นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ ๓/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
►การพิจารณาการสอบคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย
รมช.ศธ. แถลงข่าวถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นผลการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เชื่อว่าการทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้สอบคัดเลือกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖ กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว๑๒ ที่พบหลักฐานมีการทุจริตจริงใน ๔ เขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต ๓, สพป.อุดรธานี เขต ๓, สพป.ยโสธร เขต ๑ และ สพป.นครราชสีมา เขต ๒ เพื่อให้ ศธ.ยกเลิกการสอบ รวมทั้งกรณี สพป.นครปฐม เขต ๑
กรณีนายภานุวัฒน์ฯ ซึ่งสอบได้ลำดับที่ ๑ ของ สพป.ศรีสะเกษ เขต ๓ แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องที่เป็นข้อมูลพื้นฐานและหลักฐานการทุจริตให้ ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต ๓ เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ) เขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากเป็นอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาที่จะต้องไปพิจารณาว่าบุคคลที่กระทำการทุจริต ไม่ควรได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ โดยผลการสืบสวนก็ได้ชี้มูลในเบื้องต้นว่ามีการทุจริตในการสอบ ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.ต้องไปสืบสวนและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
กรณีผู้สอบได้ที่ สพป.นครปฐมเขต ๑ ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว ก็จะส่งเรื่องให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าวพิจารณาเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ ศธ.ได้ชี้มูลว่ามีการทุจริตไปแล้ว โดยอำนาจหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการพิจารณายกเลิกการบรรจุแต่งตั้งโดยให้พ้นจากการเป็นข้าราชการได้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ตามมาตรา ๓๐ (๗) (๑๓) มาตรา ๔๙
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้แจ้งไปยัง ๑๒๙ เขตพื้นที่การศึกษา ใน ๖๘ จังหวัดที่จัดสอบ เพื่อให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ ไปตรวจสอบผู้ที่มีคะแนนสูงผิดปกติ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน ๕๑๔ คนว่ามีการทุจริตหรือไม่อย่างไร โดยให้พิจารณาจากข้อมูลของ DSI และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ศธ. ซึ่งจะส่งไปพร้อมกับข้อมูลคะแนนของผู้ที่ผ่านการสอบ โดย สพฐ.จะส่งข้อมูลไปยังเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ดังกล่าวภายใน ๓ วัน และให้เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ดังกล่าวพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน ทั้งนี้ ศธ.จะแต่งตั้งผู้ตรวจราชการไปติดตามและให้คำปรึกษาด้วย ส่วนเขตใดที่ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อน ๑๕ วัน สามารถรายงานกลับมาได้ทันที
รมช.ศธ. อธิบายถึงเหตุผลที่มอบให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาดำเนินการว่า ก.ค.ศ.ไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เขตพื้นที่การศึกษาสั่งยกเลิกการสอบ เพราะตามกฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่จะเป็นผู้พิจารณา โดย ก.ค.ศ.มีอำนาจเพียงกำกับดูแลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จะให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ศธ.ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลต่อไป หากพบข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็จะส่งให้กับเขตพื้นที่การศึกษาได้ใช้พิจารณาต่อไปเพราะอาจจะพบหลักฐานอื่นๆ เพิ่มอีกก็ได้
นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า หากผลการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ขัดแย้งหรือไม่ตรงตามความเป็นจริงกับข้อมูลที่ ก.ค.ศ.ส่งให้ไป ทาง ก.ค.ศ.ก็มีอำนาจสั่งการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ไปดำเนินการให้ถูกต้อง แต่หากละเว้นหรือไม่ดำเนินการ ทาง ก.ค.ศ.ก็มีอำนาจที่จะถอดถอน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้ ซึ่งกรณีผู้แทนครูใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากจะต้องโดนถอดถอนแล้ว จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วย ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการ ทาง ก.ค.ศ.คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้นอกจากการถอดถอน
►การพิจารณาหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๕๕๖
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งคาดว่าจะจัดสอบในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเหมือนเดิม (ขณะนี้มีอัตราว่าง ๖๖๖ อัตรา ใน ๘๓ เขตพื้นที่การศึกษา แยกเป็น สพป.๕๕ เขต และ สพม.๒๘ เขต) แต่จะแตกต่างจากการสอบครั้งที่ผ่านมา โดยจะให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษารวมกลุ่มกันดำเนินการจัดสอบ แบ่งเป็น ๑๒ กลุ่มตามเขตตรวจราชการ โดยให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ประสานและกำกับดูแลในการจัดสอบด้วย พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรการสอบแข่งขันที่จะให้มีการสอบสัมภาษณ์ด้วย แต่ที่ประชุมเห็นว่าผลต่างคะแนนสอบสัมภาษณ์แต่ละรายไม่ควรเกิน ๕ คะแนน และให้สอบพร้อมกันทั้ง ๓ ภาค คือ ภาค ก. ข. และ ค. โดยจะให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบ จัดส่งข้อสอบ ตรวจกระดาษคำตอบ และประมวลผลการสอบ และให้สมัครสอบได้เพียงเขตพื้นที่การศึกษาเดียวเท่านั้น ไม่ให้สมัครสอบซ้ำ หากตรวจพบว่าไปสมัครสอบหลายแห่งจะถูกตัดสิทธิ์ในการบรรจุแต่งตั้ง
►อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการเลือกตั้งและมีคุณสมบัติตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด จำนวน ๔ ราย เป็นอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
๑. นายกุลชร เหลืองสุดใจชื้น เป็นอนุกรรมการผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต ๑
๒. นายมนต์ชัย จันทนะกูล เป็นอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑
๓. นายแสนสุข ชัยสวัสดิ์ เป็นอนุกรรมการผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๓
๔. นายเมธี วงษ์หอย เป็นอนุกรรมการผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๗
►อนุมัติตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ
ที่ประชุมอนุมัติตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง ตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ จำนวน ๒ ราย ดังนี้
๑. รศ.ทวี เชื้อสุวรรณทวี เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ เกี่ยวกับวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
๒. นายออน กาจกระโทก เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ จำนวน ๓ คณะ คือ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ เกี่ยวกับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ เกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ, อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ เกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคล
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/mar/102.html