แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
( Problem-based Learning )
การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งสมมติฐาน สาเหตุและกลไกของการเกิดปัญหานั้น ค้นคว้าความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป โดยผู้เรียนอาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ มาก่อน แต่อาจใช้ความรู้ที่ผู้เรียนมีอยู่เดิมหรือเคยเรียนมา วิธีการเรียนรู้ตามแนวทางที่มีลักษณะที่สำคัญ คือ
1. เรียนรู้ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องของปัญหานั้นๆ เน้นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ
2. เนื้อหาวิชาจะเป็นลักษณะของการบูรณาการ (Integration) โดยผสมผสานเนื้อหาของหลายๆ วิชาเข้าด้วยกัน
3. เรียนเป็นกลุ่มย่อย โดยมีอาจารย์ประจำกลุ่ม (Facilitator) เป็นผู้สนับสนุนและกระตุ้นนักเรียนต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในกลุ่ม
4. การเรียนรู้และค้นคว้าหาความรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตนเองหรือกลุ่มตั้งไว้ (self-directed learning)
ขั้นตอนของการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
Step 1 อธิบายคำศัพท์หรือข้อความที่ไม่เข้าใจ ทำความเข้าใจกับศัพท์หรือความหมายต่างๆ
ของคำจากปัญหาที่ให้ นักเรียนต้องพยายามหาคำตอบให้ชัดเจนโดยอาศัยความรู้
พื้นฐานของสมาชิกในกลุ่ม หรือจากเอกสารตำราต่างๆ
Step 2 อธิบายว่าเป็นปัญหาอะไร จับประเด็นข้อมูลที่สำคัญหรือปัญหาให้ถูกต้อง
Step 3 ระดมสมอง ( Brain storm) โดยพยายามตอบคำถามหรือสาเหตุที่มาของปัญหาที่
อธิบายไว้ใน Step 2 ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
Step 4 วิเคราะห์ปัญหา (Analysing the problem) พยายามหาเหตุผลที่จะอธิบายปัญหาหรือ
ข้อมูลที่พบ พร้อมกับตั้งสมมติฐานที่เป็นไปได้ ในการอธิบายหรือหาสาเหตุที่มา
ของปัญหานั้นๆ โดยลองพยายามใช้ความรู้เดิมที่นักเรียนมีอยู่หรือเคยเรียนมาแสดง
ความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล จัดลำดับความสำคัญของสมมติฐาน
Step 5 กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้/สร้างประเด็นการเรียนรู้ เพื่อค้นคว้าข้อมูลที่อธิบาย
หรือพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้
Step 6 ค้นคว้าหาความรู้หรือข้อมูลด้วยตนเอง พร้อมทั้งประเมินความถูกต้องโดยอาศัยสื่อ
การเรียนรู้ต่างๆ
Step 7 รายงานผลการศึกษาต่อกลุ่ม (Reporting) นำความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ อธิบายแก้ไข
สมมติฐานที่ตั้งไว้ สรุปเป็นข้อสรุปและหลักการที่ได้จากการศึกษาปัญหา เพื่อ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อย
การเรียนการสอนแบบPBL เป็นการเรียนการสอนอีกรูปแบบใหม่ที่ครูสามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน