ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา แฉนักการเมือง ก้างใหญ่ขวางการปฏิรูปการศึกษาและแก้ไขหลักเกณฑ์การวัดผลเพื่อใช้เลื่อนวิทยฐานะครู แถมเป็นต้นเหตุให้เกิดการทุจริตจ้างเขียนผลงาน ส่วนรัฐต้องเสียค่าโง่ปีละ 2 หมื่นล้านบาทจ่ายเพิ่มค่าผลงาน ขณะที่ครูผ่านการประเมิน “ลอกกันไปลอกกันมา” ไร้คุณภาพ-สอบตกทั้งสิ้น!
ยุบโรงเรียนเล็ก ไม่ยุบโรงเรียนเล็ก ข้อถกเถียงที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ณ เวลานี้นั้น ต้องบอกว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลมีเป้าประสงค์ที่จะ “ผ่าตัด”ระบบการศึกษาของไทย ที่วันนี้อยู่ในขั้น “วิกฤต” แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาครูมิติเดียว
ทั้งนี้เพราะ “ครู” มีปัญหามากมาย ตั้งแต่การขาดแคลนครู-ครูไม่ได้คุณภาพ รวมไปถึงนโยบายการเพิ่มพูนคุณภาพครูด้วยการทำผลงานวิชาการเพื่อใช้ในการเลื่อนวิทยฐานะ ก็เป็นปัญหาใหญ่เพราะได้เกิดการทุจริตในวงการครู มีขบวนการรับจ้างเขียนผลงาน และการทุจริตของคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้อ่านผลงาน จนเป็นเหตุให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าวิทยฐานะเป็นจำนวนมากให้กับครูเหล่านี้
โดยทีม special scoop ได้นำเสนอ “แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ” มาแล้ว 2 ตอน และจะนำเสนอต่อเป็นตอนที่ 3 ซึ่งจะสะท้อนความเห็นของ ดร.ดิเรก พรสีมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ถึงปมประเด็นปัญหาที่เกิดกับระบบการศึกษาไทย
อีกทั้งนโยบายการเลื่อนวิทยฐานะแท้จริงแล้วเป็นต้นเหตุให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ปีละ 2 หมื่นล้านบาทให้กับครูที่ไร้คุณภาพแต่ผ่านการประเมิน
ดร.ดิเรก พรสีมา อดีตประธานกรรมการคุรุสภา, กรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพพ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กำกับดูแลโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งในขั้นตอนของการยกร่างนั้น ทำหน้าที่เป็นหัวหน้านักวิจัยในส่วนของการพัฒนาวิชาชีพครู
โดยจากการทำงานวิจัยพบปัญหาสำคัญที่สะท้อนถึงที่มาของครูว่า คนที่จะมาเรียนครูนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เรียนอยู่ระดับหางแถว และไม่มีคนที่เป็นหัวกะทิของประเทศสนใจมาเข้าเรียนครูเลย ซึ่งส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ได้มีการไปสัมภาษณ์เจาะลึกเด็กนักเรียนห้อง King ของโรงเรียนเตรียมอุดม พบว่า กลุ่มหัวแถวในด้านการศึกษาของไทยกลับสนใจเลือกเรียนในสาขาแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร เป็นหลัก
ที่สำคัญเด็กอยากเรียนแพทย์ต่อมากที่สุด เพราะเด็กมีแนวความคิด 3 ประการสำคัญคือ 1. จบแล้วมีงานทำ 2. รายได้ดี 3. มีเกียรติมีศักดิ์ศรี
“สังคมรับรู้กันว่า มีแต่เฉพาะคนที่เก่งเท่านั้นถึงจะเข้าเรียนแพทย์ได้ ถ้าอยากให้คนอื่นคิดว่าตนเองเก่ง เป็นที่ยอมรับ ก็ต้องสอบเข้าเรียนแพทย์ให้ได้ สายครูจึงได้แต่คนที่ไม่เก่งมาตลอด จุดนี้ยากมากที่จะทำให้นักเรียนเก่งขึ้นมาได้”
ดร.ดิเรกย้ำว่า นั่นคือปัญหาเริ่มต้น เพราะเด็กไทยที่ไม่ได้เรียนกับครูที่เก่ง ก็ทำให้ยากที่เด็กไทยจะไปแข่งขันกับประเทศชั้นนำในอาเซียน เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ หรือแม้กระทั่งจะไปแข่งในภูมิภาคเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียได้
ดังนั้นถ้าอยากให้เด็กไทยเก่ง ก็ต้องหาครูที่มีคุณภาพสูงมาเป็นครู เหมือนกับการที่วิชาแพทย์และแพทย์มีการรับรู้ทางสังคมว่าเป็นอาชีพที่เก่ง และมีเกียรติ รวมถึงได้เงินเดือนดี ซึ่งต่อไปครูต้องรู้สึกว่า วิชาชีพของตัวเองมีความสำคัญมาก เพราะทำให้คนโง่มีความฉลาดขึ้นได้ แต่ว่าเงินค่าตอบแทนก็ต้องให้มีรายได้สูงตามมาด้วย ปัญหานี้จะทำให้ดึงคนเก่ง หัวกะทิของประเทศเข้ามาสู่วงการครูได้
นี่คือแนวคิดของนโยบายการเลื่อนวิทยฐานะที่นับว่าเป็นแนวความคิดที่เห็นแสงสว่างรำไรกับวงการศึกษาไทย!
เน้นวิจัย-ครูทำไม่เป็น
อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของการจัดทำนโยบายนี้ พบว่า วิธีที่จะทำให้ครูมีรายได้สูงขึ้น จะต้องทำให้มีตำแหน่งทางวิชาการ เหมือนที่อาจารย์ระดับอุดมศึกษามี ได้แก่ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์, ศาสตราจารย์ ฯลฯ
แนวคิดนี้จึงถูกปรับนำมาใช้ในการเลื่อนเงินเดือนให้ครู โดยครูคนที่จบปริญญาตรีทำงานมาแล้ว 6 ปี จบปริญญาโททำงานมาแล้ว 4 ปี และครูที่จบปริญญาเอกทำงานมาแล้ว 2 ปี สามารถขอทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะได้ในระดับ ครูชำนาญการ และต่อไปเป็นครูชำนาญการพิเศษ และขอต่อไปในระดับครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษได้ ซึ่งแต่ละขั้นจะต้องมีการทำผลงานทางวิชาการ
ดร.ดิเรกบอกอีกว่า ปัญหาจึงเกิดในขั้นตอนนี้ คือครูไม่ได้มีหน้าที่หลักในการทำวิจัย ไม่เคยเขียนตำราเรียน และไม่ได้มีหน้าที่หลักในการสร้างศาสตร์ใหม่ เหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัย มีแต่งานประดิษฐ์ในกรอบวิชาชีพ ได้แก่ พัฒนาวิธีการสอน, สื่อการสอน, กิจกรรม, หลักสูตร
ดังนั้นจึงคิดว่า สิ่งที่จะมาใช้บ่งบอกความชำนาญการขั้นธรรมดา หรือชำนาญการพิเศษ หรือเชี่ยวชาญนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน คือผลจากการที่นักเรียนมีการเรียนรู้ และมีพัฒนาการของผู้เรียน รวมกับความเป็นแบบอย่างของครู คือ ดี, เก่ง, สุขภาพกายดี, สุขภาพจิตดี เป็นหลัก
“ครูที่ดีจะต้องมีบทบาทต่อการพัฒนาผู้เรียน-คนไทย ต้องทำให้ทุ่มเทความรู้ความสามารถไปที่ผู้เรียน แล้ววัดผลที่ผู้เรียน ซึ่งจะไม่ได้วัดจากสิ่งที่ดีอยู่แล้ว จะต้องวัดจากสิ่งที่ดีขึ้น คะแนนที่เพิ่มในอัตราส่วนที่สูงขึ้น”
แต่แนวความคิดนี้กลับตกไปอย่างน่าเสียดาย!
“นักวิชาการบางคน โดยเฉพาะกลุ่มนักวิจัยที่มาทำงานร่วมกันไม่เห็นด้วย คิดว่าครูที่จะได้เลื่อนวิทยฐานะจะต้องเป็นคนที่ทำวิจัยเป็น และทำวิจัยเก่ง ถึงจะพัฒนาวงการครูได้”
แต่คนเหล่านี้หารู้ไม่ว่าแนวความคิดให้ครูทำวิจัยเป็นและเก่งกำลังทำให้เกิดปัญหาใหญ่ อย่างที่ตอนนี้เรียกว่ายากจะเยียวยาอย่างที่สุด!
ดร.ดิเรกเปิดเผยว่า มีการคิดกันว่าในการเลื่อนวิทยฐานะของครู จะทำให้ง่ายกว่าของอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้วยการใช้ผลงานวิจัยในน้ำหนัก 40% และผลงาน 60%
แต่ทว่า ใน 40% กำหนดไว้ว่าครูระดับเชี่ยวชาญ จะต้องได้คะแนนในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 70% และครูระดับเชี่ยวชาญพิเศษจะต้องได้ระดับนี้ไม่ต่ำกว่า 75% ซึ่งนับว่าเป็นคะแนนที่สูงมากอยู่ดี
ปัญหาเกิดขึ้นทันที เพราะครูจะไม่ได้อ่านงานวิจัยที่ทันสมัย โดยเฉพาะบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษของต่างประเทศ เพราะปัญหาของครูไทยคือไม่เก่งภาษาอังกฤษ ดังนั้น ผลงานวิจัยที่ครูทำออกมาจึงเป็นลักษณะ “ลอกกันไปลอกกันมา” ไม่มีคุณภาพ
ที่สำคัญคือ เรื่องของความถูกต้องของงานวิจัย ความสมบูรณ์ของงานวิจัย ถือว่าครูส่วนใหญ่ล้วนสอบตก!
“รูปแบบก็ผิด การทบทวนวรรณกรรมไม่ต้องพูดถึง ครูทำไม่เป็น ยกตัวอย่างเช่น งานพูดถึงช้าง แต่ทบทวนวรรณกรรมมีแต่ม้า แมว เป็นส่วนใหญ่ มีช้าง 25% ซึ่งไม่ใช่ ผลงานที่ได้ออกมาก็ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ นำไปใช้ในเชิงวิชาการก็ไม่ได้ เพราะทั้งไม่ถูกต้อง ทั้งไม่สมบูรณ์ จะนำไปพิมพ์เผยแพร่ก็ไม่ได้อีก”
จ้างทำผลงานอื้อ-ผลงานลอกไปลอกมา
ที่ผ่านมาจึงเป็นที่รู้กันในวงการศึกษาว่า ครูส่วนใหญ่แห่กันไปจ้างทำงานวิจัยในราคาที่สูงมาก ในอัตราค่าจ้างประมาณ 6 หมื่นบาท-2 แสนบาท ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะครูไม่ได้พัฒนา ผลงานก็นำมาใช้อะไรไม่ได้เลย
“เวลาที่คนนำผลงานไปอ่าน ความถูกต้องต้องได้ 7 คะแนน ปรากฏว่าให้คะแนนไม่ได้ เพราะอันนั้นก็ไม่มี ตรงนี้ก็ไม่ถูก คนเซ็นก็ไม่อยากเซ็นชื่อให้ เพราะว่าชื่อที่ปรากฏอยู่ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าคนเซ็นก็โง่ด้วย ก็ไม่มีใครอยากเซ็น ตรงนี้ก็สอบตกกันระนาว”
ซ้ำร้าย! งานวิจัยส่วนใหญ่ เขียนวนไปวนมา และเป็นข้อมูลที่เก่ามาก คือการปฏิรูปการศึกษาได้มีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์หลายๆ อย่างไปแล้ว แต่คนที่เพิ่งทำงานวิจัยกลับยังอ้างถึงเรื่องเดิมๆ เช่น เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา 2542 มีการจัดตั้งเขตพื้นที่ มีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่งานวิจัยนี้ยังพูดถึงระบบการศึกษาตั้งแต่ปี 2526 ก็มี
ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ ไม่น่าเชื่อถือ แถมไม่ทันสมัย
“ความไม่ทันสมัย มีแต่เรื่องทำซ้ำๆเ ดิมๆ ก็บอกได้คำเดียวว่า มันเหมือนกับแค่ลอกกันไปลอกกันมา ผู้ทำไม่ได้เอาใจใส่ที่จะดูรายละเอียดด้วยซ้ำ”
อีกทั้ง ตำรา งานวิจัย ควรจะสัมพันธ์กับการเรียนการสอน เพราะถือเป็นความใส่ใจของครู แต่ปรากฏว่า ใน 35 ชั่วโมง คือ 7 ชม.ต่อวันที่ครูควรจะสอนนักเรียนนั้น ครูแต่ละคนทำได้คนละกี่ชั่วโมง เพราะครูต้องสอน ต้องเตรียมการสอน ต้องทำผลงานวิชาการ ต้องทำผลงานประกันคุณภาพภายใน-ภายนอก ต้องเตรียมจัดประเพณีต่างๆ ต้องช่วยเหลือหน่วยงานอื่นๆ อีกเท่าไร
นี่คือคำถาม?
โรงเรียนขนาดใหญ่ มีฝ่ายดูแลการเงิน มีครูธุรการ มีครูประสานหน่วยงานต่างๆ ก็มีเวลาสอนเต็มที่ แต่ถ้าโรงเรียนขนาดเล็ก ครูน้อย ครูต้องทำงานทั้งหมด เวลาที่จะใช้สอนนักเรียนยิ่งเหลือน้อยตามไปด้วย
“ที่จริง รัฐบาลไม่น่าพูดว่าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ควรจะใช้วิธีให้เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาความเหมาะสมของโรงเรียนในเขตการศึกษานั้นๆ จะดีกว่า เพราะจะได้รู้ว่าโรงเรียนไหนควรยุบ โรงเรียนไหนไม่ควรยุบ แล้วจะจัดการสนับสนุนการเดินทางของนักเรียนบ้านไกลอย่างไร ตรงนี้ต่างหากคือการแก้ที่ถูกจุด”
ครูดีแห่ลาออก
ทุกวันนี้ครูก็เลยทำงาน “เพียบ!” ครูดีๆ ก็สอนไป แต่ไม่มีเวลาไปทำผลงานเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้ตัวเอง แต่ครูคนที่ว่าง ไม่เก่ง แต่ไปจ้างทำผลงานวิทยฐานะ กลับได้เลื่อนตำแหน่ง และได้เงินเดือนดีๆ ครูที่ดีเริ่มท้อ
ครูคณิตศาสตร์ ครูวิทยาศาสตร์ ครูสังคมศาสตร์ และครูภาษาอังกฤษ โรงเรียนดังทั้งหลาย โดยเฉพาะครูที่ส่งนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยดังต่างๆ ได้ปีละหลายคน แต่ไม่ผ่านการประเมินผลงานเลื่อนวิทยฐานะ เพราะไม่เก่งการทำวิจัย จึงมีความท้อ รู้สึกไม่ยุติธรรม และลาออกก่อนอายุราชการแต่ละปีหลายร้อยคน ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่มากที่ต้องเร่งแก้ไข!
ดร.ดิเรกบอกด้วยว่า ปัญหาครูเก่งที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละสาขา ลาออกกันจำนวนมากแล้ว และยังเห็นว่า การเลื่อนวิทยฐานะครูจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินผลงาน แบบที่เน้นประสิทธิผลที่ตัวเด็กโดยด่วนที่สุด
“ต้องปรับหลักเกณฑ์ เอาผลพัฒนาของเด็ก และแบบอย่างครูที่ดีมาเป็นหลัก ต้องนำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กมาวัด เช่นปีที่แล้ว ทั้งคะแนนในโรงเรียน และคะแนนโอเน็ตของเด็กเป็นเท่าไร สูงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ และต้องดูตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ถ้าได้เพิ่ม 2% 2 ปีขึ้นไปก็ให้ได้รับวิทยฐานะชำนาญการได้ ขึ้น 3% ให้ชำนาญการพิเศษ ขึ้น 5% ให้เชี่ยวชาญ 8% ให้เชี่ยวชาญพิเศษ เป็นต้น อย่างนี้เด็กถึงได้ประโยชน์ ครูดีก็ไม่ท้อแท้”
ที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ต้องเสียงบประมาณในส่วนของค่าวิทยฐานะไปแบบเสียเปล่า เพราะทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องเสียเงินค่าวิทยฐานะปีละ 2 หมื่นล้านเป็นอย่างต่ำ
เพราะเมื่อรัฐต้องจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ไปแล้วก็ควรจะให้ได้ประโยชน์สูงสุดกลับคืนมา!
นักการเมือง “ก้าง” ใหญ่
ดร.ดิเรกย้ำว่า การนำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก มาเป็นตัววัดในการเลื่อนวิทยฐานะนั้น แม้จะเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก
“ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่ทำเรื่องพวกนี้ร่วมกันมาหลายคน ก็ไม่มีใครกล้าเสนอให้นักการเมืองแก้ เพราะนักการเมืองเขามีวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง คือหวังเรื่องคะแนนเสียง ดังนั้นข้าราชการก็ไม่อยากมีปัญหา มีทางเดียวคือเงียบไว้ แม้เห็นอะไรก็ไม่กล้านำเสนอ”
นักการเมืองนี่แหละคือตัวการขัดขวางใหญ่ที่สุด!
“คนมีอำนาจตัดสินคือนักการเมือง คุยกันแล้ว เขาก็ว่าดี แต่พอจะทำจริง นักการเมืองจะมีจุดยืนอีกอย่าง ซึ่งเป็นทุกยุคทุกสมัย ก็คิดว่าเขาอาจจะไม่ได้ศึกษาปัญหาจริง ไม่รู้ว่ามีวิธีแก้ปัญหา หรือบางคนก็ไม่ลึกซึ้งทางปัญญา ตรงนี้ข้าราชการก็ไม่กล้าเสนอความเห็นแบบตรงไปตรงมา เพราะนักการเมืองเองก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ข้าราชการพูด”
การปรับปรุงวิธีการประเมินเลื่อนวิทยฐานะจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้และดูจะถึงทางตัน ดังนั้น พรรคเพื่อไทยในยุคของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็น รมว.ศึกษา “ต้องคิดใหม่ ทำใหม่” และต้องรีบแก้ปัญหา เพราะถ้าไม่สนใจ หรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก การปฏิรูปการศึกษาไทยจะไปไม่ถึงไหน แถมคุณภาพการศึกษาของไทยจะล้มเหลวในที่สุด!
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤษภาคม 2556
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
► แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ จี้รัฐดึงเงินกู้ 2.2 ล้านล้านปฏิวัติระบบการศึกษายุคใหม่! (ตอนที่ 4)
http://www.kroobannok.com/58769
► "แฉนโยบาย ศธ. ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ" รัฐจ่ายค่าโง่ปีละ 2 หมื่นล้านเพิ่มค่าผลงานครูห่วย! (ตอนที่ 3)
http://www.kroobannok.com/58768
► แฉนโยบายศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ! พบแล้ว! ตัวการใหญ่รับจ้างเขียนผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู (ตอนที่2)
http://www.kroobannok.com/58420
► แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ! ครูอยากเติบโตเลื่อนวิทยฐานะ "จ่าย 2 เด้ง" (ตอนที่ 1)
http://www.kroobannok.com/58210