"อ๋อย" รื้อระบบประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ของครู เพิ่มสัดส่วนคะแนนโอเน็ตเป็น 50% จากปัจจุบันใช้แค่ 20% เบื้องต้นสั่ง สพฐ.-ก.ค.ศ.ไปคิดหลักเกณฑ์ใหม่ พร้อมให้โยงผลโอเน็ตต่อการพิจารณาโยกย้ายครูด้วย เล็งทำข้อตกลง ผอ.เขตพื้นที่ฯ ต้องสนใจยกผลฤทธิ์นักเรียนในพื้นที่
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 3 เรื่อง ได้แก่
1.การปรับเปลี่ยน ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ (ว5) ใหม่ เพื่อให้การประเมินวิทยฐานะมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนให้มากขึ้น โดยจะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปคิดหลักเกณฑ์และวิธีการในส่วนนี้และจะต้องหาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยกันคิด เพื่อให้ค่าน้ำหนักในหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะประเมินวิทยฐานะ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางวิชาชีพครูเพียงอย่างเดียว
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า
2.มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปพิจารณาเพื่อให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายหรือให้ความดีความชอบของครู โดยจะต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนและผู้เรียนมากขึ้น อย่างหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะของ ก.ค.ศ.ควรมีข้อตกลงกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ให้ความสนใจพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนของโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาให้ดีขึ้น และที่สำคัญต้องไม่ทอดทิ้งให้โรงเรียนจำนวนมากมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ในภาพรวมของการประเมินวิทยฐานะทั้งหมดจะต้องมีการปรับ ซึ่งในส่วนของสัดส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่จะนำมาใช้จะต้องมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นควรจะต้องเพิ่มเป็นอย่างน้อยประมาณ 50% จากปัจจุบันที่มีการใช้สัดส่วนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมาประเมินวิทยฐานะประมาณ 10-20% เท่านั้น ทั้งนี้ หากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากคะแนนผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) สูงขึ้น ผลสัมฤทธิ์ของครูก็ต้องย่อมดีขึ้นเช่นกัน ฉะนั้นต้องทำให้ทั้งระบบให้ความสนใจและเข้าใจกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งหากทุกส่วนเข้าใจแล้วจะทำให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และ
3.ได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปเตรียมวางแผนรองรับกรณีที่จะมีข้าราชการครูที่จะเกษียณอายุราชการจำนวนมากในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ประสบภาวะขาดแคลนครูจำนวนมากในภาพรวมและรายสาขาวิชาเอก อีกทั้งสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและไม่นานนี้ น่าจะมีภาวะที่นักเรียนลดน้อยลงอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องไปวิเคราะห์และหาข้อมูลวางแผนการจัดสรรบุคลากรรองรับ.
ที่มา ไทยโพสต์