ก.ค.ศ.อ้างไม่มีอำนาจตามกฎหมาย โบ้ยให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ตัดสินใจจะยกเลิกการสอบครูผู้ช่วยที่พบการทุจริตชัดเจนหรือไม่ ในขณะที่ปลัดศธ.ย้ำการสอบคัดเลือกกรณีทั่วไปเดือนเมษายนยังเดินหน้าต่อไป แต่ให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบ
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งผลสืบสวนกรณีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ที่พบหลักฐานมีการทุจริตจริงใน 4 เขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3, สพป.อุดรธานี เขต 3, สพป.ยโสธร เขต 1 และ สพป.นครราชสีมา เขต 2 เพื่อให้ศธ.ยกเลิกการสอบ รวมทั้งกรณีสพป.นครปฐม เขต 1 ที่ศธ.นำเสนอให้พิจารณายกเลิก ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลแล้วพบว่ามี 4เขตพื้นที่การศึกษาที่พบการทุจริต และผู้ควบคุมการสอบได้ให้ผู้ทุจริตออกจากห้องสอบและตัดสิทธิการสอบไปแล้ว ส่วนกรณีของนายภานุวัฒน์ ไชยวงค์ ที่สอบได้ที่สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ที่ประชุมมีมติให้ส่งข้อมูลหลักฐานให้ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ) เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพิจารณาว่าจะต้องยกเลิกหรือไม่ ส่วนกรณีผู้สอบได้ที่สพป.นครปฐมเขต 1 ที่ได้บรรจุไปแล้วก็จะส่งเรื่องให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ศธ.ได้ชี้มูลว่ามีการทุจริตไปแล้ว โดยจะให้มีการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังมีมติให้แจ้งไปยัง 129 เขตพื้นที่การศึกษารวมทั้ง 4 เขตพื้นที่การศึกษาตามข้อมูลของดีเอสไอ เพื่อให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาไปตรวจสอบว่าผู้ที่มีคะแนนผิดปกติ 514 คนมีการทุจริตหรือไม่ โดยให้พิจารณาจากข้อมูลของดีเอสไอและของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศธ.ที่จะส่งไปให้พร้อมกับข้อมูลคะแนนของผู้ที่ผ่านการสอบ โดยจะส่งข้อมูลไปให้เขตพื้นที่การศึกษาภายใน 3 วันและทางเขตพื้นที่ฯจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยศธ.จะตั้งผู้ตรวจราชการไปคอยติดตามและให้คำปรึกษาด้วย ทั้งนี้ตนอยากให้แต่ละเขตพื้นที่ฯดำเนินการให้เร็ว เพราะหากพิจารณาช้าอาจถูกมองว่าเป็นมวยล้มต้มคนดู และบุคคลที่ทุจริตยังได้รับเงินเดือน หากมีการยกเลิกก็จะมีประเด็นเรื่องของเงินเดือนตามมาอีก
"ที่ประชุมก.ค.ศ.ไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เขตพื้นที่ฯสั่งยกเลิกการสอบเพราะตามกฎหมายเป็นอำนาจของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจะเป็นผู้พิจารณา โดยก.ค.ศ.มีอำนาจเพียงกำกับดูแลเท่านั้น" นายเสริมศักดิ์ กล่าวและว่า ตนจะให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศธ.ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลต่อไป หากพบอะไรเพิ่มเติมก็จะได้ส่งให้กับเขตพื้นที่ฯ ได้ใช้พิจารณาต่อไปเพราะอาจจะมีกรณีอื่นๆอีกก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ พิจารณาเองจะมีความเที่ยงตรงหรือไหม เพราะดีเอสไอสรุปว่ามีผู้บริหารเขตพื้นที่ฯเกี่ยวข้องกับการทุจริต นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า การให้ใครไปทำหน้าที่แล้วหากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือทำอะไรที่มิชอบก็จะมีความผิดเป็นสองเท่า
นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า หากผลการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯขัดแย้งหรือไม่ตรงตามความเป็นจริงกับข้อมูลที่ ก.ค.ศ.ส่งให้ไป ทาง ก.ค.ศ.ก็มีอำนาจสั่งการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไปดำเนินการให้ถูกต้อง หากไม่ดำเนินการ ทาง ก.ค.ศ.ก็มีอำนาจถอดถอน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้ ซึ่งในกรณีที่ผู้แทนในอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากจะต้องโดนถอดถอนแล้ว ยังจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วย ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการ ทาง ก.ค.ศ.คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้นอกจากการถอดถอน
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดศธ. กล่าวว่า สำหรับการจัดสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปจะยังคงจัดสอบในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษารวมกลุ่มกันจัดสอบ แบ่งเป็น 12 กลุ่มตามเขตตรวจราชการ และให้มีการสัมภาษณ์ ส่วนข้อสอบจะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ โดยแต่ละกลุ่มจะต้องเป็นผู้จัดหามหาวิทยาลัยที่จะมาออกข้อสอบเอง และให้สมัครสอบได้เพียงเขตพื้นที่เดียวไม่ให้สมัครสอบซ้ำ ส่วนที่เกรงว่ามาตรฐานของข้อสอบจะไม่เท่ากันนั้น ทางส่วนกลางก็คงต้องเข้าไปดูแลอยู่แล้ว.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 22 มีนาคม 2556