ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การกำหนดนโยบาย ศธ.


ข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ 5 ก.ค. 2556 เวลา 09:29 น. เปิดอ่าน : 10,270 ครั้ง
Advertisement

การกำหนดนโยบาย ศธ.

Advertisement

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่หนังสือพิมพ์มติชน ในประเด็นการกำหนดนโยบายการศึกษา และจุดเน้นการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 หน้า 22

"ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี" เห็นว่าบทสัมภาษณ์พิเศษดังกล่าวของนายสุพัด ทีปะลา สื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์มติชน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจ เพื่อจะได้รับทราบความคิดเห็นและแนวทางการทำงานของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง และขอขอบคุณสื่อมวลชนดังกล่าวไว้ ณ ที่นี้

• หายไปจากวงการศึกษา 7 ปี จะต้องทำการบ้านอย่างไรบ้าง
การบ้านคงต้องทำ เพราะผมว่างเว้นจากการเป็นรัฐมนตรีมานาน และทำงานกับเรื่องอื่น ทั้งการเมือง การผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเป็นหลัก ช่วยงานพรรคการเมืองด้วย ในช่วงหลังไม่ได้คิดเตรียมตัวเตรียมใจจะเป็นรัฐมนตรี คิดว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอีกตั้ง 2 ปีค่อยไปว่ากัน เป็นหรือไม่เป็นค่อยว่ากัน แล้วปุบปับก็รู้ล่วงหน้า 2 วันตอนที่ท่านนายกรัฐมนตรีแจ้ง หลังจากนั้น 3-4 วันก็โปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ฯ รุ่งขึ้นก็เข้ากระทรวงเลย

ถึงแม้ว่าจะมีทุนเดิมคือเคยเป็นมา หรือสนใจอยู่บ้าง ก็ยังต้องการทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันอยู่มากพอสมควร เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นเอาแต่ความคิดตัวเองที่คิดได้เข้ามา มาบอกให้ทุกคนทำตามคงไม่ถูก โชคดีที่ผมได้มีโอกาสร่วมร่างนโยบายด้านการศึกษา ความจริงก็ร่วมร่างนโยบายในหลายด้าน แต่ด้านการศึกษาร่วมร่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย ต่อมาก็มาช่วยร่วมร่างเป็นนโยบายรัฐบาล ก็จะเข้าใจสาระของนโยบาย ที่นี้พอนโยบายเหล่านั้นเมื่อมีการนำมาใช้แล้ว เรื่องต่างๆ อยู่ในสภาพอย่างไร คืบหน้าไปถึงไหน มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ และก็ยังต้องคิดค้นว่า เรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะเน้น ควรจะทำก่อนคือเรื่องอะไร เพื่อจะกำหนดเป็นนโยบายจากนี้ไป โดยให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและมีลักษณะสานต่อเรื่องเดิม กับทำในเรื่องที่ยังขาด หรือเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะเน้นเป็นพิเศษคืออะไร อยู่ระหว่างการที่จะพยายามสังเคราะห์โดยเริ่มจากการรับฟังมากๆ ก่อน ในเวลาสั้นคงให้แนวทางหรือนโยบายคร่าวๆ ไปก่อนได้



• ย้อนไป 6-7 ปีที่แล้วเทียบกับปัจจุบัน มองบริบทของการศึกษาแตกต่างหรือเปลี่ยนไปหรือไม่ ต้องปรับกระบวนการทำงานหรือไม่
หลายเรื่องเป็นเรื่องต่อเนื่อง สำคัญว่าพัฒนาการเป็นไปอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ถูกทิศทางหรือไม่ แล้วก็สภาพการณ์ของประเทศ หรือสภาพการณ์ของโลกภายนอกก็เปลี่ยนไปมาก การศึกษาได้พัฒนาหรือมีแนวโน้มจะพัฒนาที่จะเอื้ออำนวยหรือรองรับการที่ประเทศจะต้องพัฒนาให้สามารถจะอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องมีทั้งความร่วมมือและแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่

ทั้งนี้ นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลได้คิดเรื่องเหล่านี้มาแล้ว จำได้ว่าเมื่อคิดนโยบาย รัฐบาลก็ได้คิดเรื่องเหล่านี้กันมา แต่ตอนนำมาประยุกต์เข้ากับการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการหรือการทำงานด้านการศึกษา ได้ประยุกต์กันไปมากน้อยแค่ไหน นำไปใช้แค่ไหนและใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน กับอีกอย่างก็คือความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องต่างๆ มิติต่างๆ ของการศึกษา ในส่วนนี้จะไม่อยู่ในนโยบาย เป็นเรื่องกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องมาคิด

แล้วก็มีเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องคิด ที่ผมใช้คำว่า “ยกเครื่อง” ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ทำมาแล้วไม่ดีพอ รมว.ศธ.ท่านก่อนๆ โดยเฉพาะนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ดูจากนโยบายที่ประกาศไว้ก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล หลายเรื่องควรจะต้องส่งเสริมผลักดันต่อไป แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่ามีจุดสำคัญๆ ที่ต้องมาเน้น มาเพิ่ม แล้วก็มาจัดลำดับความสำคัญ มาเลือกเรื่องที่จะทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นมากๆ เพื่อให้ทั้งระบบขับเคลื่อนได้เร็ว คือประเทศเรากำลังต้องการการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนา ในเรื่องการศึกษา ปฏิรูปการศึกษา ในเรื่องการพัฒนาคนค่อนข้างมาก การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) กำลังจะเกิด เอเชียกำลังเป็นทวีปที่มีศักยภาพ โลกกำลังมีเรื่องวิกฤตมีการเปลี่ยนแปลงของความมีศักยภาพ ไม่มีศักยภาพ ความพยายามเติบโตขึ้นใหม่ การทรุดตัวลงของบางประเทศ ก็มีผลที่ประเทศเราต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้เสียโอกาส ไม่ให้ตกขบวน ส่วนสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคน ก็คือ การศึกษา

 



• นโยบายเร่งด่วนเรื่อง การปฏิรูปการเรียนรู้
“ปฏิรูปการเรียนรู้” บางทีผมก็ชอบใช้คำว่า “ปฏิรูปการเรียนการสอน” ความหมายเดียวกัน บางทีก็ต้องพูดครอบคลุมเพราะเกี่ยวกับการสอนหรือบทบาทของครูอยู่ด้วย ถึงได้มีคำว่าการสอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยทำและขาดช่วงไป แต่ก็ไม่เชิงที่จะเป็นเรื่องเอาของเก่ามาเล่าใหม่ บริบทเปลี่ยนไป มีความสำคัญเพราะว่าเราเคยทำหลักสูตรแล้วมีปัญหาความเข้าใจเรื่องหลักสูตร การทำหลักสูตรเป็นอย่างไร จะเอาไปใช้อย่างไร ซึ่งมีปัญหากันอยู่นาน ในระหว่างนั้นก็มีปัญหาควบคู่กันคือ การเรียนการสอนที่จะให้มีประสิทธิภาพให้ได้ผล ก็มีความรู้ มีองค์ความรู้ มีเทคนิค เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้ง Concept ใหม่ๆ ทางด้านการเรียนการสอนหรือเกี่ยวกับการเรียนรู้เกิดขึ้น เราก็ควรจะทำเรื่องนี้จริงจัง

พอขาดช่วงไป ไม่ค่อยได้เน้นกัน เวลานี้ ศธ.ประกาศไปแล้วว่าจะปฏิรูปหลักสูตร บอกว่ามีผลใน 1-3 ปี แล้วค่อยให้ส่งผลกระทบไปเรื่องอื่น ผมคิดว่าอันนี้อาจจะต้องขอปรับกระบวนการ ก็คือแทนที่เราจะรอหลักสูตรมามีผลกระทบ ก็ต้องปฏิรูประบบการเรียนรู้และการเรียนการสอนเสียเลย เตรียมการทำ ลงมือทำ แล้วไปรับกับหลักสูตรใหม่ หลักสูตรใหม่ออกมาก็จะมีพื้นในการที่จะปรับการเรียนการสอนมากขึ้นไปอีก ซึ่งพอรู้โจทย์อยู่แล้ว ปฏิรูปการเรียนรู้และการเรียนการสอนจะเรียนแบบไหน จะสอนแบบไหน ในวิชาต่างๆ วิชาหลักๆ ซึ่งก็จะเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การสร้างคุณลักษณะของเด็กหรือผู้เรียนที่พึงประสงค์

แต่เรื่องใหม่ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ใหม่นัก แต่ต้องถือเป็นเรื่องใหม่ก็คือ การเรียนรู้ และการเรียนการสอนในโลกยุคอินเทอร์เน็ตแพร่หลาย มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นกว้างขวางขึ้น มีความรู้อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตมากมายมหาศาล เรากำลังกำหนดหลักสูตรว่า ให้เด็กระดับไหนเรียนอะไร ควรเรียนอะไร เรียนอย่างไร สอนอย่างไร และในยุคที่มีเด็กเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้จะเรียนอย่างไร สอนอย่างไร จะแนะนำผู้เรียนอย่างไร มันเป็นโจทย์ข้อใหญ่มาก เราจะพบปัญหาว่า ครูให้การบ้าน เด็กก็เข้า search อาจใช้ Google search หรือจะไป Yahoo หรืออะไรก็ตาม เสร็จแล้วก็ cut ออกมาแปะส่งได้เลย มันก็เป็นความรู้มาตรฐานในหลายๆ เรื่อง

ก็มีเสียงบ่นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จะได้ผลอะไร มันสะท้อนว่า วิธีให้การบ้านของครู วิธีสอนของครู บทบาทของครูในห้องเรียนต้องเปลี่ยน แทนที่จะถามว่าคำนี้คืออะไรก็ไปค้นมา ต้องเปลี่ยนเป็นหลังจากค้นหาคำนี้แล้วให้ตั้งคำถาม ให้เปรียบเทียบกับคำอื่น ให้โยงไปเรื่องอื่น ให้แสดงความเข้าใจ ให้รู้จักคิด ในความรู้ที่เยอะแยะไปหมด ครูต้องช่วยแนะนำเด็กว่าจะเรียนอะไร หาความรู้อะไร ซึ่งก็โยงกับหลักสูตร เด็กจะเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไปอย่างไรในความรู้มหาศาลที่เด็กเข้าได้ เข้าถึงได้หมด แต่เด็กเล็กๆ เด็กระดับมัธยมฯ ต้องมีทิศทางนำพาเขาว่าเราจะสร้างคนแบบไหน ความรู้อะไร ไม่ใช่ปล่อยให้ใครหาความรู้อะไรก็ได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ระบบการศึกษา อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือเรื่องใหม่ ฉะนั้นผมคิดว่าต้องเน้น คือทำหลักสูตรก็ต้องรีบทำ ทำเลย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำปฏิรูปการเรียนรู้และการเรียนการสอนโดยด่วน

• ต้องนำครูทั่วประเทศมาอบรมเป็นกระบวนการดังกล่าว
ก็โยงไปเรื่องครู เริ่มจากเรื่องหลักสูตรปัจจุบัน การเรียนการสอนสำหรับหลักสูตรปัจจุบัน การเรียนการสอนในยุคการเรียนรู้สมัยใหม่นี้ พอมีคำว่าสอนก็ไปเกี่ยวกับครู เหมือนเมื่อกี้ที่ผมพูดไป บทบาทของครูต้องเปลี่ยนไป ฉะนั้นการอบรมพัฒนาครูต้องเกิดขึ้น อบรมในเรื่องอะไร ก็คือในเรื่องเหล่านี้ ที่ต้องเปลี่ยนและต้องมีกระบวนการใหม่ ทำอย่างไร ทำให้ครูเรียนรู้ได้เร็ว โยงไปกับแท็บเล็ต มีแท็บเล็ตแต่เนื้อหาจะเป็นแบบไหน เนื้อหาที่ผลิตกันมาเพียงพอหรือเปล่า ได้มาตรฐานไหม เทียบกับต่างประเทศแล้วเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครผลิตอะไรมาก็รับมาหมด แล้วก็มีแอพพลิเคชั่นอยู่ที่ไหนก็ไปเลือกใช้เอา ถ้าอย่างนั้นก็ย้อนกลับไปที่เด็กก็ไปเข้า Google search เข้า Yahoo ค้นคว้าได้หมด แต่ก็กลับมาที่ว่าจะตรงกับหลักสูตร สอดคล้องกับหลักสูตรได้อย่างไร นั่นก็มาที่เรื่องครู

แท็บเล็ตก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญเรื่องหนึ่ง การทำเนื้อหาที่ให้ได้มาตรฐาน เนื้อหาในที่นี้นอกจากมีเนื้อหาอะไร ยังต้องมีวิธีเรียน วิธีสอนอยู่ในนั้น แบบฝึกหัด การทดสอบ ซึ่งเมื่อใช้คอมพิวเตอร์จะต่างกัน จะแสดงภาพการเลือก ภาพการใช้เทคนิคสมัยใหม่ๆ ได้หลายอย่างที่มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพแล้วการเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพกว่าการใช้หนังสือตามปกติแน่หรือเปล่า อย่างนี้ต้องมีตัวชี้วัด มีองค์ความรู้เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คุยกัน

• ทุกวันนี้ครูมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงตลอด ครูเองมีภาระการสอนเยอะ ถ้าเราเพิ่มภาระใหม่ให้เขาต้องมีแรงจูงใจในเรื่องการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยฐานะด้วยหรือไม่
ก็ต้องหาวิธีจูงใจ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า หากจะต้องเปลี่ยนอีกก็ต้องเปลี่ยน เพราะว่าโลกกำลังเปลี่ยน สังคมและประเทศกำลังต้องการการเปลี่ยน แล้วจากตัวชี้วัดต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราก็ถอยหลังลงเรื่อยๆ แล้ว ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน แรงจูงใจก็ต้องไปโยงกับการประเมินวิทยฐานะที่ต้องโยงผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งยังทำกันน้อย นี่ก็ต้องทำ ทำให้มากขึ้น หรือว่าจะมีวิธีส่งเสริมอุดหนุนการอบรมของครูให้มากขึ้นได้อย่างไร ครูคนไหนสอนดี ผลสัมฤทธิ์นักเรียนดีขึ้น ก็ต้องโยงให้สามารถเลื่อนวิทยฐานะได้ตามผลงาน ไม่ใช่ดูจากเอกสารมากจนเกินไป เช่น เกิดการประเมินโรงเรียน ประเมินนักเรียน ซึ่งก็จะโยงกับการสอบวัดผล ที่จะต้องมีมาตรฐานและต้องมีการสอบวัดผลเชื่อมโยงกับหลักสูตรและการเรียนการสอน ซึ่งเราก็ยังมีปัญหานี้มาก ต้องมาพูดจากัน

• ในส่วนของอาชีวศึกษาเน้นอะไรเป็นพิเศษ
ผมคิดว่ามีความพยายามทำในหลายเรื่องครอบคลุมในหลายเรื่อง ทิศทางก็น่าจะดี การเรียนแบบทวิภาคี การยกระดับพัฒนาคุณภาพ การแก้ปัญหาเรื่องผู้สอน การแก้ปัญหาคนนิยมเรียนอาชีวะน้อยลง ทำให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ก็เป็นทิศทางที่ถูก แต่ต้องมาประเมินว่า ระดับคุณภาพของเด็ก ความสอดคล้องกับตลาด ความต้องการของประเทศเป็นอย่างไร และกระบวนการที่เราจะผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศอยู่ในระดับไหน มีผลพอใจแค่ไหน รองรับการพัฒนาประเทศได้จริงหรือไม่ ต้องหาวิธีประเมิน ประเมินทั้งในแง่หลักสูตรการเรียนการสอน ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เรื่องการประเมินเป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่ง คล้ายกับการศึกษาขั้นพื้นฐานในเรื่องการทดสอบการประเมิน

แต่ว่ากลไกอันหนึ่งที่สร้างขึ้นแล้วเราก็ยังไม่ได้ใช้ คือ ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เจตนาต้องการให้สร้างคุณสมบัติ คุณลักษณะของเด็กที่จะผลิตเพื่อไปตอบสนองความต้องการของตลาดหรือสังคม และให้โยงกับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนหรือรายได้ ทำให้เราผลิตเด็กได้ตรงความต้องการกับให้มีอาชีพและมีรายได้ที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องจบปริญญา ในเวลานี้กลไกนี้ไม่ค่อยได้ใช้ แล้วเลยมาพูดถึงเรื่องปริญญาตรี ต่อไปจะกลายเป็นพยายามให้ได้ปริญญาตรีและจะได้เงินเดือนสูงขึ้น ก็เป็นคนละ concept กับคุณวุฒิวิชาชีพ

การร่วมมือกับเอกชน ยังเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพได้มากกว่านี้หรือไม่ รวมทั้งสเกลจะมากกว่านี้ได้ไหม การตั้งเป้าหมายให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้น ซึ่งเคยมีตั้งแต่อาชีวะ 70 พื้นฐาน 30 ซึ่งนี่มันสมัยก่อนมากแล้ว แล้วก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ก็กลายมาเป็น 50 : 50 ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็น 70 : 30 แต่กลับกันเป็นอาชีวะ 30 ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนา และถ้าต่อไปมีการพัฒนาแบบคมนาคมขนส่ง Connectivity เกิดขึ้น ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น การไหลไปมาของการท่องเที่ยว แรงงาน ทรัพยากร ทุนเกิดขึ้น แล้วเรากลับผลิตคนสายอาชีพหรือสายเทคนิคน้อยลงๆ มันสวนทางกัน จะทำให้การพัฒนาเหล่านั้นเป็นไปไม่ได้ เราต้องมาพิจารณาแบบยกเครื่องกันว่า ถ้าเป็นไปอย่างนี้การพัฒนาไปในระดับคุณภาพที่เป็นอยู่ มันเป็นได้หรือเปล่า แนวโน้มสันนิษฐานว่าไม่ได้ เราก็ต้องมาประเมินและดูว่าจะพัฒนาได้อย่างไร

• อยู่ที่ผู้เรียนด้วยว่าผู้เรียนไม่อยากมาสายอาชีพแล้วไปสายสามัญกันหมด

เห็นว่าจะมีวิธีจะช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้อาชีวะมีคุณภาพขึ้นมามากๆ ตรงกับความต้องการตลาด เรียนแล้วมีอาชีพ เรียนแล้วมีรายได้ที่ดี ซึ่งคนก็จะมาเรียนมากขึ้น รวมทั้งต้องทำเรื่องที่เรียกว่า Re-branding กันใหม่ ทำให้ภาพพจน์เป็นอีกแบบหนึ่ง คนมองมาที่อาชีวะแล้วเห็นว่าเป็นการที่จะก้าวไปสู่การมีอาชีพที่ดี มีรายได้ดี มีเกียรติ ในหลายประเทศคนจบสายอาชีวะจบสายเทคนิค ไม่ได้จบปริญญาแต่มีรายได้ที่สูงกว่าปริญญาเยอะ แล้วเค้าก็เรียนแบบนั้นแล้วอยากได้ความรู้เพิ่ม อยากได้ปริญญาก็ค่อยไปเรียนปริญญาทีหลัง แต่ได้ใช้ชีวิตทำงานที่มีรายได้ดี มั่นคงอยู่หลายปี ประมาณนี้ นี่เกิดขึ้นในหลายประเทศ นี่เราก็ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้าเราทำไม่ได้ก็จะขัดแย้งกับการพัฒนาที่เราตั้งใจทำหลายๆอย่าง

หลักสูตรก็ต้องปรับเพิ่ม ต้องร่วมมือกับทวิภาคี ก็ต้องมาดูว่ามันได้คุณภาพพอหรือยัง ตรงกับความต้องการพอหรือยัง เข้มข้นพอหรือยัง แล้วก็จะให้ดีต้องไปเทียบเคียงกับต่างประเทศ หรือจะทำมาตรฐานอะไรขึ้นมา ก็อาจจะต้องไปอาศัยผู้เชี่ยวชาญ อาศัยองค์กรผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยเราวิเคราะห์หรือช่วยออกแบบระบบของเรา ไม่อย่างนั้นจะเป็นแบบคิดกันไปเท่าที่ได้ อย่างที่ใครมีอะไรก็คิดกันไปเท่าที่ได้ อย่างนี้ไม่ได้ มันต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิด ประเทศที่เค้าประสบความสำเร็จต้องขอแรงขอความร่วมมือเค้ามาช่วยเราคิด ซึ่งคิดว่าอาจจะต้องยกเครื่องอาชีวะกันใหม่

• นโยบายด้านอุดมศึกษา

ในส่วนของอุดมศึกษานั้น ที่ประชุมก็คุยกันไปบ้าง มีหลายเรื่องที่ต้องตัดสินใจมีเรื่องใหญ่ๆ ว่าทำอย่างไร เราจะส่งเสริมให้การอุดมศึกษาของประเทศยกระดับคุณภาพ ไต่อันดับในเวทีโลกได้ดีขึ้น ทำอย่างไรเราจะรู้ว่ามหาวิทยาลัยไหนอยู่ในอันดับที่เท่าไร ในกรณีที่ไม่ติดอันดับโลกเลย ระบบจัดอันดับ ระบบรับรองคุณภาพของประเทศเราจะเป็นอย่างไร รัฐบาลหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะผลักดันอะไรได้มากกว่านี้ ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ ในเรื่องการตั้งเป้าหมาย แล้วก็มีเรื่องที่ค้างๆ อยู่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องในการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งบังเอิญว่างานในแต่ละด้าน ยังไม่ได้ลงลึก

• มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเหมือนกับว่าต้องเปิดหลักสูตรโน้นนี้เพื่อเลี้ยงตัวเองเพราะว่างบประมาณน้อย ทำให้บางที่คุณภาพก็ลดน้อยถอยลงบ้าง

อันนี้ก็ต้องมาดูว่าทางรัฐบาล ทาง สกอ.จะมีบทบาทไปช่วยทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร ก็ผ่านจากระบบประเมิน ระบบการจัดอันดับ ระบบงบประมาณ นอกจากนั้นก็ต้องเป็นใช้ความเรียกร้องต้องการของภาคสังคมที่จะเสนอต่อมหาวิทยาลัย อันนี้ก็กลับมาที่คุณลักษณะของบัณฑิตที่เราต้องการ คุณสมบัติที่เราทดสอบการประเมิน เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะได้แต่พูดกันไปว่าอันนั้นไม่ค่อยดี ไม่ค่อยดี ไม่มีคุณภาพเกิดขึ้น ไม่มีตัวชี้วัดอันไหนก็จะเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องการเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยนั้นกับมหาวิทยาลัยนี้ ไม่มีตัววัดอะไร การจะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับตัวก็ยังไม่มีอะไรที่จะอ้างอิง

• ระบบการคัดเลือก Admission ที่จะรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ต้องมาดูกันใหม่อีกรอบหนึ่งหรือไม่

อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการที่ต้องรวบรวมจากฝ่ายต่างๆ ในเรื่องประเด็นปัญหาแล้วก็เกิดการหารือกันเพราะเรื่องแบบนี้ ทาง ศธ. หรือ สกอ.ไม่สามารถที่จะไปกำกับมหาวิทยาลัยได้ แต่ว่าต้องยอมรับว่าระบบที่ทำกันอยู่ มีปัญหามาก ทั้งนี้ในความเท่าเทียม การที่ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานจะได้ผลเพราะมันดึงความสนใจของผู้เกี่ยวข้องไปหาข้อสอบของมหาวิทยาลัยไปเสียหมด อันนี้ต้องเกิดการสำรวจปัญหา และหารือร่วมกัน ถ้าทางฝ่ายมหาวิทยาลัยเห็นว่ายังไม่ดีพอ ยังไม่ได้เด็กที่ตรงความต้องการ ก็ต้องช่วยกันปรับหลักสูตร ปรับการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ตัวป้อนดีขึ้น แต่ถ้าไปออกข้อสอบเน้นเพื่อให้ได้ตัวป้อนที่ดี เลือกเอาครีมไปแล้ว ทำให้เด็กทั้งระบบไม่สนใจการเรียนในโรงเรียน ไม่สนใจการสอบของ สทศ.หรือของกระทรวง ก็ทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องในลำดับถัดๆ ไปที่ต้องคิด ส่วนคำถามที่ว่าทางมหาวิทยาลัยก็บอกว่าถ้าไม่ออกข้อสอบยากๆ เขาก็คัดเด็กไม่ได้นั้น ก็ต้องมีว่าจะอิงกับหลักสูตรยังไง ถ้าเป็นยากแบบนอกหลักสูตรมากๆ มันก็เท่ากับว่าเด็กก็ต้องเรียนเน้นที่กวดวิชา แล้วก็จะสนใจการเรียนในโรงเรียนน้อย

• เรื่องปัญหาการทุจริตในกระทรวง ในหลายกรณี อยากทราบแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าจะเข้ามาจัดการกับปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง

ก็ต้องสะสางอย่างเอาจริงเอาจัง การทุจริตที่ผ่านก็ต้องหาผู้ทำผิด ลงโทษไปตามเนื้อผ้าอย่างเคร่งครัดจริงจัง ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตใหม่ เพราะถ้าปล่อยให้มีการทุจริตกันมากๆ การพัฒนาการศึกษาก็ไม่มีทางได้ผล ก็เป็นการสูญเปล่า หวังไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ไม่ได้ เรื่องการทุจริตครูผู้ช่วยก็มีหลายมิติ ก็ต้องดูว่าจุดที่เป็นปัญหาอยู่ที่ไหน จะให้ความเป็นธรรมกับผู้เข้าสอบได้อย่างไร จะสร้างระบบต่อไปไม่ให้มีการทุจริตได้อย่างไร เรื่องนี้มีการจัดการกับปัญหามาในขั้นตอนต่างๆ ไปแล้ว บางเรื่องจะไปรื้อไปแก้ก็ไม่ใช่ง่าย เช่น ครูบรรจุไปแล้วจะให้สอบใหม่ มาถึงขั้นนี้ก็ไม่ใช่ง่ายแล้ว แต่ว่าตอนนี้ที่สำคัญก็คือว่า ถ้าพบว่ามีการทุจริตที่ไหน มีใครเกี่ยวข้อง ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า ไม่ล้มมวย

• รัฐมนตรีรู้สึกอย่างไรบ้างกับกระแสการกลับมา แล้วเป็นที่ยอมรับกับทุกแวดวง ทั้งนักวิชาการ-ข้าราชการที่ค่อนข้างจะคาดหวัง

จะว่าเป็นกำลังใจก็เป็น จะว่าเป็นการกดดันก็เป็น ความคาดหวังหรือยินดีที่ผมมาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากเห็นว่าสมควรเป็นรัฐมนตรี ดีใจที่ได้มาเป็นรัฐมนตรีหรือดีใจที่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มันจะปนๆ กันอยู่ ผมก็ไม่ได้ทำงานด้านการศึกษามา ไปเน้นเรื่องการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยถึงเกือบ 7 ปี ไม่ได้คิดจะเป็นรัฐมนตรีด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ใช่จะเป็นเหมือนอย่างที่คาดหวังกันไปเสียหมด

ตัวอย่างก็คือว่า งานด้านการศึกษา งานของกระทรวงศึกษาธิการจะไม่มีอัศวินม้าขาว จะอาศัยอัศวินม้าขาวไม่ได้ แล้วผมก็ไม่ใช่อัศวินม้าขาว ที่สำคัญต้องอาศัยคนทั้งกระทรวงและสำคัญกว่านั้นต้องอาศัยสังคม ต้องเป็นประเด็นทางสังคม บางเรื่องต้องให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้จึงจะแก้ได้ ถ้าผมมีส่วนช่วยคือ ใช้ความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่ มาทำความเข้าในเรื่อง และเสนอเรื่องให้เห็นว่าถ้าจะขับเคลื่อนการศึกษากันจริงๆ ยกเครื่องกันจริงๆ จะต้องทำอะไรอย่างไร เสร็จแล้วก็ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้าใจ เห็นร่วมกัน ซึ่งก็คือต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันเสียก่อนตั้งแต่ต้น และยังต้องไปเสนอเรื่องเหล่านี้ให้สังคมเข้าใจ และเห็นโจทย์ทางออก และเห็นวิธีการร่วมกัน ช่วยกันผลักดัน

ถ้าไม่มีกระบวนการนี้ ใครมาเป็น รมว.ศธ.ก็ยังทำอะไรมากไม่ได้ เรื่องของ ศธ.เป็นเรื่องซับซ้อน หลายเรื่องมีการสะสมมานาน แล้วก็หลายส่วนก็มีลักษณะเป็นอิสระจากกัน โครงสร้างที่ทำมาต่อเนื่องช่วง 10 ปีมานี้ เป็นโครงสร้างที่ทำให้การบริหารจัดการไม่ง่าย

• ภายใน 2 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร มากน้อยแค่ไหน ความคาดหวังของ รมว.ศธ.เป็นอย่างไร

ผมจะอยู่ถึง 2 ปีหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ แต่ต้องรีบคิดแบบ 3 เดือน 6 เดือนก่อนว่าจะคิดช่วยวางแผนไว้ให้เป็นเรื่อง 2 ปี 4 ปี จึงคิดว่าคงจะต้องเน้นการทำงานใน 3 เดือน 6 เดือน แต่จะพยายามช่วยวางแผนวางระบบที่จะมีผลต่อไปข้างหน้าให้ยาวหน่อย หวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจยุทธศาสตร์ร่วมกัน มียุทธศาสตร์ร่วมกัน เข้าใจเรื่องใหญ่ๆ ร่วมกัน แล้วก็วางแผนวางระบบวางกระบวนการที่จะบรรลุยุทธศาสตร์นั้น เริ่มต้นให้ได้ในเรื่องสำคัญๆ แล้วก็คงต้องอาศัยการทำงานต่อเนื่องไป ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่จะรับผิดชอบต่อๆ ไป จะเป็นผมหรือเป็นใครก็ตามที่จะทำจาก 6 เดือนนี้แล้วทำต่อๆ ไป หรือแม้แต่จะทำในรัฐบาลหน้าก็ตาม แต่การศึกษาที่จะแก้ปัญหานี้ต้องการความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องไม่ได้พูดในความหมายว่า ต้องให้ผมเป็นรัฐมนตรีนานๆ แต่ต้องสื่อสารกับรัฐบาลและทั้งสังคมให้เห็นภาพร่วมกัน เข้าใจร่วมกัน และช่วยทำให้ต่อเนื่อง

• แนวโน้มของรัฐบาลค่อนข้างต่อเนื่อง

ในแง่เสถียรภาพของรัฐบาล โอกาสที่จะมีความต่อเนื่องของรัฐบาลยังมีอยู่สูง แต่ความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายทางด้านการศึกษาที่ตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและต่อเนื่อง อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันสร้างขึ้น



• รมว.ศธ.รับฟังมาก ทำให้การเคลื่อนงานช้าหรือไม่ อาจจะต้องมีความรวดเร็วมากขึ้นหรือไม่

เร็วหรือช้า เป็นเรื่องที่มองได้ต่างกัน บางเรื่องรับฟังความคิดเห็น เพื่อช่วยกันคิดวิเคราะห์ คนยังมีความรู้สึกช้า แต่พอได้ข้อสรุปแล้ว บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าไม่คิดเรื่องนั้นก็ไม่เกิดเลย บางเรื่องคิดขึ้นมาแล้ว ต่อมาพบว่าผ่านมาอีกตั้งนาน คนถึงจะบอกว่าใช่แล้วต้องทำ ก็แสดงว่าเรื่องที่ช่วยกันคิดอยู่ ที่เหมือนดูว่าช้านั้น จริงๆ แล้วมันก้าวหน้าล้ำสมัยกว่า แล้วเร็วกว่าบางเรื่อง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เร็วหรือช้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จะคิดได้ไหม จะทำกันไหม

อย่างไรก็ตาม ผมก็เข้าใจความต้องการที่คนต้องการเห็นอะไรเร็วๆ ต้องการการคิด การตัดสินใจเร็ว ซึ่งก็คิดว่า จากความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา น่าจะช่วยทำให้ความร่วมมือที่ดีของคนในวงการการศึกษา น่าจะทำให้ขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้เร็ว เท่าที่ดูก็ไม่ค่อยมีปัญหาที่เกี่ยวกับการตัดสินใจยาก

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ

หนาวแล้ว ออกแคมป์กันเถอะ! ⛺ เตาแก๊สปิคนิค พกพาสะดวก ออก Outdoor ได้สบายๆ รุ่น KJ-101 แถมฟรี!!กล่องเก็บเตา ในราคา ฿244

https://s.shopee.co.th/7fJQKGPCjr?share_channel_code=6


การกำหนดนโยบาย ศธ.การกำหนดนโยบายศธ.

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

:: เรื่องปักหมุด ::

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 3/2556

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 3/2556

เปิดอ่าน 15,954 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ผลการประชุมองค์กรหลัก ศธ. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557
ผลการประชุมองค์กรหลัก ศธ. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557
เปิดอ่าน 7,348 ☕ คลิกอ่านเลย

มติ ครม. 1 ตุลาคม 2556 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ
มติ ครม. 1 ตุลาคม 2556 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ
เปิดอ่าน 12,575 ☕ คลิกอ่านเลย

รมว.ศธ.หารือกับสภาเครือข่ายองค์กรครูแห่งประเทศไทย
รมว.ศธ.หารือกับสภาเครือข่ายองค์กรครูแห่งประเทศไทย
เปิดอ่าน 5,933 ☕ คลิกอ่านเลย

ครม.เห็นชอบการขอคืนอัตราว่างข้าราชการครูจากผลการเกษียณอายุราชการ
ครม.เห็นชอบการขอคืนอัตราว่างข้าราชการครูจากผลการเกษียณอายุราชการ
เปิดอ่าน 12,995 ☕ คลิกอ่านเลย

ผลประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2554
ผลประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2554
เปิดอ่าน 17,149 ☕ คลิกอ่านเลย

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 2/2557 (21 ก.พ.2557)
ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 2/2557 (21 ก.พ.2557)
เปิดอ่าน 19,428 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

การประเมินความจำเป็นในการกำหนดวัตถุประสงค์
การประเมินความจำเป็นในการกำหนดวัตถุประสงค์
เปิดอ่าน 19,746 ครั้ง

วัฎจักรการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการวิจัย (Internet research cycle)
วัฎจักรการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการวิจัย (Internet research cycle)
เปิดอ่าน 22,669 ครั้ง

ปลูกข่าข้างบ่อปลา สร้างรายได้ถึง 400,000 บาท/ไร่
ปลูกข่าข้างบ่อปลา สร้างรายได้ถึง 400,000 บาท/ไร่
เปิดอ่าน 25,319 ครั้ง

ฟุตซอล(Futsal): วิธีการคาดโทษและไล่ออก
ฟุตซอล(Futsal): วิธีการคาดโทษและไล่ออก
เปิดอ่าน 26,269 ครั้ง

ฤกษ์ออกรถปี 2555
ฤกษ์ออกรถปี 2555
เปิดอ่าน 17,112 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ