ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ เพื่อนๆ ครูทั่วประเทศ คงได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับ การทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และคงลุ้นกันตัวโก่งว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดี เอสไอ) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
และ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะจัดการอย่างไรกับ "ขบวนการ" ทุจริตสอบครูผู้ช่วย "พนักงานราชการ" ที่ร่วมทุจริต และ "ผู้บริหาร" สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบครั้งนี้
ล่าสุด ที่ประชุม ก.ค.ศ.เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และประธาน ก.ค.ศ.มีมติให้แจ้งไปยัง 129 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งรวม 4 เขตพื้นที่ฯ ที่ดีเอสไอพบหลักฐานทุจริต ไปให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ตรวจสอบว่าผู้มีคะแนนสูงผิดปกติ 514 ราย ทุจริตหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อมูลการสอบสวนของดีเอสไอ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตสอบครูผู้ช่วยของ ศธ.ที่จะส่งไปพร้อมข้อมูลคะแนนจาก สพฐ.ไปยังเขตพื้นที่ฯ ภายใน 3 วัน และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน หลังดีเอสไอชี้มูลว่ามี 4 เขตพื้นที่ฯ ที่มีหลักฐานการทุจริตชัดเจน แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการทุจริตครั้งนี้เชื่อมโยงกับผู้บริหาร สพฐ.คนใด!!
ทำเอาคนที่อยากให้ ศธ.จัดการกับขบวนการทุจริต และผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างเด็ดขาดนั้น เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของวงการ
"ครูไทย" ถึงกับ "ผิดหวัง" ไปตามๆ กัน
งานนี้ทำท่าจะกลายเป็น "มวยล้ม ต้ม คนดู" ไปซะแล้ว ทั้งๆ ที่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะเอาคนที่อยู่ในขบวนการโกงสอบมาลงโทษให้ได้!!
เพราะทันทีที่ ก.ค.ศ.มีมติให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไปพิจารณาว่าจะยกเลิกการสอบครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ มีเสียงสะท้อนจากเขต พื้นที่ฯ ว่า ก.ค.ศ. "ลอยตัว" เหนือปัญหา ทั้งๆ ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ แต่กลับโยนภาระให้เขตพื้นที่ฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็น คนดึงอำนาจการจัดสอบของเขตพื้นที่ฯ ไปให้ส่วนกลางเป็นผู้จัดสอบ
ฉะนั้น ต้องจับตาดูว่าคนที่กระทำผิด และทุจริตในการสอบ จะถูกยกเลิกการบรรจุ และถูกลงโทษหรือไม่ และคนที่สอบด้วยความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง แต่ถูกเบียดออกไปเพราะมีการทุจริต จะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
นอกจากนี้ เพื่อนๆ ครู และบุคคลทั่วไปที่อยากจะสอบบรรจุ "ครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป" ที่จะมีขึ้นช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม 2556 คงอยากรู้ว่า ก.ค.ศ.จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร และมีมาตรการอย่างไรเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วย เตรียม "ล้างตา" ให้กับผู้ที่จ่ายเงินแต่สอบไม่ได้ในรอบที่ผ่านมา
หลังจาก ก.ค.ศ.ยืนยันว่าจะจัดสอบบรรจุครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปในเดือนเมษายน ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การสอบใหม่ โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ รวมกลุ่มกันจัดสอบ แบ่งเป็น 12 กลุ่มเขตตรวจราชการ และให้มีสอบสัมภาษณ์ โดยให้ "มหาวิทยาลัย" เป็นผู้ออกข้อสอบ โดยแต่ละกลุ่มจะต้องจัดหามหาวิทยาลัยที่จะมาออกข้อสอบเอง และให้สมัครสอบได้เพียงเขตพื้นที่ฯเดียว โดยห้ามสมัครสอบซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายก็ยังไม่มั่นใจว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะช่วยป้องกันการทุจริตได้หรือไม่ โดยเฉพาะที่ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯรวมกลุ่มกัน และหามหาวิทยาลัยที่จะออกข้อสอบเอง เพราะหากไปว่าจ้างมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา ก็อาจเกิดการ "ตุกติก" หรือ "ฮั้ว" กันได้...
ฉะนั้น เพื่อนๆ ครู คงต้องช่วยกันจับตาดูว่า การสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปในเดือนเมษายนนี้ จะเกิดประวัติศาสตร์ "โกง" ซ้ำรอย..หรือไม่!!
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)