ถือได้ว่าเป็นการเดินหน้าเพื่อการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและผู้เรียนด้วยการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาของ "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีการขับเคลื่อนทำงานโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ อันประกอบไปด้วย คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน
จากนโยบายดังกล่าวจะส่งผลเช่นไรต่อการศึกษาไทยในวันข้างหน้า และจะช่วยแก้ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทยได้หรือไม่ "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์" ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงการยกเครื่องหลักสูตรที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยในอนาคต รวมไปถึงหลักสูตรใหม่จะเป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ จนนำไปสู่การปฏิรูปครู ระบบไอซีทีเพื่อการศึกษา หรือแม้แต่การปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.
- ข้อดี/เสียของหลักสูตรเดิม
ผมขอเรียกว่าเป็นหลักสูตร 44/51 เพราะมีโครงสร้างหลักมาตั้งแต่ปี 2544 แต่มาแก้ไขเล็กน้อยในปี 2551 เรียกได้ว่าหลักสูตรนี้มีมา 12 ปีแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับปรุง โดยหลักสูตรแบ่งเป็น 2 ส่วน คือหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษา ก็เป็นข้อดีที่มีหลักสูตรท้องถิ่นด้วยเพราะทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเองและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น
แต่อย่างไรก็ตาม หลักสูตร 44/51 เขียนสั้นเกินไป เพราะบอกแต่เนื้อหาและวัตถุประสงค์ ที่เหลือครูต้องใช้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเอง โดยความสามารถของครูไทยก็ไม่ได้สูงเท่าไร เวลาที่ไปทำแผนการสอนจึงต้องพึ่งหนังสือเรียนเป็นหลัก ขณะที่การผลิตตำราของภาคเอกชนก็มีความหลากหลาย หากเจอหนังสือเรียนแย่ก็เป็นผลเสีย หลักสูตร (เดิม) จะดีหากนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ครูมีความสามารถสูง เพราะเขาสามารถใส่ตัวตนเข้าไปได้ แต่บ้านเราไม่ใช่อย่างนั้น
- ผลพวงจากหลักสูตร 44/51
ผลที่เกิดขึ้นคือระบบการศึกษาแย่ลง โดยเฉพาะ 10 ปีหลังเห็นชัดเจนว่าแย่ลงต่อเนื่อง ทั้งจากผลการสอบ PISA ที่อันดับไม่เคยขยับขึ้น หรือการสอบโอเน็ตที่มีคะแนนเฉลี่ยลดลง เช่นเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัยก็บอกว่า เด็กมีคุณภาพลดลง นอกจากนี้หลักสูตรเก่าไปตอบโจทย์เฉพาะเด็กที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งปีหนึ่งเรามีเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้เข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 3 แสนคน หลักสูตรนี้เตรียมความพร้อมคน 3 แสน แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ 5 แสนคนที่เหลือ เด็กที่จบ ม.6 บางส่วนก็ถูกทิ้งไว้ เพราะไม่มีทักษะชีวิตที่สามารถไปดำรงชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- กระทบต่อภาพรวมของประเทศอย่างไร
ที่น่าสนใจคือทุก ๆ ปี IMD (International Institute of Management Development) จะจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 59 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 30 ซึ่งถือว่าอยู่กลาง ๆ แต่เมื่อคิดเชิงเปรียบเทียบ มาเลเซียอยู่อันดับที่ 14 หรือสิงคโปร์อันดับ 4 เขาทิ้งเราไปไกลมาก ซึ่งไทยอยู่อันดับนี้เพราะบางปัจจัยเราดีมาก เช่น การจ้างงานเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือการค้าขายระหว่างประเทศอยู่อันดับ 8 แต่สิ่งที่ดึงเราลงมาต่ำคือการศึกษา ซึ่งของเราอยู่อันดับที่ 52 หรือด้านวิทยาศาสตร์อันดับที่ 40 และเทคโนโลยีอันดับที่ 50 เมื่อคนต่างประเทศเห็นผลนี้ก็จะมองว่าประเทศเรามีการจ้างงาน
เยอะ ขายของเก่ง แต่ไม่มีความรู้ ไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นคนก็จะมาลงทุนในเรื่องแรงงาน แต่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้สูง ๆ เขาจะไม่มาที่นี่ สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า 67% ของแรงงานไทยเรียนจบและมีความรู้แค่ชั้นประถมศึกษา ทักษะเขาต่ำตามการศึกษาที่ได้รับ ซึ่งเราอยากให้หลักสูตรใหม่ตอบโจทย์ภาพใหญ่ของประเทศ
- หน้าตาของหลักสูตรใหม่
ก่อนทำหลักสูตร เรากำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยคิดว่าทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของคนไทยในยุคปัจจุบันมีอะไรบ้าง กำหนดมา 10 ข้อ เช่น การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิพากษ์, การสื่อสาร ถ่ายทอดความคิด ความรู้และความเข้าใจ, การทำงานร่วมกับผู้อื่น, ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและประกอบการดำรงชีวิต, สามารถเผชิญปัญหาและแก้ปัญหา, การบริหารความขัดแย้ง เป็นต้น เมื่อเขียนหลักสูตรก็ต้องมีกระบวนการที่สะท้อนว่าจะนำไปสู่สิ่งเหล่านี้ เรามองด้วยว่าหลักสูตรต้องสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ 6 ประการ อย่างการเรียนการสอนแบบโครงการ, การอ่านเพื่อการเรียนรู้ หรือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกันก็สร้างเจตคติให้ผู้เรียน เช่น มีสำนึกต่อสังคม, นับถือผู้อื่น, มีสำนึกประชาธิปไตย เป็นต้น
- การปรับกระบวนการเรียนการสอน
เรากำหนดความรู้ 6 กลุ่ม ได้แก่ ภาษาและวรรณกรรม, วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์, การดำรงชีวิตและโลกของงาน, ทักษะสื่อ และการสื่อสาร, สังคมและความเป็นมนุษย์, อาเซียน ภูมิภาค และโลก ซึ่งเป็นการปรับกระบวนการจาก8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ไม่ได้ปรับความรู้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดตารางสอน ก็ได้ว่าจะปรับชั่วโมงเรียนลดลง อย่างเด็กชั้นประถมศึกษาที่ตอนนี้เรียนในห้องเรียน 1,000 ชั่วโมง จะทำให้เหลือต่ำกว่า 600 ชั่วโมง เพราะต้องการให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่า โดยโรงเรียนต้องหากิจกรรมที่มีแนวทาง ที่คิดไว้คือเป็นกิจกรรมที่รองรับเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เรียนดีอยู่แล้วก็จะให้เสริมศักยภาพของตัวเองเพิ่มขึ้น อีกกลุ่มเป็นเด็กที่เรียนช้า เสนอให้โรงเรียนจัดทำคลินิกวิชาให้เด็กได้เข้าไปเรียน ซึ่งถ้าจัดดี ๆ ก็เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน หรือเด็กที่เรียนเก่งเข้ามาช่วยด้วยก็ได้
- จะนำร่องทดลองกับโรงเรียนเมื่อไร
เรามองว่าปีการศึกษา 2557 จะเริ่มทดลองใช้หลักสูตรที่เราปรับใหม่ เบื้องต้นจะนำไปใช้กับโรงเรียนที่มีขีดความสามารถสูงที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม ประมาณ 2,000-5,000 แห่ง และให้มหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เป็นพี่เลี้ยงสื่อความคิดของเราออกไป ซึ่งถ้าให้มหาวิทยาลัย 1 แห่ง ดูแล 100 โรงเรียน ก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้
- การปรับหลักสูตรจะพลิกโฉมหน้าการศึกษาไทย
ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย แค่อยากให้เด็กไทยฉลาด และประเทศอยู่ได้ เพราะตอนนี้สถานการณ์แย่ เรื่องการศึกษาไม่ได้เห็นผลเหมือนไฟไหม้ มันค่อย ๆ ซึมลึก เหมือนร่างกายมีโรคเรื้อรังและอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้น วันนี้มีคนสูงอายุ 9 ล้านคน อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นกว่า 10 ล้านคน ถ้าคนอายุน้อยที่จะเข้ามาเป็นวัยทำงานมีประสิทธิภาพการทำงานไม่สูง ประเทศก็จะอ่อนแอ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 มิ.ย. 2556