ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมข่าวการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การศึกษาไทยลง “เหว” เพราะหลักสูตร “เ(ห)ลว” รังแกเด็ก ตอนที่ 2 : นักเรียน หรือ กรรมกร?


ข่าวการศึกษา 12 ส.ค. 2556 เวลา 09:57 น. เปิดอ่าน : 20,125 ครั้ง
การศึกษาไทยลง “เหว” เพราะหลักสูตร “เ(ห)ลว” รังแกเด็ก ตอนที่ 2 : นักเรียน หรือ กรรมกร?

Advertisement

โดย...กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ
       
       “หากเปรียบชีวิตเด็กนักเรียนเหมือนดวงดาราที่ส่องแสงในท้องนภา การศึกษาไทยก็เปรียบเสมือนหลุมดำอำมหิตที่กัดกินและดูดกลืนอนาคตของเด็กลงไปสู่ก้นบึ้งแห่งความมืดบอด”
       
       หากท่านผู้อ่านมีบุตรหลาน (ผมไม่คิดจะมีลูกตราบใดที่การศึกษายังเน่าอยู่เช่นนี้ เหตุเพราะสงสารลูกด้วยไม่อยากให้ลูกต้องมาทนทุกข์ทรมานกับการศึกษาสิ้นคิดดังที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้) ลองขอตารางเรียนในแต่ละวันของบุตรหลานของท่านมานั่งพิจารณาดู ท่านอาจตกใจว่า ทำไมมันถึงแน่นอย่างนี้!
       
       ผมเองก็เคยผ่านความหฤโหดโฉดเขลาของการศึกษาไทยมาเหมือนกัน สมัยเรียนก็รู้สึกอึดอัดมาตลอดเวลา แม้ตอนนี้จะพ้นสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษามานานแล้ว (แต่ไม่เคยพ้นสภาพนักเรียนชีวิต) ผมก็ยังรู้สึกหงุดหงิดและอึดอัดแทนนักเรียนไทยทุกครั้งที่ได้เห็นตารางเรียนที่ไม่รู้ว่ามีไว้สำหรับนักเรียน หรือ กรรมกรทางการศึกษากันแน่? ด้วยความ “หนัก” และ “แน่น” ที่มีความคงทนสูง โดยการรักษามาตรฐานความหนักแน่นเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ  และแม้ว่าจะเรียนกันอย่างหนักหน่วงและน่าเป็นห่วงกันถึงเพียงนี้ เด็กไทยจำนวนมากก็ยังไปเรียนกวดวิชากันต่อ

ผมคงไม่สามารถหาคำใดในโลกมาใช้อธิบาย สภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันได้ดีไปกว่าคำว่า “มะเร็งระยะสุดท้าย” จองศาลาได้เลยครับ
       
       ในบทความตอนที่แล้ว ได้มีการกล่าวถึงการทำ Career Testing ในเด็ก Year 8 และ 9 เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสายอาชีพและสายการเรียนที่เป็นไปได้ของเด็กพิจารณาจากความชอบ ความถนัดและความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ หลังจากที่ได้ผ่านการทดสอบวัดแววความถนัดในระดับ Year 8 และ Year 9 มาแล้ว ตามลำดับ เมื่อเด็กขึ้นเรียน O-Level (Year 10-11) เด็กจะเลือกเรียน 8 วิชาด้วยตนเองตามความถนัด ความสนใจ และสอดคล้องกับบุคลิกภาพของตน เมื่อถึง A-Level (Year 12-13 ประมาณ ม.5 - ม.6 ) เด็กจะเรียนเพียง 3-4 วิชา ซึ่งเป็นรายวิชาที่ตนรักและมีความสุขที่ได้เรียน เด็กจะเรียนกันอย่างเข้มข้นแข็งขันเอาจริงเอาจัง โดยเนื้อหาจะเจาะจงลงลึกและอาจลึกไปถึงระดับมหาวิทยาลัย
       
       ยกตัวอย่างพอสังเขปได้ เช่น เด็กที่ต้องการเรียนหมอ เมื่อขึ้น A-level ก็จะได้เรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับและจำเป็นต่อการเป็นหมอที่มีคุณภาพ เช่น ชีววิทยา (มีให้เลือกเป็นชีววิทยาทั่วไปหรือชีววิทยาของมนุษย์) เคมี จิตวิทยา เป็นต้น นี่เป็นแบบอย่างของการศึกษาอันน่าชื่นชมยกย่อง เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลิตคนคุณภาพ มีความรู้ลึก รู้จริง เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และที่สำคัญผู้เรียนมีความสุขกับการเรียน แม้จะหนักบ้าง เครียดบ้าง แต่ก็เป็นสุขและพอใจ เพราะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถนัด และสนใจ เรื่องดีๆ แบบนี้ ทำไมผู้มีอำนาจบริหารการศึกษาบ้านเราถึงคิดไม่ได้
       
       ฤๅเราปล่อยสัตว์เข้ากระทรวง?
       
       มากไปกว่านั้น บ้านเรานำการทดสอบวัดแววความถนัดมาใช้กันแบบเปลือกๆ ด้วยการจัดสอบเก็บเงินเด็ก หวังผลกำไรจนกลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากนักเรียน แบบทดสอบก็เป็นเพียง multiple choices และสอบเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง (ตรงข้ามกับประเทศอังกฤษซึ่งทดสอบกันต่อเนื่องหลายเดือน และละเอียดถี่ถ้วนถึงสองปี) ผลลัพธ์ที่ได้จึงขาดความคงเส้นคงวา ได้ข้อมูลเพียงมิติเดียว ซึ่งบอกอะไรไม่ได้มากนัก ผลกรรมจึงตกไปอยู่ที่เด็ก ถือเป็น “การหลอกลวง” ที่ยากจะให้อภัย เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้เด็กรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้แล้ว ยังเป็นการหลอกตัวเอง หลอกให้คิดว่า รู้จักตัวเองดีแล้ว
       
       การได้เกิดมาเป็นเด็กนักเรียนไทยนั้นมาพร้อมกับโชคชะตาอันอาภัพสุดประเมินเกินประมาณที่เด็กทุกคนต้องเผชิญอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างอันประจักษ์ชัดอันหนึ่งก็คือ ชะตากรรมของเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวคือ แม้ว่าจะเรียนชั้น ม.ปลาย ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว ก็ยังต้องทนเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ชอบ ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ตนเองไม่ถนัด ไม่ชอบเหล่านั้น ได้กลายมาเป็นอุปสรรคขวากหนามทางการเรียนรู้ของเด็ก เพราะมันได้แย่ง และเบียดบังเวลาของนักเรียนจากการอุทิศตนและทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตนเองชอบ ตนเองถนัดและมีความสุขกับมัน
       
       ลักษณะเช่นนี้เป็นการลดทอนศักยภาพในตัวเด็ก นักเรียนที่มีแววเป็นอัจฉริยะด้านฟิสิกส์ อาจกลายเป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง เพราะไม่อาจทุ่มเทเวลาให้กับฟิสิกส์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องมาเสียเวลาไปกับการเรียนสังคม เรียนศิลปะ นี่จึงถือเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม เป็นทำลายทรัพยากรอันทรงคุณค่าของชาติ และทำลายชาติในที่สุด
       
       Bertrand Russell นักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดตลอดกาล เคยกล่าวไว้ว่า “Men are born ignorant, not stupid. They are made stupid by education.” เด็กเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่จะเรียนรู้และเติบโตเป็นคนดี เก่ง และมีความสุข แต่การศึกษาที่มืดบอดได้ค่อยๆ ทำลายศักยภาพเหล่านั้น เด็กกำลังตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว เหยื่อที่มีเดิมพันเป็นชีวิต ชีวิตที่ถูกทำร้ายและทำลายจากสิ่งที่ควรจะสร้างสรรค์ชีวิตเด็ก นั่นคือ การศึกษา
       
       หากการศึกษาประเทศอังกฤษฝึกปลาว่ายน้ำให้เก่ง ฝึกนกบินให้ชำนาญ และฝึกลิงปีนต้นไม้ให้คล่อง การศึกษาบ้านเราก็กำลังจับปลามาหัดบิน ลิงมาหัดว่ายน้ำ และนกมาหัดปีนต้นไม้!
       
       สมัยเป็นนิสิตฝึกสอน ผมเห็นลูกศิษย์ ม.ปลาย หลายคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเครียดและวิตกกังวล ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าชอบอะไร แต่เป็นเพราะต้องทนเรียนสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ ตกเย็น และเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องไปเรียนกวดวิชา เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีความเชื่อฝังหัวว่า โรงเรียนไม่สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ได้ตามที่นักเรียนต้องการ จึงหวังได้ความรู้จากการไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชาแทน จะว่าไปแล้ว บุตรหลานของเราๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับกรรมกรทางการศึกษาที่ต้อง “แบก” รับวิชาความรู้ที่ถูกยัดเยียดมาให้อย่างหนักหน่วงเพื่อเอาไปสอบทำคะแนน

คงไม่มีใครอยากให้ลูกหลานของเราเป็น “กรรมกร” ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ 
       
       แต่จะทำอย่างไรได้ครับ? ชะตากรรมอันน่าเวทนาของเด็กไทยผู้ไร้เดียงสา ใครควรออกมารับผิดชอบ?
       
       ก่อนจะจบบทความนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษก็คือ การศึกษาของเขามุ่งเน้นการปลูกฝังนักเรียนให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) การเรียนการสอนของเขาจะมีการจัด Debate อยู่เป็นประจำเพื่อให้นักเรียนได้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ โดยจัดให้นักเรียนได้มีการนำเสนอ วิเคราะห์ และวิจารณ์ประเด็นที่สนใจในลักษณะของการสนทนากึ่งการโต้วาที การจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ ทำให้เด็กรู้จักคิดอยู่บนหลักของเหตุและผล รู้จักหาหลักฐาน ข้อเท็จจริงมาสนับสนุนความคิดของตนและหักล้างข้อเสนอของผู้อื่น รวมทั้งยังเป็นการสอนให้รู้จักฟังผู้อื่น ยอมรับ และเคารพความแตกต่างทางความคิดของกันและกันอีกด้วย ลักษณะเช่นนี้หาพบได้ยากมากในการเรียนการสอนบ้านเรา เด็กมัธยมฯบ้านเราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ตัดสินใจบนความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง มิพักเอ่ยถึง การถาม-ตอบเชิงคิดวิเคราะห์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กไม่ชอบ “คิด” แต่ชอบ “จำ” เพื่อไปตอบข้อสอบลูกเดียว สอบเสร็จก็ลืม เลิก ล้างไปกันหมด!
       
       การ Debate ถือเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นอันขาดเสียมิได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะการ Debate เป็นการเตรียมพร้อมฝีกทักษะและปลูกฝังทัศนคติสู่การเป็นประชาชนที่ดีในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนที่ยอมรับเสียงข้างมากอย่างไม่ถือโทษโกรธแค้นฝ่ายตรงข้าม ประชาชนที่เห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว นักการเมืองในประเทศอังกฤษที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกันในรัฐสภา พอเดินออกจากรัฐสภาก็ไปดื่มชากันฉันท์เพื่อนไร้ซึ่งความบาดหมางใดๆ ทั้งสิ้น มันช่างเป็นภาพที่น่ารัก น่าเคารพ และน่านับถือ
       
       สภาพของการศึกษาในประเทศจึงมีส่วนกำหนดวิวัตนาการของประชาธิปไตย
       
       เพราะประชาธิปไตยถือเสียงคนข้างมาก และเพราะการศึกษาคือเครื่องมือแห่งการสร้างคน การศึกษาเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยก็เป็นแบบนั้น การศึกษาสร้างคนส่วนใหญ่มาเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยก็เป็นไปในลักษณะของคนส่วนใหญ่นั้น
       
       ประชาธิปไตย? เราพร้อมแล้วหรือ?
       
       สุดท้ายนี้ จุดมุ่งหมายของบทความทั้งสองตอนนี้ต้องการเชิญชวนให้เราลองทบทวนการศึกษาของเราเองอย่างจริงจัง พิจารณาอย่างพินิจใคร่ครวญดูว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่? ลองถามตัวเราเองดูว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังกับการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างชนิดถอนรากถอนโคน อย่างไรก็ตาม การยกย่อง สรรเสริญ เชิดชูการศึกษาของประเทศอังกฤษ และนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาไทยดังปรากฏในบทความ มิได้หมายความว่า การศึกษาของเขาจะดีเลิศไร้ข้อบกพร่องไปเสียทีเดียว และไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องตามเขาหรือต้องเอาอย่างเขาทุกอย่าง เพียงแต่ให้เรารู้จักเลือกและรู้จักใช้อย่างเข้าใจ อย่างถึงแก่นแท้ ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการนำวิทยาการหรือความรู้ของฝรั่งมาใช้ว่า “การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว”
       
       สำหรับบทความในตอนหน้า (ถ้ายังมีชีวิตอยู่และยังมีโอกาสได้เขียน) ผมยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไร นึกออกแล้วจะเขียน เมื่อเขียนแล้วท่านก็จะได้อ่านครับ!

 

 

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2556  

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
♦ การศึกษาไทยลง "เหว" เพราะหลักสูตร "เลว" รังแกเด็ก ตอนที่ 1 : กว่าจะรู้จัก(ตัวตน)ก็สายเสียแล้ว!
http://www.kroobannok.com/60269


การศึกษาไทยลง “เหว” เพราะหลักสูตร “เ(ห)ลว” รังแกเด็ก ตอนที่ 2 : นักเรียน หรือ กรรมกร?การศึกษาไทยลง“เหว”เพราะหลักสูตร“เ(ห)ลว”รังแกเด็กตอนที่2:นักเรียนหรือกรรมกร?

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

:: เรื่องปักหมุด ::

ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 2416 เรื่อง การจัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งนักการภารโรง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม)

ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 2416 เรื่อง การจัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งนักการภารโรง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม)

เปิดอ่าน 10,028 ☕ 11 เม.ย. 2567

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567)
ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567)
เปิดอ่าน 1,402 ☕ 24 เม.ย. 2567

คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด
เปิดอ่าน 375 ☕ 24 เม.ย. 2567

เล็งจัดงบฯ อาหารเช้าให้นักเรียน
เล็งจัดงบฯ อาหารเช้าให้นักเรียน
เปิดอ่าน 397 ☕ 24 เม.ย. 2567

มาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567
มาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567
เปิดอ่าน 6,138 ☕ 23 เม.ย. 2567

การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด สพฐ. (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ. 2567
การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด สพฐ. (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ. 2567
เปิดอ่าน 5,254 ☕ 23 เม.ย. 2567

กฏ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2567
กฏ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2567
เปิดอ่าน 437 ☕ 23 เม.ย. 2567

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

การนำ e - Learning ไปใช้ประกอบกับการเรียนการสอน
การนำ e - Learning ไปใช้ประกอบกับการเรียนการสอน
เปิดอ่าน 29,836 ครั้ง

ข่าวดีของคนอ้วน รูปร่างอวบตอนหลังกลับยืดอายุให้ยืน
ข่าวดีของคนอ้วน รูปร่างอวบตอนหลังกลับยืดอายุให้ยืน
เปิดอ่าน 16,056 ครั้ง

เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562
เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562
เปิดอ่าน 10,792 ครั้ง

งูพิษกัด
งูพิษกัด
เปิดอ่าน 27,160 ครั้ง

ลอการิทมิกธรรมชาติ
ลอการิทมิกธรรมชาติ
เปิดอ่าน 26,961 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ