ในการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ซึ่งมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มีนโยบายที่จะพิจารณาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านหลักสูตรการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินที่ ก.ค.ศ.กำหนด จึงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเยียวยาให้มีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1.คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ คือ
(1) เป็นผู้ผ่านการพัฒนาตามหลักสูตรการพัฒนาให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.4/0164-0169 ลงวันที่ 23 มกราคม 2552 แต่เสนอผลงานทางวิชาการแล้วไม่ผ่านการประเมิน
(2) ปัจจุบันต้องดำรงตำแหน่งและปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งและวิทยฐานะตามที่ได้ขอรับการประเมินไว้เดิม
(3) เป็นผู้สมัครใจเข้ารับการพัฒนา และยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้กำหนด
2.ให้ยื่นขอมีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ได้เพียงครั้งเดียว โดยให้ยื่นคำร้องต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้น และส่งถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ภายในวันที่ 1-20 เมษายน
3.หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ให้มีการพัฒนาและประเมิน ดังนี้
(1) การพัฒนาตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ. กำหนด คะแนนเต็ม 200 คะแนน
(2) การพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
(3) การรายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
(4) ผลงานทางวิชาการ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
4.การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการพลศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน สำนักงาน กศน. ให้ส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการพัฒนา
(2) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ในแต่ละจังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่มีเขตเดียวในจังหวัดนั้น เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในจังหวัดนั้นๆ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาดังกล่าวข้างต้นอาจดำเนินการร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาใกล้เคียงได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น
(3) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้แต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการพัฒนา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอาจดำเนินการร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใกล้เคียงได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดในการดำเนินการพัฒนา และวิธีการในทางปฏิบัติอีกหลายประการซึ่งจะได้นำเสนอในสัปดาห์หน้า
จรุงรัตน์ เคารพรัตน์
ผอ.ภารกิจระบบตำแหน่งและวิทยฐานะที่ 1
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556