สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน 2) เห็นชอบโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยโดย UNESCO ร่วมกับ OECD 3) รับทราบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
►เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน
ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1) กำหนดให้สถาบันเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาโดยวิทยาลัยชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน
2) กำหนดให้สถาบันแบ่งส่วนราชการ ออกเป็นสำนักงานสถาบันวิทยาลัย ส่วนราชการอื่นๆ และให้การจัดตั้ง การรวม การโอนหรือการยุบเลิกวิทยาลัย หรือส่วนราชการอื่นจัดทำเป็นกฎกระทรวง เว้นแต่การแบ่งส่วนราชการภายในให้ทำเป็นประกาศสถาบัน
3) กำหนดให้สถาบันมีรายได้นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน ได้แก่ เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับ ค่าปรับ และค่าบริการต่าง ๆ ของสถาบันเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเงินอุดหนุนอื่นที่สถาบันได้รับเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้ เป็นต้น และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
4) กำหนดให้มีสภาสถาบัน ประกอบด้วยนายกสภาสถาบัน กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้แทนภาคเอกชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดคุณสมบัติหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งนายกสภาสถาบันและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและภาคเอกชนเป็นไปตามที่กำหนด และให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
5) กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาวิทยาลัย และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัย โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามที่กำหนด
6) กำหนดให้มีผู้อำนวยการสถาบันเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน และให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
7) กำหนดให้วิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการในสถาบันมีหน้าที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา และฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพ และให้วิทยาลัยบริหารและจัดการศึกษาบนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนการระดมทรัพยากรและการสนับสนุน
8) กำหนดห้ามมิให้วิทยาลัยปฏิเสธการรับบุคคลเข้าศึกษาในวิทยาลัยหรือยุติหรือชะลอการศึกษาของนักศึกษาด้วยเหตุเพียงว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักศึกษาผู้ใดเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด
9) กำหนดให้มีผู้อำนวยการวิทยาลัย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
10) กำหนดบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณฯ การโอนบรรดาข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการต่าง ๆ การได้รับอนุปริญญาและประกาศนียบัตร ตลอดจนกฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
--------------------------------------------------------------------------------
►เห็นชอบโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยโดย UNESCO ร่วมกับ OECD
ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยจ่ายค่าตอบแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจำนวน 10,400,000 บาท หรือ 252,000 ยูโร (อัตราแลกเปลี่ยน 39.98 บาท ต่อ 1 ยูโร) ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แผนงานสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ผลผลิตนโยบายและแผนด้านการศึกษา งบรายจ่ายอื่น รายการค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และยังมีเงินคงเหลือเพียงพอไปดำเนินการ
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ กับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
สาระสำคัญของเรื่อง
1) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดทำโครงการความร่วมมือ ข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล การเรียนรู้อย่างเท่าทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน และอนาคต โดยดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล และแนวนโยบายแห่งรัฐ
2. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ. 2556-2558 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการติดตามประเมินผลใน 4 ภูมิภาค ในช่วง เดือนมกราคม – มีนาคม 2556 และได้มีการปรึกษาหารือกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย และร่างข้อตกลงในความร่วมมือในการจัดทำข้อเสนอนโยบายการศึกษาของประเทศ โดยมีขอบเขตและระเบียบวิธีดำเนินการ ดังนี้
2.1 ขอบเขตการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้
2.1.1 การประเมินระบบการศึกษาโดยรวม เน้นเรื่องคุณภาพ ความเสมอภาค และการปฏิรูป นโยบาย กฎ ระเบียบ โครงสร้าง นโยบายพิเศษ และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงการศึกษาในประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11
2.1.2 นโยบายด้านครู และการเสริมสร้างความสามารถของครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยการวิเคราะห์ทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งประเมินโอกาสเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ (การเสริมสร้างความสามารถของครู การเลื่อนวิทยฐานะ การยกระดับให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง การเป็นผู้นำในโรงเรียน การมีส่วนร่วมในสังคม การเรียนการสอนในพหุวัฒนธรรม ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน)
2.1.3 การพัฒนาหลักสูตร เน้นความสามารถด้านภาษา ความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม และพลเมืองศึกษา
2.1.4 นโยบายด้านการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ได้แก่ PISA, O-Net และตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา
2.1.5 การเรียนโดยใช้สื่อเคลื่อนที่ (Mobile Learning) เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมครู
2.2 ระเบียบวิธีดำเนินการ โครงการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยจะใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้แก่
2.2.1 รายงานภูมิหลังการศึกษาของประเทศ จัดเตรียมโดยคณะของประเทศไทย (แต่งตั้งโดยหน่วยงานระดับชาติ) ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับคุณภาพและความเสมอภาคด้านการศึกษา รวมทั้งความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศ
2.2.2 ข้อมูลที่ใช้เป็นมาตรฐานและเทียบเคียง ซึ่งให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศเปรียบเทียบกับของประเทศอื่นๆ
2.2.3 ศึกษาและทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ พร้อมด้วยข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศ
2.2.4 การเดินทาง 3 ครั้ง (กำหนดขอบเขต สืบค้น ข้อมูลและตีความ ตรวจสอบความถูกต้อง) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับชาติและคณะจากนานาชาติที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ (ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา
2.3 การดำเนินงาน
2.3.1 ทบทวนรายงานภูมิหลังด้านการศึกษาของประเทศ (Country Background Report) ที่จัดทำโดยคณะของประเทศไทย และให้ข้อคิดเห็นร่วมกับคณะของ OECD
2.3.2 จัดทำข้อเปรียบเทียบระบบการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ส่วน OECD จะวิเคราะห์ผล PISA ของประเทศไทย
2.3.3 จัดทำ literature review งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร ความสามารถด้านภาษา ความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม พลเมืองศึกษา การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับครู และประสานข้อคิดเห็นจาก OECD
2.3.4 ให้ข้อคิดเห็นต่อ literature review ของ OECD เรื่องการประเมินผลครูและนักเรียน
2.3.5 จัดทำการประเมินภาพรวมระบบการศึกษาของประเทศไทยในเรื่องคุณภาพ ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ เพื่อ OECD ให้ข้อคิดเห็น
2.3.6 เข้าร่วมในการหารือและประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับชาติ (National Stakeholders) ที่ทางรัฐบาลจัด เป็นผู้นำในการสนทนาในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
2.3.7 ยกร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ในหัวข้อเรื่องการพัฒนาหลักสูตร ความสามารถด้านภาษา ความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม พลเมืองศึกษา การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับครู และประสานข้อคิดเห็นจาก OECD
2.3.8 ให้ข้อคิดเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ในส่วนที่ร่างโดย OECD เรื่องการประเมินผลครูและนักเรียน
2.3.9 ดำเนินการปรับแก้ให้สอดคล้องและปิดเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ร่วมกับ OECD
2.3.10 ดำเนินการในกิจกรรมเผยแพร่รายงานซึ่งอาจร้องขอโดยรัฐบาล
--------------------------------------------------------------------------------
►รับทราบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
ครม.มีมติรับทราบ เห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประเมินการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ (รอบ 12 เดือน) เบื้องต้นของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (ตามมติ ก.พ.ร. ครั้งที่ 2/2556 วันที่ 27 มีนาคม 2556) เมื่อสำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับผลการประเมินที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แล้ว ขออนุมัติเป็นหลักการในการปรับปรุงแก้ไขผลคะแนนให้มีความครบถ้วน เพื่อนำไปใช้จัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้กับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาต่อไป
2. เห็นชอบการขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1,400 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้กับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
3. อนุมัติให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติให้กันไว้เบิกเหลื่อมปี สามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ไปตั้งจ่ายในงบบุคลากร รายการเงินรางวัลสำหรับผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานที่มีผลการปฏิบัติงานดี เพื่อเบิกจ่ายเป็นเงินรางวัลสำหรับผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 โดยไม่ต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ เป็นการผ่อนผันวิธีปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
หลักการจ่ายเงินรางวัลประจำปี การจัดสรรเงินรางวัล เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน (Performance Pay) ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ไม่มีผลผูกพันระยะยาว เพื่อจูงใจให้ข้าราชการสร้างสรรค์ผลงานโดยยึดโยงกับเป้าประสงค์ขององค์กรเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้ดำเนินการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและมีผลการประเมินการปฏิบัติราชการตามคำรับรองประจำปีผ่านเกณฑ์ในระดับมาตรฐานหรือบรรลุค่าเป้าหมาย คือ ตั้งแต่ระดับคะแนน 3.0000 คะแนนขึ้นไปจึงมีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี และจำนวนเงินรางวัลที่ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาได้รับขึ้นอยู่กับผลการประเมินการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการจังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/may/167.html