Advertisement
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารฝ่ายการเมือง คือ นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.วรกร คำสิงห์นอก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
|
● ความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา
ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ (ศพส.ศธ.) ภายใต้โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ซึ่งได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ปี 2556 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม พร้อมทั้งได้มอบหมายภารกิจให้ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด ศธ.ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ดังนี้
- มาตรการค้นหา ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทุกแห่ง มอบหมายให้ครูดำเนินการคัดกรอง ค้นหา นักเรียนนักศึกษา โดยจำแนกเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด และกลุ่มค้า ภายหลังเปิดภาคเรียนเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
- มาตรการบำบัดช่วยเหลือ ให้ดำเนินการตามมาตรการในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเสพและกลุ่มติด ให้สถานศึกษานำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในส่วนของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำเนินการภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2556 และสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ให้ดำเนินการภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 และจะต้องประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย, กลุ่มเสี่ยง ให้นำเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกลุ่มค้า ให้มีการป้องปราม
- โครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข ให้สถานศึกษาสังกัด ศธ.ทุกแห่ง ดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข และแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการ 5 มาตรการ ได้แก่ ป้องกัน ค้นหา รักษา เฝ้าระวัง และบริหารจัดการ รวมทั้งการขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ 4 ต้อง 2 ไม่ ดังนี้
1) สถานศึกษาต้องมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สอดคล้องกับสภาพปัญหายาเสพติดและบริบทในพื้นที่
2) สถานศึกษาต้องมีแผนงานด้านยาเสพติดในสถานศึกษาที่ชัดเจน
3) สถานศึกษาต้องพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ 4 ระบบ ได้แก่ ระบบป้องกัน ระบบเฝ้าระวัง ระบบศูนย์ช่วยเหลือ และระบบบริหารจัดการ
4) ต้องมีเครือข่ายการทำงานระหว่างนักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน
และ 2 ไม่ ได้แก่ ไม่ปกปิดข้อมูลกลุ่มผู้เสพ กลุ่มผู้ติด และกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในสถานศึกษา และไม่ผลักปัญหาหรือไล่นักเรียนออกนอกสถานศึกษา แต่ให้นำไปรับการบำบัดรักษา และเมื่อหายแล้วให้กลับมาเรียนตามปกติ
ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ปี 2556 มีกำหนดจัดอีก 3 ครั้งในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ครั้งที่ 2 วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ที่จังหวัดขอนแก่น, ครั้งที่ 3 วันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ที่จังหวัดชลบุรี และครั้งที่ 4 วันที่ 17 พฤษภาคม 2556 จังหวัดภูเก็ต
● ผลการดำเนินงานของส่วนราชการ
1) ที่ประชุมรับทราบผลการตรวจราชการ งวดที่ 1/2556 ของผู้ตรวจราชการ ศธ.ในการลงพื้นที่ตรวจราชการกรณีปกติ กรณีตรวจราชการแบบบูรณาการ และกรณีพิเศษ ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2556 ในประเด็นการตรวจ ติดตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของ รมว.ศธ.ใน 16 นโยบาย เพื่อรับทราบสภาพปัจจุบัน ปัญหา และข้อเสนอแนะการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีหน่วยรับตรวจ ได้แก่ หน่วยงาน/สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 1-18 และกรุงเทพมหานคร โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
- นโยบายการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ การสร้างระบบให้เด็กค้นพบความถนัดของตัวเอง ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านหนังสือและเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ปรับเปลี่ยนบทบาทของครูให้เป็นผู้ร่วมคิด/ชี้แนะ ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลดเนื้อหาบางรายวิชา และการสนับสนุนงบประมาณรายหัว ค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริมนมแก่โรงเรียนสาธิต
- นโยบายการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งภายในประเทศและระดับสากล มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพอย่างจริงจัง การประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนนักศึกษาเห็นความสำคัญของสายอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง การจัดครู/อาจารย์สอนให้ตรงตามคุณวุฒิ และการร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาต่างชาติเพื่อแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา
- นโยบายการปลูกฝังคุณธรรมและจิตสำนึกประชาธิปไตย มีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมนักเรียน/กลุ่มนักเรียน ครู ผู้บริหาร และโรงเรียน ที่ดำเนินกิจกรรมการปลูกฝังคุณธรรมและจิตสำนึกประชาธิปไตย
- นโยบายการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ เตรียมความพร้อมให้นักเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ สนับสนุนการเรียนภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน มีการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างประเทศ จัดอบรมครูให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ สนับสนุนงบประมาณการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการดูงานต่างประเทศ และกำหนดให้ข้าราชการครูบรรจุใหม่เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
- นโยบายการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตเน้นผู้สูงอายุ มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ กศน.ควรจัดระบบการศึกษารองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งมีบทบาทในการจัดทำโลโก้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่ให้สวยงาม การเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและกิจกรรมต่างๆ
- นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ สถานศึกษาไม่ควรปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความร่วมมือและบูรณาการการทำงานเชิงรุก จัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤติ และจัดกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี
- นโยบายการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ มีการพัฒนา Software ใหม่ มีศูนย์ซ่อมบำรุงทุกจังหวัด ให้การสนับสนุนระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
- นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย มีข้อเสนอแนะให้สถานศึกษากระตุ้นครูทำวิจัยในชั้นเรียนมากขึ้น
- นโยบายกองทุนตั้งตัวได้ มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ กำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและรวดเร็ว ดำเนินการประชาสัมพันธ์ในสถานศึกษาและให้นักศึกษาได้รับทราบอย่างทั่วถึง
- นโยบายกองทุนพัฒนาสตรี มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานและสถานศึกษา รวมทั้งสร้างช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายให้นโยบายลงไปสู่พื้นที่
- นโยบายผลักดันการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชน มีอุปสรรคด้านงบประมาณและประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย
- นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีอุปสรรคเรื่องงบประมาณ ขาดบุคลากรปฏิบัติงานด้านการบัญชี และบุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบการควบคุมภายใน
- นโยบายการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ สถานศึกษาควรจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน และมีการวางแผนระยะยาวในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก
- นโยบายการพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ การพัฒนาครูควรดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูปหลักสูตร พัฒนาครูเรื่องการออกข้อสอบ และเพิ่มอัตราข้าราชการครู
- นโยบายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ สนับสนุนให้ครูพัฒนาสื่อเพื่อใช้กับการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต พร้อมทั้งสามารถนำไปเป็นผลงานประเมินวิทยฐานะ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการมากขึ้น
- นโยบายการติดตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีข้อเสนอให้ ศธ.ควรกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอย่างจริงจัง และสถานศึกษาควรติดตามเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศของนักเรียนซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
2) ที่ประชุมรับทราบผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2556 ของ รมว.ศธ.และคณะ ซึ่งได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส มีการเยี่ยมชมสภาผู้แทนราษฎร สังเกตการณ์การอภิปรายของสภา ได้เข้าพบวุฒิสมาชิกของฝรั่งเศส จำนวน 6 ท่าน รวมทั้งเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส เป็นเรื่องสืบเนื่องเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเดินทางเยือนไทย และได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเรื่องรับอาสาสมัครฝรั่งเศสเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในไทย ซึ่งจากการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้มีโรงเรียนที่ประสงค์ขอรับครูอาสาสมัครประมาณ 20 โรงเรียน สต.สป.กำลังประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเพื่อที่จะดำเนินการให้อาสาสมัครเข้ามาในไทยช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้เยี่ยมชมสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนเน้นด้านเทคโนโลยีและการฝึกอาชีพ ซึ่งเป็นสถาบันที่รับเด็กเก่ง เด็กที่มีความเป็นเลิศ และรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนด้วย เช่น จีน เวียดนาม ซึ่งก็เคยมีนักศึกษาไทยเข้าไปเรียนด้วยเช่นกัน
รมว.ศธ.ได้ฝากให้ที่ประชุมรับทราบและดำเนินการในประเด็นต่างๆ คือ
- การสอบครูผู้ช่วย ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลการสอบให้มีความรัดกุม โปร่งใส และเป็นธรรมมากที่สุด ในกรณีที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหลายบอกว่าไม่สามารถติดต่อสถาบันการศึกษาได้ เข้าใจว่าที่ประชุม ก.ค.ศ.ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาเหล่านั้น ดังนั้นจึงสามารถติดต่อสถาบันการศึกษาเขตพื้นที่ที่มีความน่าเชื่อถือได้ ซึ่งอาจจะมีการติดต่อจากหลายกลุ่ม สถาบันการศึกษาก็จะทำงานง่ายขึ้น เพราะออกข้อสอบเพียงครั้งเดียวสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด และโอกาสที่หลายๆ กลุ่มจะเลือกสถาบันการศึกษาเดียวกันจึงมีความเป็นไปได้สูง
- การปฏิรูปหลักสูตร ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีศาสตราจารย์พิเศษภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ.เป็นประธาน และมีผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการ กำลังดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 เดือนข้างหน้า จึงขอให้ช่วยกันสนับสนุนและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะทำให้หลักสูตรที่ออกมาเป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ
- อัตราค่าจ้างครูและบุคลากร ขณะนี้ยังมีหน่วยงานของ ศธ.ที่จ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาในอัตราต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เช่น ครูช่วยสอน เงินเดือนเพียง 5,000 บาท เมื่อคำนวณเวลาทำงานจริง ปรากฎว่าทำงานทั้งวัน แต่ได้รับค่าแรงต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ ขอให้ช่วยกันดูเพื่อไม่ให้มีการจ้างในอัตราต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะรัฐเป็นคนจ้าง ทั้งที่รัฐมีนโยบายให้เอกชน 300 บาท แต่ทำงานกับรัฐก็จะต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาทเช่นกัน ดังนั้นหากมีปัญหาในส่วนนี้สามารถเสนอของบประมาณ นอกจากนี้ขอให้พิจารณาผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ได้รับค่าจ้างรายเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทด้วย
รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ได้รับรายงานจาก สป.ในการจ้างลูกจ้างทั่วไปที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษา จะจ้างในอัตรา 9,000 บาทต่อเดือน แต่ตำแหน่งใดที่ระบุว่าต้องใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี ก็จะได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 15,000 บาท สำหรับการจ้าง ครู กศน.วุฒิปริญญาตรีจ้างในอัตรา 11,000 บาท ซึ่งหากจะปรับให้ครู กศน.วุฒิปริญญาตรีได้รับเงินเดือน 15,000 บาท จะต้องปรับเงินรายหัวของนักเรียนนักศึกษาเพิ่มขึ้น รมว.ศธ.จึงได้มอบหมายให้ กศน. รวบรวมจำนวนงบประมาณที่จะใช้สำหรับปรับเงินเดือนครู กศน.วุฒิปริญญาตรีให้เป็น 15,000 บาท
- วิธีประเมินวิทยฐานะของครู ที่ผ่านมา ศธ.ประเมินวิทยฐานะของครู โดยเน้นเรื่องผลงานและเอกสาร ซึ่งก็เป็นเอกสารที่ทำเองบ้าง จ้างทำบ้าง แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีการสอนของครูมีคุณภาพหรือไม่ อย่างไร เพราะครูบางคนทำเอกสารผลงานดีมาก แต่อาจจะสอนไม่เก่ง ไม่ดี ก็เป็นไปได้ ซึ่ง ศธ.ไม่ต้องการเช่นนั้น แต่ต้องการให้ปรับการประเมินวิทยฐานะของครูโดยเน้นที่ความสามารถในการสอนของครู และดูผลจากการสอนว่าช่วยพัฒนาเด็กได้อย่างไร ขอให้พิจารณานำส่วนนี้มาพิจารณาในการประเมินวิทยฐานะด้วย
- โรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ.ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กว่า ได้รวบรวมจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่จะดำเนินการจัดสรรควบรวมหรือยุบจำนวน 2,300 แห่ง และได้จัดทำแผนบริหารจัดการเคลื่อนย้ายนักเรียน รวมทั้งได้ประสานกับภาคธุรกิจเกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียนด้วย ซึ่งการพิจารณาว่าจะควบรวมหรือยุบนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน หากโรงเรียนใดมีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ก็คงจะต้องยุบ ซึ่งการยุบเลิกโรงเรียนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ฉะนั้นการดำเนินการควรจะต้องใช้วิธีการผสมผสานทั้งหลักเกณฑ์เรื่องจำนวนเด็กและความรับรู้ ความเข้าใจของชุมชนด้วย
สำหรับงบประมาณรถรับส่งที่ได้รับในปีนี้จำนวน 1,000 คัน รมว.ศธ.มีความเห็นว่า ในหลายจังหวัดมีเอกชนบริการรถรับส่งนักเรียนอยู่แล้ว โดยคิดค่าบริการวันละ 10 - 15 บาทต่อคน กรณีเช่นนี้น่าจะดีกว่าซื้อรถเองหรือไม่ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างคน การดูแล และทำให้ทราบค่าใช้จ่ายในแต่ละปีอย่างชัดเจน โดยคิดจากจำนวนนักเรียน แต่หากซื้อรถเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการซื้อรถ ค่าจ้างคน ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ซึ่งจำนวนค่าใช้จ่ายในแต่ละปีไม่มีความแน่นอน ขอให้ช่วยกันพิจารณาทบทวนระหว่าง 2 ระบบนี้ หากมีกลไกอื่นที่ดีกว่าการจัดหารถให้กับโรงเรียนเอง ก็ควรจะทำ หรือส่วนใดที่ดีจริงๆ ก็ให้ใช้รถที่เราจะจัดสรรให้ในจำนวน 1,000 คน เพราะมีหลายแห่งมีคนที่มีรถอยู่แล้วต้องการช่วยดำเนินการในส่วนนี้
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
- การทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ มีจิตแพทย์ท่านหนึ่งได้บอกว่าเด็กอาชีวะเพียง 10% เท่านั้นที่มีปัญหา เพราะเด็กบางคนรู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกมองในแง่ไม่ดี ไปไหนก็มีคนมองว่าเป็นพวกที่ชอบตีกัน บางรายถูกจัดในกลุ่มเสี่ยงอีก จึงขอให้เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมคุณค่าในตัวเอง เพื่อให้คนอื่นชื่นชมในตัวเด็กอาชีวะ เช่น ออกไปตั้งศูนย์ Fix-it Center ออกไปซ่อมสร้างซ่อมแซมตามที่ต่างๆ มากขึ้น เพื่อทำให้คนมองภาพลักษณ์อาชีวะดีขึ้น ผู้ปกครองก็อาจจะมีความสนใจส่งลูกมาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นด้วย โดยขอให้จัดกิจกรรมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ ด้วยรูปแบบการปูพรมกระจายไปให้บริการประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะเด็กอาชีวะมีความสามารถอยู่แล้ว ทั้งในการซ่อมแซม ดูแลสายไฟ ย้ายปลั๊กไฟ ซ่อมอุปกรณ์ เมื่อทำเช่นนี้คนก็จะชื่นชม เด็กเหล่านี้ก็จะรู้สึกว่ามีคนชื่นชม รู้สึกภูมิใจ ซึ่งปกติเมื่อมีคนชื่นชมก็จะพยายามทำตัวให้ดี ไม่พยายามทำให้คนชื่นชมกลับกลายเป็นตำหนิด้วยคำด่าลับหลัง
- การพัฒนาภาษาอังกฤษ รมว.ศธ.ต้องการให้เพิ่มจำนวนครูที่ผ่านการพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยระบบ English for Integrated Studies (EIS) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาการสื่อสารภาษาอังกฤษระบบหนึ่งที่ได้ผลเป็นอย่างดี จากนั้นจึงจะต่อยอดครู EIS ด้วยระบบถอดรหัสเสียง Synthetic Phonics เพราะครู EIS พูดภาษาอังกฤษได้ แต่ต้องพัฒนาเรื่องของสำเนียงเพิ่มเติม ให้มีสำเนียงที่ดี ถูกต้อง และมีความไพเราะ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การใช้ภาษาอังกฤษไม่พัฒนา เพราะหูแยกเสียงไม่ออก ทำให้ไม่สามารถเลียนแบบเสียงที่ถูกต้องได้ เพราะไม่รู้ต้นกำเนิดของเสียง ประการแรกจึงต้องการเพิ่มจำนวนครู EIS ก่อน จากนั้นจึงจะปรับครูที่มีอยู่ให้สามารถฟังต้นกำเนิดของเสียงได้
- มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ขณะนี้มีการกำหนดมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ซึ่งภายในเดือนมิถุนายน 2556 เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต้องทำตามมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ขอให้ช่วยไปกำชับให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ของทุกหน่วยงานดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐด้วย รวมทั้งจัดให้มีภาษา 2 ภาษา คือไทยและอังกฤษ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีภาษาอังกฤษทุกหัวข้อ แต่อย่างน้อยในเรื่องที่สำคัญๆ ควรจะมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและมีเนื้อหาสาระมากพอที่จะให้คนที่ไม่รู้ภาษาไทย เมื่อเข้ามาอ่านเว็บไซต์แล้วได้รับข้อมูลและเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ พอสมควร
- วันวิสาขบูชาโลก รัฐบาลขอความร่วมมือ ศธ.ส่งบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม “สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาโลก” ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2556 ที่ท้องสนามหลวง รมว.ศธ.จึงได้มอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
- ผู้เรียนหลักสูตรสองภาษา รมว.ศธ.ขอให้หน่วยงานต่างๆ รวบรวมจำนวนผู้เรียนที่เรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในระบบ English Program (EP) Mini English Program (MEP) ของ สพฐ. สช. และ สกอ. รวมทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษของ กศน.ด้วย เพื่อจะได้ทราบข้อมูลภาพรวมจำนวนผู้เรียนในระบบที่เน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาอื่นของ ศธ.
- การประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-ยุโรป รมว.ศธ.แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคมนี้ ตนพร้อมคณะของ สกอ.จะเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-ยุโรป ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะมีทั้งการประชุมใหญ่และการหารือทวิภาคี หากหน่วยงานใดมีประเด็นที่ต้องการให้หยิบยกขึ้นมาหารือหรือดำเนินการกับ รมว.ศธ.เอเชียและยุโรปประเทศใด ก็สามารถแจ้งมาได้
|
ที่มา http://www.moe-news.net/index.php?option=com_content&task=view&id=3085&Itemid=&Itemid=&preview=popup
Advertisement
เปิดอ่าน 31,860 ครั้ง เปิดอ่าน 4,591 ครั้ง เปิดอ่าน 12,873 ครั้ง เปิดอ่าน 11,180 ครั้ง เปิดอ่าน 73,820 ครั้ง เปิดอ่าน 2,100 ครั้ง เปิดอ่าน 44,733 ครั้ง เปิดอ่าน 20,380 ครั้ง เปิดอ่าน 20,023 ครั้ง เปิดอ่าน 12,253 ครั้ง เปิดอ่าน 7,743 ครั้ง เปิดอ่าน 6,103 ครั้ง เปิดอ่าน 5,138 ครั้ง เปิดอ่าน 12,990 ครั้ง เปิดอ่าน 8,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,592 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 26,157 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,990 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,292 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,782 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 6,439 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,669 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 44,880 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 10,966 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,169 ครั้ง |
เปิดอ่าน 41,337 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,726 ครั้ง |
เปิดอ่าน 110,319 ครั้ง |
|
|