1. เร่งปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิรูปให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอน ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ การพัฒนาครู และการพัฒนาระบบการทดสอบ การวัดและประเมินผลที่ได้มาตรฐานและเชื่อมโยงกับหลักสูตรและการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียน
การที่ใช้คำว่า "ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน" ก็คือ เรื่องปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน ต้องมีการทดสอบประเมินผล ซึ่งการทดสอบประเมินผลต้องคำนึงถึงหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ไม่ใช่เป็นการทดสอบที่ไม่สัมพันธ์กันหรือไม่คำนึงถึงการเรียนการสอน นอกจากนี้ การทดสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ ซึ่งโยงไปถึงระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ หากจัดการทดสอบเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้คนในวงการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาของตนเอง เนื่องจากผู้เกี่ยวข้อง คือ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง เห็นความสำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าการเรียนในระบบ ความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาจึงไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญ
ส่วนการประเมินวิทยฐานะความก้าวหน้า ก็ควรจะต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอน การประเมินสถานศึกษา มีผู้กล่าวว่าควรให้เด็กคิดเป็นวิเคราะห์เป็น แต่ในบางครั้งก็ยังไม่ได้หารือร่วมกันว่าการเรียนการสอนและหลักสูตรเป็นอย่างไร จึงต้องใช้หลักสูตรเป็นแกนหลักเพื่อมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และมีผลต่อการพัฒนาครู ประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครูด้วย
ดังนั้นใน 6 เรื่อง คือ ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอน การทดสอบ/วัดและประเมินผลผู้เรียน การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย การประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู และการประเมินสถานศึกษา ต้องเชื่อมโยงไปที่คุณภาพผู้เรียนและผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายทั้งหมด
การที่จะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ทั้งระบบ ต้องมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
- ต้องเร่งรัดและสานต่อเรื่องปฏิรูปหลักสูตรให้ก้าวหน้าและให้แล้วเสร็จ โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมทุกระดับชั้นการศึกษา
- พัฒนากระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบันและเพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น สอดคล้องกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ โดยจะเริ่มจากวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และการคิดวิเคราะห์
- พัฒนาระบบทดสอบ วัดและประเมินผลทั้งภายในและภายนอก ให้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีมาตรฐานเทียบเคียงได้กับนานาชาติ โดยเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระในหลักสูตรกับการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลให้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. ปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู
ให้มีจำนวนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการ มีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรปัจจุบัน รองรับหลักสูตรใหม่ และการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ รวมทั้งพัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะครูให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ดูแลระบบสวัสดิการ และลดปัญหาที่บั่นทอนขวัญ กำลังใจของครู ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนและคุณภาพผู้เรียน
3. เร่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้
สร้างมาตรฐานการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) และพัฒนาเนื้อหาสาระ พัฒนาครู และการวัดประเมินผลที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมไทย
ทั้งนี้ แท็บเล็ตเป็นเรื่องสำคัญหนึ่งในนโยบายการศึกษาของรัฐบาล ที่ผ่านมาเรามักจะเน้นเฉพาะการจัดให้เด็กได้มีแท็บเล็ต ซึ่งเป็นรายละเอียดว่าเด็กจะได้เมื่อไร จำนวนเท่าไร คืบหน้าไปแล้วอย่างไร หรือมีเนื้อหากี่รายกี่ชิ้น แต่เรื่องใหญ่กว่าที่จะต้องเร่งพัฒนา คือ "เนื้อหาสาระ" เพื่อจะให้มีทั้งเนื้อหาที่ควรรู้ รูปแบบของแบบทดสอบ แบบฝึกหัด เทคนิค นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ให้เด็กใช้กับแท็บเล็ต เพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ได้ผลจริง เด็กได้รับผลที่ดีในการใช้งานดีกว่าไม่ใช้แท็บเล็ต ที่ต้องโยงไปกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ที่มีข้อมูลข่าวสารไม่จำกัด ซึ่งหมายถึงจะต้องมีการพัฒนาครู เพื่อให้เข้าใจการสอนที่มีเนื้อหาสาระแบบนี้ เพราะในโลกยุคใหม่ เราไม่สามารถสอนแบบเดิม เช่น ให้เด็กค้นหาว่าคำนี้แปลว่าอะไร เด็กก็ไปค้นหาในเวลาไม่นาน ก็สามารถตอบได้ แต่จะทำอย่างไรให้การสอนที่ส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักค้นหา คิด วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และสามารถตั้งคำถามได้เอง ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาที่บรรจุลงในแท็บเล็ตจะต้องมีมาตรฐานที่ผู้เชี่ยวชาญบอกได้ว่า เนื้อหาสาระใดจะช่วยสร้างเด็กได้จริง เป็นประโยชน์จริง ไม่ใช่ใครคิดหรือประดิษฐ์แบบเรียน แบบฝึกหัด เนื้อหาสาระอะไรขึ้นมาได้ ก็บรรจุลงไปในแท็บเล็ต ซึ่งตรงนี้ยังขาดอยู่ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการต่อไป
4. พัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบได้กับระดับสากล ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
โดยผลักดันให้เกิดการใช้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพต ามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาใช้กำหนดทักษะความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ผู้มีงานทำ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า โดยได้รับค่าตอบแทนตามสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ขึ้นกับวุฒิการศึกษาทั้งแบบอนุปริญญาหรือปริญญา
ความหมายคือ อาชีพนี้ ระดับนี้ มีความสามารถทางสมรรถนะมากเพียงใด อันจะช่วยทำให้สถานประกอบการหรือกิจการต่างๆ เพิ่มผลผลิตได้มากน้อยเพียงใด และจะแปรกลับมาเป็นรายได้ค่าตอบแทน ทั้งนี้คุณวุฒิวิชาชีพบางประเภท ผู้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพประเภทนี้ไม่จบปริญญาตรี แต่อาจจะมีรายได้หรือเงินเดือนสูงกว่าผู้จบปริญญาตรีก็ได้ ส่งผลถึงเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพและรายได้ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเป็น 50:50 และทำให้คนต้องการเข้ามาเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะเป็นความก้าวหน้ามีรายได้สูง มีสมรรถนะ ทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษาด้วย
5. ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน มากกว่าการขยายเชิงปริมาณ
ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยให้มีการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาของไทย เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ให้มากขึ้น
รมว.ศธ.กล่าวว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของไทยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนความเห็น หาองค์ความรู้มากพอสมควร เพื่อให้เห็นพ้องต้องกัน เพราะมหาวิทยาลัยของไทยที่ติดอันดับในกลุ่ม 351-400 มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนมหาวิทยาลัยที่เหลือจะมีคุณภาพอย่างไร คำตอบคือไม่ค่อยมีใครทราบมากนัก ซึ่งคำถามคือเราจะพัฒนาการอุดมศึกษาอย่างไร หากใช้ความคิดว่าทำอะไรได้ดีที่สุดก็ทำกันไป แต่การที่จะรู้ว่ามหาวิทยาลัยใดสอนเป็นอย่างไร แนวทางหนึ่งคือเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แต่อีกแนวทางหนึ่งคือควรให้เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง โดยใช้กติกาหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นสากล เพื่อให้คนในวงการศึกษาได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอย่างไร และมหาวิทยาลัยก็จะทราบว่าตัวเองเป็นอย่างไร ประการสำคัญคือทั้งสังคมก็จะได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอย่างไรด้วย ไม่ใช่เกิดความรู้สึกว่าหากมาจากมหาวิทยาลัยนี้ ก็รู้สึกจะเข้าท่าดี แต่มาจากอีกมหาวิทยาลัยก็รู้สึกจะไม่ค่อยเก่งด้านนั้น อันนี้ถือเป็นความรู้สึกและประสบการณ์ตรงเท่านั้น ไม่ได้อาศัยการวิเคราะห์และการประเมินที่เป็นระบบ
ดังนั้น สาระสำคัญของนโยบายนี้ คือ ต้องการให้มีกระจก เพื่อให้มหาวิทยาลัยส่องตัวเอง และต้องการให้สังคมช่วยกันผลักดัน เพราะมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่ต้องให้ความเป็นอิสระ ให้มหาวิทยาลัยคิดเอง ไม่ใช่เป็นการสั่งการจากรัฐมนตรี ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องคิดกลไกว่าจะผลักดันให้มหาวิทยาลัยพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างไร ความหมายในแง่นี้คือ สังคมกับมหาวิทยาลัยไม่เป็นอิสระจากกัน
6. ส่งเสริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น
สนับสนุนความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษารัฐและเอกชน (Public Private Partnership) ตลอดจนเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร เป็นวิทยากร สนับสนุนการฝึกงานและเรียนรู้การทำงานจริงในสถานที่ทำงาน โดยในส่วนของการอาชีวศึกษานั้น การที่ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาแบบทวิภาคี ก็ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องร่วมจัดการศึกษาตลอดกระบวนการ คือต้องการหลักสูตรหรือกระบวนการแบบใด ต้องมากำหนดหลักสูตรร่วมกัน โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมและอาศัยภาคเอกชนให้มามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น โดยรัฐควรมีหน้าที่ในการกำกับควบคุมเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรมุ่งกำกับควบคุมหรือห้ามเอกชน
7. เพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุได้รับบริการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส และการพัฒนากองทุนเงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (ICL) ให้สามารถเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาสและผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวคิดของกองทุน ICL ตามที่ได้ก่อตั้งหรือริเริ่มขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สนใจที่เคยดำเนินการ เข้ามาช่วยดำเนินการอย่างจริงจัง
8. พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วยการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาและสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม อัตลักษณ์ และความต้องการประชาชนในท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย การสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา
|