นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ว่า รมว.ศธ.ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษาแล้ว เตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณาสัปดาห์หน้า
ปลัด ศธ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 รมว.ศธ.ได้ลงนามในร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. .... ตามที่ตนได้เสนอ
โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ เปิดช่องให้นักเรียนชายไว้ทรงผมรองทรงได้ โดยระบุว่า ให้ “นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้างและด้านหลังยาวไม่เลยตีนผมหรือผมรองทรงก็ได้“ และให้นักเรียนหญิงสามารถเลือกไว้ทรงผมสั้นหรือยาวได้ โดยระบุว่า “นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย”
อย่างไรก็ตาม ในร่างเดียวกันก่อนที่จะเสนอ รมว.ศธ. พิจารณามีข้อความว่า “ห้ามนักเรียนซอยผม" ด้วย แต่ รมว.ศธ.ให้ปรับแก้ถ้อยคำโดยตัดคำว่า “ห้ามนักเรียนซอยผม” ออก โดยให้เหตุผลว่า การที่นักเรียนตัดรองทรงสั้นได้ไม่เลยตีนผมด้านหลัง ก็ถือว่าเป็นการซอยผมเช่นกัน ดังนั้น เมื่อตัดคำว่า ห้ามซอยผมออก ก็เท่ากับว่า นักเรียนหญิงสามารถซอยผมได้ด้วย
นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังให้เพิ่มคำว่า “หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดเนื่องจากความจำเป็นทาง ศาสนา ประเพณีหรือความจำเป็นอื่นใดก็ให้อยู่ในอำนาจของสถานศึกษานั้นเป็นผู้พิจารณา” และให้ตัดคำว่า “ โรงเรียนอาจกำหนดแบบทรงผมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ โดยให้รับฟังความคิดเห็นและทำประชาพิจารณ์ร่วมกับนักเรียนให้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาก่อน” ออกไป ซึ่งหมายความว่า กฎกระทรวงฉบับนี้จะเปิดกว้างให้อิสระกับนักเรียน ขณะที่โรงเรียนไม่มีสิทธิไปกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ เดิมกฎกระทรวงกำหนดว่าเด็กผู้หญิงไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย แต่บางโรงเรียนกำหนดเพิ่มเติมว่าการรวบให้เรียบร้อย อาจจะหมายถึงการถึงผมเปียอย่างเดียว หรือบางโรงเรียนอาจจะกำหนดว่า ไม่ให้ผมยาวเลยตีนผมไปเกินกว่า 8 นิ้ว เป็นต้น
ดังนั้น หากตัดถ้อยคำนี้ออก เท่ากับว่าโรงเรียนจะไม่สามารถกำหนดอะไรเพิ่มเติมได้อีกเลย เพราะในร่างกฎกระทรวงไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซึ่งการแก้ร่างกฎกระทรวงฯ ครั้งนี้ รมว.ศธ.เป็นผู้ขีดฆ่าถ้อยคำ และพิจารณาข้อกฎหมายด้วยตนเอง จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ขณะเดียวกันในขณะนี้เปิดเทอมไปแล้ว โดยได้รับแจ้งว่ามีบางโรงเรียนในต่างจังหวัดไล่ให้นักเรียนไปตัดผมใหม่เกือบ 300 คน ดังนั้น รมว.ศธ.จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนว่าเวลานี้ขอให้ยึดถือกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2518 เป็นหลัก เพราะกฎกระทรวงดังกล่าวให้เด็กไว้ผมรองทรงได้ หรือไว้ผมยาวได้ตามที่กำหนด ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ไม่ต่างกับร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพียงแต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมบ้าง
ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่นี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 จากนั้นเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะถือว่ามีผลบังคับใช้ ซึ่ง ศธ.จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2556 นี้
สำหรับความเป็นมาในเรื่องทรงผมนักเรียนนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนต่อ ศธ. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้มีมติให้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ ครม. โดย ศธ.ให้ยกเลิกกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องแบบทรงผมของนักเรียนที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่ง ศธ.ยังมิได้ดำเนินการออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ในเรื่องแบบทรงผมนักเรียนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่อย่างใด ทำให้กฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ไม่เป็นปัจจุบัน และมีสาระสำคัญบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ได้กำหนดไว้ 3 หมวด คือ หมวด 1 ความประพฤติ หมวด 2 การแต่งกาย และหมวด 3 ทรงผมนักเรียน
หมวด 1 ความประพฤติ เป็นการกำหนดเรื่องความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของสถานศึกษาที่ตนสังกัดอยู่ และต้องไม่ประพฤติตน ดังต่อไปนี้นี้ หนีเรียนหรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน พกพาอาวุธ หรือวัตถุอันตราย ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน ให้หรือเสพสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา หรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ บังคับขืนใจเพื่อเอาทรัพย์สินบุคคลอื่น หรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหารือการกระทำใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แสดงกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น สถานศึกษาอาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้
หมวดที่ 2 การแต่งกาย นักเรียนและนักศึกษาต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับวัยและสภาพการเป็นนักเรียนและนักศึกษา นักเรียนต้องแต่งกายหรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาต้องแต่งกายหรือแต่งเครื่องแบบนักศึกษาตามข้อบังหรือระเบียบของสถานศึกษานั้น นักเรียนและนักศึกษาไม่ใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งปลอมเพื่อเสริมสวย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็น ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป
หมวด 3 แบบทรงผม นักเรียนต้องไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ ดังนี้ (1) นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้างและด้านหลังยาวไม่เลยตีนผมหรือผมรองทรงก็ได้ (2) นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย ห้ามนักเรียนดัดผม ทำสีผม ไว้หนวดเครา หรือทำการอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน
ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับนักเรียนในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและนักศึกษา โดยให้ไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะตามข้อบังคับหรือระเบียบของสถานศึกษานั้น
หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดไว้ เนื่องจากความจำเป็นทางศาสนา ประเพณีหรือความจำเป็นอื่นใด ก็ให้อยู่ในอำนาจของสถานศึกษานั้นเป็นผู้พิจารณา
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/may/152.html