต้องการให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาที่ผู้อ่าน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ แต่เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์เป็นช่องทางที่ผู้ส่งสารไม่ได้เห็นหน้ากัน จึงมีผลทำให้มีความกล้าแสดงออกความคิดเห็นที่ขัดแย้งอย่างรุนแรง จากผลการศึกษาพบว่า กลวิธีที่ผู้ส่งสารเลือกใช้จึงมีเจตนาแสดงความรุนแรง เช่น เสียดสีประชดประชัน ตำหนิ ประณาม โต้แย้ง ต่อว่า เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างจากการสนทนาที่เผชิญหน้ากันในชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ส่งสารจำเป็นที่จะต้องรักษาหน้าของอีกฝ่ายในการสนทนา การแสดงความคิดเห็นจึงไม่รุนแรง
สังคมไทยถูกมองว่าเป็นสังคมที่อ่อนน้อมถ่อมตน ที่มีนิสัยประนีประนอม แต่จากผลการศึกษาลักษณะการแสดงความคิดเห็นให้ผลตรงกันข้าม คือ การแสดงความคิดเห็นที่มีต่อข่าวการศึกษา ในเว็บไซต์จึงมีลักษณะเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ผู้แสดงความคิดเห็นจึงมีเจตนาแสดงความคิดเห็นในเชิงลบมากกว่าการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ปัจจัยด้านเหตุการณ์ในขณะนั้นก็มีส่วนส่งผลต่อความสนใจในข่าวการศึกษาและการแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง เนื่องจากช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล อยู่ในช่วงรัฐบาลใหม่เข้ามารับตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ และเป็นช่วงประกาศผลการประเมินให้ได้รับตำแหน่งวิทยฐานะที่สูงขึ้น รวมถึง เป็นช่วงที่ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาสำหรับผู้ไม่ผ่านการประเมิน ดังนั้นประเด็นวิทยฐานะ จะมีโดยตลอดเท่าที่เหตุการณ์ยังดำเนินอยู่ ทำให้มีผู้เข้ามาอ่านข่าวและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก แสดงว่า ปัจจัยด้านบริบทภายนอก หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมีส่วนอย่างมากต่อความสนใจข่าวการศึกษาและการแสดงความคิดเห็น
การศึกษาเจตนาของผู้แสดงความคิดเห็น โดยใช้เจตนาของภาษาเป็นเครื่องมือในการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะสะท้อนภาพของครูและบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นการใช้ภาษาในลักษณะต่างๆอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเจตนาในการแสดงความคิดเห็นปรากฏในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก
นอกจากนี้ ผู้ศึกษายังได้ตั้งกระทู้ถามความรู้สึก/ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้อ่าน เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของคนในวงการศึกษา ที่มีต่อข่าวในเว็บไซต์ทั้งสองแห่ง ซึ่ง มีผู้แสดงความเห็นว่า ครูเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง การแสดงความคิดเห็น เป็นการระบายความรู้สึกของคนที่มีความทุกข์ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด วิทยาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อครูและวงการศึกษา เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ดีเกี่ยวกับอะไรก็ได้ โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ซึ่งบางครั้งการที่จะร้องเรียนยังเขตพื้นที่หรือสำนักงานนั้น เป็นเรื่องยากในการปกปิดไม่ให้ผู้อื่นรู้ เพราะกลัวเสียงชื่อสำนักงานหรือเขตพื้นที่ แต่การได้มาพูดหรือบรรยายความรู้สึกทางเว็บรู้สึกดีกว่าร้องเรียนไปที่เขตพื้นที่การศึกษาฯ รวมทั้งเป็นการสะท้อนความรู้สึกหรือเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้อ่านได้บ้าง ส่วนข้อเสนอแนะที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นนั้น ควรเลือกบริโภคแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและการศึกษา ผู้ตั้งกระทู้ควรมีวิจารณญาณโดยตั้งกระทู้ในเรื่องที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ ควรแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ มีการแนะนำ แบ่งปัน ให้กำลังใจ หรือเสนอแนะ วิพากษ์ ข่าวสารต่างๆ เพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของสถานการณ์ทางการศึกษาที่เปลี่ยนไปทุกวัน
ข้อสังเกตที่พบอีกประการหนึ่งนอกจากความสนใจที่มีต่อข่าว และเจตนาในการแสดงความคิดเห็นของผู้อ่าน คือ การใช้ภาษาของผู้อ่านข่าวการศึกษาในเว็บไซต์ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังมีการใช้ภาษาไม่ถูกต้องอยู่ หลายลักษณะ ได้แก่
การใช้ภาษาอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น
อันไหนเป็นประโยชน์ก็เลือกรับดีกว่าครับ ในประเทศที่เจริญแล้วที่พูดภาษาประกิต
ก็ยังมีการโพสต์ด่ากันในเว็บบอร์การศึกษาครับ ว่ารัฐบาลก้อมี พอดี ผมอ่านภาษาประกิต
เก่งอ่ะคับประเภทเด็กทุนอ่ะนะ แต่เป็นผอ.โรงเรียนปราถม (อุอุ โตมาจากครูมัดยม รองมัดยม) ดีๆๆ สนุกๆๆดีๆๆชอบเด็กน่าร๊าก ครูก้อนิสัยน่าร๊าก (แต่แก่จัง รุ่นแม่ทั้งน้าน) อิอิ
ผอ.จ้าPosted : 2009-01-25 12:56:05 IP : (125.26.9.109)
การสะกดผิด ตัวอย่างเช่น
การประเมิน วฐ. แบบที่ประเมินอยู่ ทำให้การศึกษา ตกต่ำ เพราะรุ่นปัจจุบันจ้างทำเกลือบทุกคน ที่โรงเรียน ส่ง 3 จ้างทั้ง 3 คน รายละ 5 หมื่น ส่ง มีนาคม 52 แล้วจะเกิดผลอย่างไร ในเมื่อ กคศ. ใช้วิธีการให้ครูทำแบบนี้
Posted : 2009-01-27 13:22:54 IP : (172.10.5.112)
การใช้คำหยาบ ไม่สุภาพ ตัวอย่างเช่น
จุรินทร์ มึงคิดจะทำอะไรเพื่อครูบ้างไหม ไอ้น้อง อย่าให้ เฮงซวยเหมือน สมัย ลูกนางถ้วนเป็นนายก นะ ที่ไม่อยากขึ้นเงินให้ครู แม้พูดมาแล้ว มันน่าทำให้สูญพันธุ์จริงๆพวกนี้
Posted : 2009-01-20 21:56:51 IP : (125.26.240.54)
จากตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การใช้ภาษาไม่ถูกต้องของคนไทยในโลกอินเทอร์เน็ตนอกจากจะพบมากในวัยรุ่นแล้ว ยังพบในกลุ่มอายุอื่นด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าว ควรจะมีความตระหนักในเรื่องการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป
ข้อเสนอแนะ
1. ผู้อ่านข่าวการศึกษาควรแสดงความคิดเห็นโดยการนำเสนอข้อเท็จจริง เสนอแนวคิดและทางออกอย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านคนอื่น ในการนำความรู้ ข้อคิดเห็นไปปฏิบัติได้
2. ควรมีการนำเสนอสภาพความเป็นจริงและความรู้สึกนึกคิดของผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษาต่อหน่วยงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา
3. ควรมีการรณรงค์การใช้ภาษาอย่างถูกต้อง และสุภาพในเว็บไซต์ชุมชนครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป
ข้อมูลในการศึกษามาจาก http://www.kroobannok.com และ http://www.kruthai.info ผู้ศึกษาขอขอบคุณ webmaster เว็บไซต์ทั้ง 2 แห่งเป็นอย่างสูง