นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมระดมความคิด เรื่อง "กรอบแนวทางการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน" เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๖ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักการศึกษา ร่วมประชุมประมาณ ๓๐ คน
รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า จากการที่ตนได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ๒ ชุด อันได้แก่ ๑) คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน และมี รมช.ศธ. เป็นรองประธาน มีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์เป็นแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตร วางแนวทางระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ความเห็นชอบระบบการจัดการศึกษาและหลักสูตร และ ๒) คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เป็นประธาน มีหน้าที่ออกแบบระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ทั้งระบบ กำหนดรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร รวมทั้งเนื้อหารายวิชา การจัดการเรียนการสอนและลำดับขั้นในการเรียนรู้ ดำเนินโครงการตำราเรียนแห่งชาติ พัฒนาระบบการอนุมัติต้นฉบับตำราเรียน ดำเนินการทดสอบหลักสูตร และวางแผนการประกาศและใช้หลักสูตร โดยมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน
การประชุมครั้งนี้เพื่อระดมความคิดจากหลากหลายมุมมอง ทั้งผู้บริหารการศึกษา นักการศึกษา ครู และสื่อมวลชน ซึ่งจะช่วยจุดประกายให้ผู้อื่นมาร่วมกันพัฒนาการศึกษา โดยบุคคลสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนคือครูอาจารย์ทั้งหลาย ที่จะเป็นกลไกที่ดีในการขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายที่คุณลักษณะที่เด็กและเยาวชนไทยในอนาคตว่าควรจะเป็นอย่างไร คณะกรรมการจะช่วยกันคิดและกำหนดสิ่งที่เหมาะสมกับการเรียนของเด็กไทยในแต่ละช่วงชั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา เช่น วิชาประวัติศาสตร์ เด็กควรรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ต้องกำหนดว่าเด็กต้องรู้แค่ไหนเพื่ออะไร เช่น ให้เด็กรู้ว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้น เพื่อเตรียมรับมือในอนาคต เมื่อเจาะลงไปสู่รายละเอียดของแต่ละวิชา ก็ต้องอาศัยผู้อยู่ในวงการศึกษาช่วยกันคิดและกำหนดออกมาให้เหมาะสมกับบริบทการศึกษาไทย สำหรับเวลาที่ใช้ในการเรียน ซึ่งจะมีทั้งเวลาเรียนในห้องและนอกห้องเรียน รวมทั้งกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะต่างๆ จะกำหนดสัดส่วนเวลาการเรียนของเด็กในแต่ละช่วงชั้นอย่างไร เป็นเรื่องที่ที่ประชุมจะต้องร่วมกันหารือต่อไป ทั้งนี้มีนักการศึกษาลายท่านเห็นความสำคัญ มีความสนใจและมีประสบการณ์ด้านการศึกษา ซึ่งตนจะได้นำคณะกรรมการไปเข้าพบเพื่อขอรับนโยบายในโอกาสต่อไป
ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปหลักสูตรตาม ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่
๑) การปฏิรูปหลักสูตร
๒) ปฏิรูปครู
๓) เร่งสร้างความเข้มแข็ง STEME (Science Technology Engineering Mathematics English)
๔) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
๕) ปรับโครงสร้าง
ซึ่งจะต้องดำเนินเพื่อสร้างโอกาส ความเท่าเทียมทางการศึกษา ทั้งมิติด้านการเข้าถึงและคุณภาพ ทั้งมิติความเข้มแข็งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา ด้านทักษะและสร้างโอกาสนวัตกรรม (วิจัย) และความเชื่อมโยงและร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ชุมชน โรงเรียน ครู นักเรียน ซึ่งต่อจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาประชุมหารือทุกสัปดาห์ เพื่อให้ทำงานได้เสร็จภายใน ๖ เดือนตามที่ได้รับมอบหมาย การปรับหลักสูตรครั้งนี้จะเป็นการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่มีจุดด้อยที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยแย่ลง เช่น หลักสูตรฉบับนี้มีความย่นย่อ และปล่อยปลายเปิดให้ขึ้นอยู่กับการจัดการของครูมากเกินไป ซึ่งเหมาะสำหรับครูที่สามารถสูงนำไปใช้ ซึ่งหลักสูตรจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและการทำงานของคณะทำงาน
รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมภายหลังพิธีเปิดว่า จะมีการปรับลดชั่วโมงเรียนทุกช่วงชั้นแน่นอน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนในประเทศอื่นๆ แล้ว ไม่ได้เรียนมากเท่ากับนักเรียนไทยซึ่งใช้เวลาปีละ ๑,๐๐๐ ชั่วโมง แต่กลับมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีกว่า เช่น ฮ่องกงใช้เวลาเรียนปีละ ๗๐๐ ชั่วโมง จึงต้องกลับมาทบทวนเรื่องเวลาเรียนในแต่ละช่วงชั้น และเนื้อหาสาระที่จะให้เด็กเรียน โดยเปรียบเทียบเวลาเรียนจากประเทศอื่น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าทัศนคติของการเรียนในอดีตอาจจะคิดว่าเรียนมากแล้วได้รู้มาก แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะเมื่อใช้เวลาเรียนมาก เวลาที่จะคิดวิเคราะห์ก็จะไม่มี แต่หากเราสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้แล้ว การคิดในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องสอนอีก เพราะเด็กจะสามารถคิดต่อได้เอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ที่เราต้องการพัฒนาหลักสูตรและครูผู้สอน ส่วนอื่นเป็นส่วนช่วยเสริม หากสองอย่างแรกสำเร็จ ก็จะดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไป
ที่มาภาพและข่าวจาก http://www.moe.go.th/websm/2013/mar/086.html