ดร.พิษณุ ตุลสุข
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
ถือเป็นเรื่องดังฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศและชาวโลก เมื่อเกิดการทุจริตในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยของประเทศไทย เป็นข่าวใหญ่และเป็นที่ติดตามความคืบหน้าในการตามจับตัวขบวนการผู้ทุจริตให้ปรากฏ และบางกระแสยังบอกว่างานนี้อาจเป็น 'มวยล้ม ต้มคนดู"ระหว่างที่ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำโดย นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริต ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนฯ กำลังเดินหน้าสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วยกรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว.12 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีการจัดสอบไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา
โดยผลการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นของดีเอสไอตรงกับผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 4 เขตพื้นที่การศึกษา คือ สรุปรายงานชี้ชัดว่าการทุจริตมีบุคคล 3 ส่วนเกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้เข้าสอบ โดยข้อพิรุธการทุจริตมากถึง 9 ข้อสำคัญ
นับเป็นโอกาสดีในช่วงที่กำลังรอผลว่าทางดีเอสไอกำลังพิจารณาว่าจะรับทำเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น? ทีมข่าวเดลินิวส์ มีโอกาสได้รับเกียรติจากทาง ดร.พิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ได้เขียนบทความพิเศษผ่านทางเดลินิวส์ เพื่อให้กำลังใจกับวงการพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ เรื่อง "อย่าสิ้นหวังครูดี เพียงเพราะมีการทุจริตสอบครู"
ดร.พิษณุ เปิดใจว่าถึงแม้ขบวนการทุจริตจะยิ่งใหญ่อย่างไร มีความร่วมมือโกงจากใครเป็นผู้ใหญ่ระดับไหนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เชื่อว่าผลจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แต่งตั้งโดย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ คงจะสาวไปถึงแน่นอน
คำถามของสังคมก็คือ ทำไมคนที่อยากเป็นครูจึงร่วมขบวนการทุจริตถึงจำนวน 400-500 คน คนที่จะไปเป็นครูแต่ยอมทุจริตเพื่อเป็นครู จึงเป็นคำถามว่า ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน คนเหล่านี้ได้เข้าไปรับราชการเป็นครูจริง ๆ เขาจะสอนลูกศิษย์อย่างไร เพราะเมื่อต้นธารแห่งความดีได้แม่พิมพ์ที่ไม่ดีตั้งแต่ต้น อนาคตของลูกหลานอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หรือจะเป็นสังคมอุดมด้วยคนโกง
รัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในนโยบายข้อ 1.3 ไว้อย่างชัดเจนว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง
ดังนั้นวันนี้จึงจำเป็นต้องรักษานโยบายที่จะธำรงไว้ซึ่งการสร้างแม่พิมพ์ที่ดีของประเทศชาติ!
แต่เป็นที่น่าแปลกใจตรงที่ ขบวนการทุจริตครั้งนี้ ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่างฟันธงว่ามีการร่วมกันทุจริตจากผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในรั้ววังจันทรเกษมด้วย ยิ่งทำให้เป็นความคลางแคลงใจสงสัยต่อไปว่า ถ้าผู้คุมบังเหียนการจัดการศึกษาในรั้วเสมาเป็นอย่างนี้แล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชาในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและระดับโรงเรียนจะเป็นอย่างไร คิดไปแล้วก็วังเวง?
ความหดหู่หัวใจคนไม่เกิดเฉพาะแต่คนในสังคมหรือสาธารณชน แต่คนในวงการศึกษาเองก็หดหู่ว่าเกิดอะไรขึ้นในยุคสมัยอย่างนี้ วิชาชีพครูที่ออกกฎหมายมารองรับเป็นวิชาชีพควบคุม ใครจะเป็นครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจึงจะเป็นครูได้ เป็นวิชาชีพชั้นสูงมีค่าตอบแทนสูง เด็กจบจากมัธยมศึกษาตอนปลายต่างมุ่งหน้าและใฝ่ฝันจะเป็นครู โดยมียอดการสมัครเข้าคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์สูงกว่าคณะอื่น ๆ ในทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นเด็กเก่ง เด็กดีที่อยากเป็นครู เป็นอนาคตของอนาคตประเทศไทยในการที่จะสร้างผลผลิต คือ ประชากรในอนาคตของประเทศให้มีคุณภาพ คุณธรรมและเป็นคุณค่าสำคัญ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าของประเทศ
เมื่อเป็นข่าวฉาวโฉ่ เป็นวิกฤติที่ต้องยอมรับว่าได้เกิดขึ้นจริงในวงการศึกษาของประเทศ ควรใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการที่จะปฏิวัติระบบการสอบบรรจุครู โดยตั้งคำถามแบบนอกกรอบว่า ทำไม 'นักเรียนนายร้อย" ไม่ต้องไปสอบบรรจุเป็น 'นายทหาร" เป็น 'นายตำรวจ" แต่ทำไมเป็นบัณฑิตที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เป็นบัณฑิตครูแล้วต้องไปสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นครู ปีหนึ่ง ๆ สมัครกันประมาณ 1 แสนคน
มีความเห็นว่าน่าจะมีวิธีคิดใหม่ที่ควรคัดเด็กดี เด็กเก่งและมีศรัทธาต่อวิชาชีพครู ปรารถนาที่จะเป็นครู ที่เราคัดเลือก"สุดยอด"เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายเหล่านี้จากทุกเขตพื้นที่ในประเทศไทย นำมาเรียนในสถาบันผลิตครูที่เป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั่วประเทศ แต่ให้เลือกว่าสถาบันนี้จะผลิตครูวิชาเอกอะไร ไม่ใช่ผลิตเก่งไปทุกวิชาเอก เลือกวิชาเอกที่เป็นหนึ่งของสถาบันนั้นไม่เกิน 3 วิชาเอก
ลองคิดดูได้ว่าถ้า ตัวป้อน ที่คัดเด็กดี เด็กเก่ง มาเรียนครูในสถาบันผู้ผลิต ที่มีคุณภาพเยี่ยม และมีกติกากำกับต้องเรียนไม่ต่ำกว่าเกรด 3.00 ถ้าต่ำกว่านี้ก็หลุดไปจากโอกาสที่จะเป็นครูตามแนวคิดนี้ ถ้า ตัวป้อน ดีกระบวนการผลิตดี โดย ทฤษฎีระบบ ก็ยืนยันว่า ผลผลิต จะต้องดี ดังนั้นหากใช้ระบบนี้เราก็จะมีครูในอนาคตที่ดี และสามารถส่งครูดีเหล่านี้กลับไปบรรจุและแต่งตั้งเป็นครูที่ภูมิลำเนาหรือจังหวัดหรือเขตพื้นที่ ของตนเอง
หากเป็นเช่นนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ต้องมีนโยบายครูคืนถิ่นหลอก ๆ และไม่เป็นธรรมเพื่อสร้างภาพอีก เพราะผลผลิต คือ บัณฑิตครูได้คืนถิ่นตั้งแต่วันบรรจุใหม่แล้ว และที่สำคัญคือไม่ต้องมีการสอบแข่งขันสอบคัดเลือกให้ขบวนการทุจริตจ้องหาประโยชน์และสร้างความอื้อฉาวทำลายสังคมครูอีก
โครงการ ครูมืออาชีพ ของรัฐบาลเป็นทางออกที่สามารถทำได้ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่ ก.ค.ศ. (คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) สามารถกำหนดได้ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และ หน่วยงานผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นับจากปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป จะมีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการกว่า 20,000 คน จนถึง ปี พ.ศ.2562 จะมีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการถึง 26,000 กว่าคนและยังไม่นับรวมครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและ กศน.
หากมีกระบวนการวางแผนที่ดี ว่าเขตพื้นที่การศึกษาใดต้องการครูวิชาเอกอะไร เท่าไรใน 5 ปีข้างหน้า โดยทำแผนเป็น 10 ปี อัตราเกษียณอายุราชการเท่าไรจะบรรจุย้อนกลับไปเท่าไร ก็เสนอให้สถาบันผู้ผลิต ผลิตครูวิชาเอกนั้น จากเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายที่มาจากเขตพื้นที่เหล่านั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ดีมานด์-ซัพพลาย การผลิตก็จะพอดีกับความต้องการใช้ได้ครูที่ดี มีกระบวนการผลิตอย่างมีคุณภาพ เราก็จะได้ครูดีโดยไม่ต้องมีการสอบบรรจุและแข่งขันไม่ต้องกังวลและต่อสู้กับขบวนการทุจริตที่มีหลากหลายรูปแบบและพัฒนาวิธีโกง ที่แนบเนียนมากขึ้น เหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้
คำถามสุดท้ายว่าทำได้ไหม? ผมตอบว่าทำได้ เพราะผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนรออยู่แล้ว ทุกคนต้องการแนวทางและการปฏิบัติที่ดีงาม มุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน คือ สร้างเยาวชนสู่อนาคตด้วยเอกลักษณ์ของชาติ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยึดหลักศาสนาและรักษาอุดมการณ์และเอกลักษณ์ของประเทศไทย ที่สำคัญคือ นโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับมา ที่กระทรวงศึกษาธิการโดยตลอดว่า ให้อยู่ในหลักการและความชอบธรรม
ดังนั้นจึงต้องขอย้อนกลับไปยังคำถามว่า สิ่งที่ผมทำไม่ใช่ทำเพราะแก้แค้น ล้างแค้น แต่ทำตามนโยบายรัฐบาลและรักองค์กร ใครมาทำให้องค์กรและวิชาชีพครูเสื่อม ผมรับไม่ได้!!
ที่กล่าวมาทั้งหมดจะให้ทำไหม ใครทำ และไม่ต้องมากล่าวหาผมอีกว่าเลื่อยขาเก้าอี้ใคร ใครที่ทำได้ก็มาทำผมรับได้ แต่ขอทำความเข้าใจว่าผมคือครู และหัวใจผมอยู่ที่ครู อยากได้ครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ผมเกิดจากครู เติบโตจากครู ครูคือจิตวิญญาณของผม .
"จักอุทิศชีวิตนี้เพื่อมวลครู
แม้ตนกูจะตายไปสักพันหน
วิญญาณจักเกิดใหม่ในบัดดล
อุทิศตนเพื่อมวลครูอยู่ต่อไป"
ดร.พิษณุ ตุลสุข
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--