บุญมา คำชนะชัย. 2550. รายงานการพัฒนากระบวนการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์
เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
บทคัดย่อ
การดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) พัฒนากระบวนการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็น ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 70 ขึ้นไป 3) สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนจากการเรียนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 38 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 12 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพ ของรูปแบบได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ และ แบบสอบถามความคิดเห็น ของนักเรียนจากการเรียนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกสนาม แบบฝึกทักษะประจำบทเรียนเพื่อฝึกการแก้ปัญหาในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบทดสอบย่อยในแต่ละผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียน
การดำเนินงานครั้งนี้ ผู้จัดทำได้ใช้ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ โดยประยุกต์ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ใช้ในการดำเนินงาน ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้สะท้อนผลการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง โดยนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์และสะท้อนให้เห็นผลการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ต่อๆ ไปให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้เก็บข้อมูลจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนจากการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ผลการดำเนินงาน พบว่า
1) การพัฒนากระบวนการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในการดำเนินงานครั้งนี้ มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นสร้างความขัดแย้งทางปัญญา นักเรียนมีกระบวนการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิม ซึ่งทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นมีความหมาย ขั้นไตร่ตรองปัญหา นักเรียนมีความมั่นใจในวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องกลัวว่า วิธีคิด หรือวิธีแก้ปัญหานั้นจะผิด และเมื่อนักเรียนมีการสนทนาโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุผลอย่างอิสระ ทำให้นักเรียนได้เปรียบเทียบความคิดของตนเองกับความคิดของคนอื่น ได้เรียนรู้วิธีคิดของตนอย่างหลากหลายและมีมุมมอง ที่กว้างขึ้น ขั้นสร้างโครงสร้างทางปัญญา นักเรียนส่วนใหญ่สามารถสรุปความคิด หลักการ และมโนมติของเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ได้ด้วยตนเองและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้
2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 72.89 เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 70 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 84.21 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์จำนวนนักเรียนที่กำหนดไว้ ร้อยละ 80.00
3) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ มีความคิดเห็นต่อข้อความเชิงบวกในระดับเห็นด้วยมาก (3.62) และไม่เห็นด้วย ต่อข้อความเชิงลบ (3.23) และนักเรียนมีความคิดเห็นว่า อยากเป็นคนเก่งคณิตศาสตร์ เห็นว่าคณิตศาสตร์มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ทำให้คิดอย่างมีระบบ มีเหตุผล และพอใจกับการมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานและไม่เห็นด้วยที่ว่า ถ้าเลือกได้นักเรียนจะเลือกไม่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ และไม่เห็นด้วยที่ว่า การเรียนคณิตศาสตร์ทำให้สุขภาพจิตเสีย และไม่เห็นด้วย ที่ว่านักเรียนต้องฝืนใจทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์จนสำเร็จ
นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ มีลักษณะอันพึงประสงค์ ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ และตรวจสอบความรู้ด้วยตัวนักเรียนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงความคิดเห็น สามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์