พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นกฎหมายแม่บทด้านการศึกษาฉบับแรกของประเทศไทย มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดสิทธิและเสรีภาพ ที่สนองต่อรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งมีการกำหนดกรอบทิศทางการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาในยุคปัจจุบัน กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี โดยการขยายการศึกษาภาคบังคับจาก ๖ ปี เป็น ๙ ปี ตามมาตรา ๑๐ ที่บัญญัติไว้ว่า "การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษา ขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า ๑๒ ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บ ค่าใช้จ่าย"
เพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ ขึ้น ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตอำนวจหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการให้ชัดเจน มิให้เกิด การปฏิบัติงานซึ่งซ้อนทับกันระหว่าง ส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการพร้อมทั้งเป็นการจัดระบบบริหารราชการในระดับต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการให้มีเอกภาพ สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
จากการที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ มีการบังคับใช้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การควบรวมหน่วยงานสำคัญ ๑๔ กรม กลายมาเป็น ๕ องค์กรหลัก ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงถือเอาวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เป็นวันสถาปนา สพฐ.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็น ๑ ใน ๕ องค์กรหลัก เกิดจากการควบรวมหน่วยงานระดับกรม ๓ กรม ได้แก่ กรมวิชาการ (วก.) กรมสามัญศึกษา (สศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เข้าไว้ด้วยกัน มีพันธกิจในการพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐานให้ประชากรวัยเรียนทุกคน ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีความสามารถตามมาตรฐานการศึกษาและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพระดับสากล
สพฐ.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ แบ่งการบริหารราชการในส่วนกลางระดับสำนักและเทียบเท่าสำนัก ๑๙ สำนัก และ ส่วนภูมิภาคครอบคลุม ๗๗ จังหวัด ทั่วประเทศ ได้แก่สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) จำนวน ๑๘๓ เขตพื้นที่การศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ๔๒ เขตพื้นที่การศึกษา มีสถานศึกษาในสังกัดที่รับผิดชอบ ๓๑,๑๑๖ แห่ง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ๔๒๒,๕๑๘ คน
ซึ่งทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพลังสำคัญในการวางแผน กำหนดนโยบาย วางยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติที่เป็น รูปธรรมเพื่อจัดการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนไทยกว่าเจ็ดล้านสามแสนคน
นับแต่เริ่มก่อตั้ง สพฐ.จวบจนปัจจุบันมีผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กพฐ. ตามลำดับ ดังนี้
๑. นายไพฑูรย์ จัยสิน ดำรงตำแหน่งระหว่าง กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๖
๒. ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยาดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๖ - ๒๕๔๗
๓. ดร.พรนิภา ลิมปพยอม ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๙
๔. ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยาดำรงตำแหน่ง ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๙ - ๒๕๕๒
๕. ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๒ - ปัจจุบัน
๑ ทศวรรษ สพฐ.
ในโอกาสการสถาปนาครบรอบ ๑ ทศวรรษ สพฐ. จึงจัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ระหว่างวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ โดยการเชื่อมโยง บูรณาการงานประชุมสัมมนาทางวิชาการของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด สพฐ.ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตลอดช่วงเวลาดังกล่าว มีการระดมความคิดของทุกภาคส่วนของสังคม ในการปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในการสร้างฐานรากของสังคมอนาคต และกำหนดประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในทศวรรษต่อไปเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์
อีกทั้งยังได้เชิญผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูง บุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครู แขกผู้มีเกียรติ และ คณะทำงานจำนวนประมาณ ๗,๕๐๒ คน เข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ ๑ทศวรรษ สพฐ. ระหว่างวันที่ ๘-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น วิภาวดีรังสิตหลักสี่กรุงเทพมหานคร
ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ จะมีการถ่ายทอดสด พิธีเปิดตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๕ - ๑๑.๐๐ น. โดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะกล่าวรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษ จากรัฐมนตรี ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBTจากนั้น ศ.นพ.วิจารณ์พานิช จะบรรยายพิเศษในหัวข้อ "มองไปข้างหน้า: การศึกษาขั้นพื้นฐานในทศวรรษที่ ๒"
ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการเสวนา "มองอดีตเพื่อกำหนดอนาคต" โดยจัดกิจกรรม ออกเป็น ๒ กลุ่มผู้ฟัง ได้แก่ ห้องที่ ๑ หัวข้อ"ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ซึ่งจะเป็นการเสวนา วิพากษ์ การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อกำหนดอนาคต และการมองในเชิงสารสนเทศผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมา และผลกระทบรวมทั้งแนวทางสำคัญของการบริหารจัดการงบประมาณ บุคลากร ฯลฯ สำหรับมุมมองของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในอนาคตวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ และ รศ.ดร.สุธรรม วาณิชเสนี
ห้องที่ ๒ "การให้วัคซีนกับ Generation Z" หรือ วัคซีนที่จำเป็นสำหรับ Gen Z ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เกิดในช่วงกลางทศวรรษ ที่ ๑๙๙๐s จนถึงปัจุบัน โดยการมองในเชิงกระบวนการเรียนรู้ เกี่ยวกับเด็กและการดูแลเด็ก การดูแลช่วยเหลือนักเรียน การป้องกัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กรุ่นใหม่ เติมในด้านจิตใจและความคิด นำมาสู่กระบวน การพัฒนาครูและการนิเทศ สำหรับกลุ่มผู้ฟัง คือผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล การจัดการศึกษา โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ และ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เป็นวิทยากรร่วมเสวนาภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพใน การพัฒนา สู่ความสามารถของเด็กไทย ภายใต้การจัดการศึกษาที่เป็นรูปธรรมของ สพฐ.ในรอบ ๑ ทศวรรษ แบ่งเป็น ๕ โซน ได้แก่
โซน ๑ : "ก้าวย่าง...บนเส้นทางการพัฒนา"ที่ผู้ชมจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการ รวมถึงการบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ของ สพฐ.ซึ่งจะนำเสนอในลักษณะTime Line
โซนที่ ๒ : "ก้าวกล้า...พัฒนาคน" ที่จะแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการศึกษาที่เน้นทางด้านโอกาส ในการ เตรียมความพร้อมและความรู้ให้กับเด็กปกติที่ได้รับ การพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และเด็กด้อยโอกาส ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง
โซน ๓ : "ก้าวล้ำ...ผู้นำวิชาการ"เป็นการแสดงความหลากหลายในการพัฒนาครูและนักเรียน โดยเฉพาะการพัฒนาครู อาทิ บันได ๕ ขั้น การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน Independent Study รวมถึงความพยายามในการปฏิรูปหลักสูตร เพื่อให้เกิดความพร้อม และการนิเทศเต็มพิกัด พร้อมทั้งการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพเด็ก ทั้งเด็กพิการ และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
โซน ๔ : "ก้าวมั่น...ด้วยประกันคุณภาพ" นำเสนอการบริหารจัดการโรงเรียนในหลายรูปแบบ อาทิ โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดี ประจำตำบล โรงเรียนดีศรีตำบล โรงเรียนมาตรฐานสากล ฯลฯ ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ในด้านความพร้อมด้านทรัพยากร รวมไปถึงการประเมินผลและการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนเหล่านั้น และโซน ๕ : "ก้าวไกล...สู่ศตวรรษใหม่ ICT"ที่จะแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน เช่น การถ่ายทอดสดโรงเรียนทางไกล ไกลกังวล การจัด OBECChannel ที่มีการบรรจุกิจกรรมหลากหลายไว้ในช่องรายการ รวมถึงการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ Tablet เป็นสื่อในการเรียนการสอนนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นต้นมาจวบจนวันนี้ ครบหนึ่งทศวรรษที่ สพฐ.ไม่เคยหยุดนิ่ง มุ่งนำนวัตกรรมทาง การศึกษา มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและทันสมัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์และ การสร้างคุณลักษณะที่ดี เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเพื่อ นำไปสู่เป้าหมายให้เด็กไทยเติบโตและพัฒนาอย่างมีศักยภาพและมีคุณภาพ
หนึ่งทศวรรษแห่งความมุ่งมั่น สพฐ.พร้อมรับความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างขุมพลังการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา ขับเคลื่อน และพัฒนาคุณภาพเด็กไทย ให้เป็น "ฐานพลังการศึกษาของ ปวงชน"..
"ขอแสดงความยินดีในโอกาสที่ สพฐ.ดำเนินงานมาครบ ๑ ทศวรรษ ขอให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติสืบไป"
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน