คอลัมน์ “คุยกับครู รอบรู้คุรุสภา” เปิดกว้างให้เป็นช่องทางการสื่อสารข้อมูล ข่าวสาร และเรื่องราวต่างๆ ของคุรุสภาและเป็นช่องทางรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ของสมาชิกและผู้อ่านทุกท่าน การสื่อสารกับเรา สามารถสื่อสารผ่านทางตู้ ปณ. 13 และทาง e-mail : kuikubkru@ksp.or.th
ก่อนจะถึงเดือนเมษายนเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปี ในวงการศึกษาเราก็มีเรื่องร้อนๆ เกิดขึ้นแล้ว ในเดือนมีนาคม จากข่าวที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งแทบทุกฉบับ คงไม่มีใครไม่รู้เรื่องมีการทุจริตการสอบครูผู้ช่วย มูลเหตุเริ่มจากการที่มีพนักงานราชการคนหนึ่งมีรายชื่อผ่านการสอบคัดเลือกใน 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คนคนเดียวกันจะสามารถไปนั่งสอบ ได้พร้อมกันทั้ง 2 เขตพื้นที่การศึกษา สืบไปสืบมาจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่มีข้อมูลชัดเจนว่าต้องมีการทุจริต หรือมีคนที่กระทำาการทุจริตและกระทำกันเป็นกระบวนการ ซึ่งวิธีการก็น่าจะไม่ต่างจากการสอบเข้ารับราชการตำรวจเมื่อไม่นานมานี้ จนเป็นเรื่องที่สำานักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับไว้เป็นคดีพิเศษ หลายคนอาจจะสงสัยว่าพิจารณาอย่างไรว่าจะเป็นคดีพิเศษ ให้พิจารณาว่าเป็นความผิดคดีอาญาในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 : http://www.dsi.go.th)
1. คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
2. คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
3. คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำาคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
4. คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำาคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
5. คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
ท่านสมาชิกช่วยลองพิจารณาดูว่าการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยเข้าข่ายความผิดข้อใด อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ยังไม่จบและไม่น่าจะจบลงอย่างง่าย เพราะมีผลกระทบต่อคนหมู่มาก แม้ผู้ถูกมองว่าเข้าข่ายน่าจะทุจริตเนื่องจากมีคะแนนผลการสอบสูงผิดปกติ ก็มีจำนวน ถึง 514 คน อยู่ใน 129 เขตพื้นที่การศึกษา มาถึงคุรุสภาที่เป็นผู้อนุญาตให้เขาเหล่านั้นมีสิทธิประกอบวิชาชีพครู หรือเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ จะดำเนินการอย่างไร หรือจะออกมารับผิดชอบดำเนินการอย่างไร
ในความเห็นส่วนตัวแล้ว คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ตั้งแต่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภาแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติในการประกอบวิชาชีพครู จะไปสอบบรรจุที่ไหนก็ได้ถือว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง และขณะนี้ผลการพิจารณายังไม่สิ้นสุดทุกคนจึงยังไม่มีความผิด ต่อเมื่อผลออกมาว่าใครผิดบ้าง ก็คงต้องมาพิจารณาว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภา ซึ่งตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 48 กำาหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาต ต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพตามที่กำาหนดในข้อบังคับของคุรุสภา” คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คงจะต้องพิจารณากันต่อไปว่า การทุจริตในการสอบถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือไม่ และกระบวนการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ก็มีขั้นตอนการดำเนินงานตามที่กฎหมายสภาครูกำหนด ดังนี
มาตรา 51 บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพของผู้ได้รับใบอนุญาต มีสิทธิกล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตนั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อคุรุสภา นอกจากนี้ กรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรือบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพว่าผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยแจ้งเรื่องต่อคุรุสภา นั่นหมายถึง จะต้องมีผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิด จรรยาบรรณของวิชาชีพ มีผู้ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ และมีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษ จึงเกิดกระบวนการพิจารณา
มาตรา 52 เมื่อคุรุสภาได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษ ให้เลขาธิการคุรุสภาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพโดยไม่ชักช้า
มาตรา 53 ให้ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ พร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเริ่มพิจารณา และผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานส่งให้คณะกรรมการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
จากมาตรา 53 ก็จะเป็นกระบวนการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ กล่าวโดยสรุป คือ มีทั้งกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษมีมูลหรือไม่ เพื่อนำไปสู่กระบวนการสอบสวน เพื่อการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ แล้วจึงนำไปสู่การวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
มาตรา 54 คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1) ยกข้อกล่าวหา
2) ตักเตือน
3) ภาคทัณฑ์
4) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี
5) เพิกถอนใบอนุญาต
ทั้งนี้ ผู้ที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยตาม ข้อ 2) ถึง 5) สามารถอุทธรณ์ได้ต่อคณะกรรมการคุรุสภา ตามมาตรา 55
ที่กล่าวมาเป็นกระบวนการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เมื่อมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกระทำผิด จึงเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหาว่า จะรณรงค์ส่งเสริมอย่างไรไม่ให้ประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งเป็นงานหนักของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน ส่วนเรื่องผู้กระทำทุจริตการสอบบรรจุครูว่าผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือไม่ ก็ต้องฝากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่องค่ะ
ยังมีอีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำาคัญในข่าวเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพครู เราจะเห็นว่าเมื่อเวลามีการสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ก็จะมีกระแสความต้องการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทำไมคุรุสภาให้แต่คนที่เรียนครู คนที่เรียนในสาขาวิชาเฉพาะเก่งกว่าคนที่เรียนครูมีตั้งมากมาย ทำไมไม่ให้โอกาส เขาเป็นครูเมื่อเขารักที่จะประกอบวิชาชีพครู คุรุสภาจำกัดสิทธิของบุคคลทำไม และอีกหลายๆ ประเด็นในเรื่องนี้ คุยกับครู รอบรู้คุรุสภา อยากเรียนให้ทราบถึงหลักการของการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หรือวิชาชีพครู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในการเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้สรุปคุณลักษณะวิชาชีพเพื่อเป็นเกณฑ์พิจารณาวิชาชีพชั้นสูงไว้ 6 ประการ คือ
1) วิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีการบริการที่ให้แก่สังคมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและจำาเป็น
2) สมาชิกของวิชาชีพชั้นสูงจะต้องใช้วิธีการแห่งปัญญาในการให้บริการ
3) สมาชิกของวิชาชีพชั้นสูงจะต้องได้รับการอบรมให้มีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้ง โดยใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร
4) สมาชิกของวิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีเสรีภาพในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานของวิชาชีพ
5) วิชาชีพชั้นสูงต้องมีจรรยาบรรณ
6) วิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีสถาบันวิชาชีพเป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์ จรรโลงมาตรฐานของวิชาชีพ
ถ้าจะพิจารณาจากหลักการของวิชาชีพชั้นสูง ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครู จะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อการประกอบวิชาชีพครู ให้มีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้ง โดยใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร ดังนั้นผู้ที่จะได้รับสิทธิในการประกอบวิชาชีพครู จึงต้องพิจารณาจากผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรเพื่อการประกอบวิชาชีพครู ถ้าให้ผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรอื่น ๆ มาเป็นครูได้ โดยไม่มีการศึกษาวิชาว่าด้วยการสอนแล้ว คุรุสภาจะตอบ ผู้ที่เรียนหลักสูตรโดยตรงว่าให้ประกอบวิชาชีพโดยใช้หลักเกณฑ์ใด แล้วคุรุสภาจะรับประกันได้หรือว่าจะเป็นครูได้อย่างมีคุณภาพ เหล่านี้ คือ ประเด็นความต้องการประกอบวิชาชีพครู ที่เป็นมิติใหม่ในวงการก็ว่าได้ หลังจากที่เราผ่านวิกฤตคนไม่อยากเป็นครู ไม่อยากเรียนครู แต่ปัจจุบัน คนต้องการเป็นครูจำนวนมากด้วยค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ด้วยรับทราบข้อมูลความต้องการครูจากข่าวที่ว่าอัตราครูในอีก 10 ปีข้างหน้าจะขาดครูเป็นแสนตำแหน่ง ด้วยปัจจุบันเงินเดือนครูปรับสูงขึ้นจนไม่น้อยหน้ากว่าวิชาชีพอื่น อีกทั้งมีโอกาสได้รับเงินวิทยฐานะได้เทียบเท่าข้าราชการระดับสูง โดยไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเลย เป็นต้น
นอกจากประเด็นที่กล่าวมา 2 ประเด็น ยังมีประเด็นที่จะต้องคิดตามไปด้วย คือ ประเด็นการผลิตครูเกินความต้องการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานรวม 10 ล้านคน และมีอัตราลดลงในทุกปี ในขณะที่สถาบันผลิตครูผลิตครูรวมปีละ 29,000 คน และผลิตตามความพร้อมของแต่ละสถาบัน ไม่ได้พิจารณาตามความต้องการการใช้ ทำาให้มีการผลิตครูใน 7 สาขาวิชา เกินความต้องการ เช่น สาขาพละและสุขศึกษา การศึกษาปฐมวัย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ แต่ในทางตรงกันข้ามในสาขาวิชาช่าง และบางสาขา ที่เป็นความต้องการกลับผลิตน้อย และเห็นว่าควรจะมีหน่วยงานมาดูแลการวางแผนการผลิตครูให้มีความสอดคล้องกับความต้องการ
จากเรื่องที่กล่าวมาแล้วควรจะต้องพิจารณาไปด้วยกันว่า ในขณะที่มีการผลิตครูเกินความต้องการอยู่แล้ว การที่มีผู้ที่ไม่ได้ศึกษาในสาขาวิชาชีพครูต้องการประกอบวิชาชีพครูเพิ่มขึ้นอีก และความต้องการเป็นครูที่มีการแข่งขันกันสูงที่เห็นจากจำนวนคนสมัครสอบบรรจุเป็นครูเทียบกับตำาแหน่งที่เปิดรับ เป็นสาเหตุให้เกิดการทุจริตในการสอบครูผู้ช่วย มีความเป็นไปได้ไหม คิดว่าคงปฏิเสธยากว่าทั้ง 3 เรื่อง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ก็คงต้องฝากผู้รับผิดชอบ ทั้งในส่วนของผู้รับผิดชอบนโยบาย สถาบันผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ และคุรุสภา รับไปพิจารณาแก้ไขปัญหานะคะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
ที่มา คอลัมน์คุยกับครู รอบรู้คุรุสภา