ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 เวลา 8.30-9.00 น. ซึ่งมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม มีสาระสำคัญดังนี้
1) แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2557 รัฐบาลขอให้ทุกกระทรวงเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้ แต่จะต้องเป็นรายจ่ายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล รวมทั้งเป็นรายจ่ายที่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้ หรือเป็นรายจ่ายลงทุนสำคัญที่ก่อให้เกิดผลในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเป็นรายจ่ายที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง โดยไม่เกิดเป็นภาระผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปี โดยให้จัดทำรายละเอียดคำเสนอของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณในวันที่ 26 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2556
กระทรวงศึกษาธิการย้ำให้ทุกหน่วยงานพิจารณาโครงการที่จะของบเพิ่ม ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งพิจารณางบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของ AIT และงบประมาณมหาวิทยาลัยวิจัยด้วย
2) นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในจังหวัดยโสธรและมุกดาหาร โดยมีผู้แทน ศธ.ที่จะติดตามเดินทางร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรี 2 ราย คือ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงเพราะนายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัด สอศ. และตรวจเยี่ยม Fix It Center รวมทั้งหารือประเด็นรับนักเรียนจากประเทศลาวเข้ามาเรียนอาชีวะในไทย และการผลิตกำลังคนด้านการขนส่งรถไฟ ในส่วนของอุดมศึกษา มีสถาบันการศึกษาคือวิทยาลัยชุมชนยโสธร และวิทยาลัยชุมชนมุกดาหารด้วย
3) โรคระบาด ขอให้ สช.-สพฐ.-สอศ. สร้างความตื่นตัวแก่นักเรียนนักศึกษาในการป้องกันและระวังโรคไข้เลือดออก และมือเท้าปาก
4) การบริจาคเครื่องดนตรี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งว่า ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ต้องการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียน สพฐ. ตามที่โรงเรียนหลายแห่งขาดแคลน แต่อยากให้มีหน่วยงานเชื่อม จึงขอให้ ศธ.ดำเนินการ MOU กับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยเร็ว
5) การสอบครูผู้ช่วย รมว.ศธ.ได้ขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องในการจัดสอบโดยไม่เกิดการทุจริตในการสอบเมื่อวันที่ 22-24 มิถุนายนที่ผ่านมา
6) การจัดซื้อแท็บเล็ต ที่จะมี e-Auction ในวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ให้ทุกหน่วยงานช่วยกันตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและรัดกุมที่สุด
7) การปฏิรูปหลักสูตร ศ.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ.ในฐานะผู้รับผิดชอบการปฏิรูปหลักสูตร รายงานความคืบหน้าว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนนี้ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นในเรื่องนี้ด้วย
8) เป้าหมายอาชีวะ ยังมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวะในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนไม่ถึงเป้า เช่น ปวช.ยังขาดอีกประมาณ 17,000 คน ในขณะที่ภาคการผลิตมีความต้องการมาก จึงขอให้ สอศ. สช. และ สพฐ. ร่วมมือกันวางแผนผลิตกำลังคนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ดูว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเด็กที่มีความแตกต่างกัน ซึ่ง สพฐ.ต้องเปิดโรงเรียนให้อาชีวะเข้าไปแนะแนวเด็กนักเรียนให้มากขึ้น
9) โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งขณะนี้มีการขยายตัวมากขึ้น ศธ.ควรจะหาแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้แก่โรงเรียนนานาชาติมากขึ้น เช่น คุรุสภาซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการออกใบอนุญาตสำหรับครูต่างชาติ จะต้องดูว่าอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรค ดูกติกาว่าเหตุผลทำเพื่ออะไร หน้าที่ของ ศธ.คือส่งเสริม ไม่ใช่ทำให้เป็นอุปสรรคหรือสร้างปัญหาในการจัดการศึกษา
10) โรงเรียนวังไกลกังวล 2 ซึ่งกำลังจะก่อสร้างแห่งใหม่ ขอให้ สพฐ.ช่วยติดตามในเรื่องนี้
11) ให้นำเนื้อหาสาระของ DLTV-OBEC Channel-ETV มารวมกัน รมว.ศธ.ต้องการให้สถานีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม ของ รร.วังไกลกังวล และสถานี OBEC Channel ของ สพฐ. รวมทั้ง ETV ของ กศน. นำเนื้อหาสาระของแต่ละระบบ ไปเชื่อมโยงอีกระบบ ซึ่งจะเป็นการเกื้อกูลขยายเครือข่ายซึ่งกันและกัน อันจะทำให้เกิดช่องทางในการรับชมมากขึ้น โรงเรียนและครูผู้สอนได้รับการพัฒนาคุณภาพผ่านช่องทางดังกล่าวมากขึ้น
12) ภาษาอังกฤษ รัฐบาลต้องการให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 จึงขอให้ทุกหน่วยงานใน ศธ.ร่วมมือกันดำเนินการ โดย 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
13) นำแบบอย่างที่ดีมาเผยแพร่ ขอให้ช่วยกันเผยแพร่ตัวอย่าง/แบบอย่างที่ดีมาให้นักเรียนและเยาวชนได้รับรู้มากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะรับรู้กันในวงแคบ โดยอาจนำกรณีตัวอย่างมาเผยแพร่ เช่น เรื่องน้ำใจนักกีฬา ลูกเสือ ฯลฯ และควรมีโล่หรือประกาศเกียรติคุณที่จะมอบให้บุคคลเหล่านี้
14) Fix It Center ขอให้ สอศ.เปิดตัว Kick-off ใหญ่ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันหยุดของประชาชน อาจปล่อยคาราวานไปตามชุมชน และขยายไปภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่ประชาชนมากขึ้น
15) โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ
จากการที่ ศธ.แต่งตั้ง ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นโฆษก ศธ.ฝ่ายการเมือง และ ดร.ศิริพร กิจเกื้อกูล รองปลัด ศธ.เป็นโฆษก ศธ.ฝ่ายข้าราชการประจำ จะมีการแถลงข่าวทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11.00 น. และอาจจะมีทุกวันอังคารหลังการประชุม ครม. หากมีมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา รวมทั้งหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ.ย้ำว่า โฆษก ศธ.มีบทบาทมากในการบริหารงานยุคปัจจุบัน นอกจากจะแถลงผลงานของ ศธ.เป็นระยะๆ แล้ว ต้องสื่อสาร 2 ทาง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะ Social Media ที่จะช่วยเสริมสื่อกระแสหลักได้อย่างมาก แต่การชี้แจงผ่านช่องทางเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีข้อมูล ความจริง มีน้ำหนัก ซึ่ง รมว.ศธ.ย้ำ “คำพูดสวยหรู ไม่สู้สาระ” จึงต้องทำความเข้าใจชี้แจงประเด็นทั้งด้านบวกและลบ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่มีใครชี้แจง จะยิ่งกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งอาจประสานกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนในการให้ข่าวแทนก็ได้ หากโฆษกไม่อยู่ในสถานะที่จะแถลงข่าวแทนในประเด็นนั้นๆ
ในการแถลงนโยบายใหม่ๆ ของ ศธ. ขอให้หารือกับรัฐมนตรี เพื่อรัฐมนตรีทั้งสองท่านจะได้แถลงนโยบายก่อน หรืออาจให้องค์กรหลักให้ข่าวด้วยก็ได้ โดยโฆษก ศธ.สามารถนำรายละเอียดต่างๆ ในนโยบายนั้นๆ ไปแถลงความคืบหน้าเพิ่มเติม
ขณะนี้คณะทำงานโฆษกได้เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยมีผู้บริหารด้านประชาสัมพันธ์ทุกองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ได้หารือและติดตามประเด็นที่ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกวัน โดยได้เปิดแอพพลิเคชั่น Line พูดคุยหารือกันทุกวัน ชื่อกลุ่ม “ทีมโฆษก ศธ.”
16) การโยกย้ายผู้บริหารสังกัด สป.ศธ. มอบหมายให้ปลัด ศธ.เป็นผู้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนในประเด็นนี้
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/jun/198.html