Advertisement
“พงศ์เทพ” ประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.นัดพิเศษถกทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วย 13 มี.ค.นี้ ขณะที่ “เสริมศักดิ์” เชื่อดีเอสไอสรุปผลสอบได้ทันก่อนประชุม จ่อยกเลิกการสอบหลังประเมินข้อมูลพบคนร่วมทุจริตเกือบ 1,000 คน ชี้ใครไม่ยอมให้ปากคำถือว่าขัดขวางเจ้าพนักงาน ด้านเลขาฯ กพฐ.แฉซํ้าสนามสอบ สพป.ขอนแก่นเขต 3 ไม่ใช่แค่ส่งคนสอบแทน แต่มีการวางแผนผังที่นั่งสอบ เตรียมส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ
ความคืบหน้าคดีทุจริตสอบครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นัดพิเศษ ในวันที่ 13 มี.ค. เพื่อพิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่ ก.ค.ศ.ตั้งขึ้น กรณีที่พบว่ามีพนักงานราชการ มีชื่อเข้าสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยซ้ำ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3 และสพป. นครปฐม เขต 1
ส่วนจะมีวาระเรื่องการพิจารณายกเลิกการสอบครูผู้ช่วยหรือไม่นั้น ยังไม่แน่ใจว่าดีเอสไอจะสรุปผลการสอบสวนส่งมาทันหรือไม่ หากทันก็จะนำเข้าบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาด้วย สำหรับการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป ประจำปี 2556 ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนยังไม่แน่ใจว่าจะเตรียมการได้ทันหรือไม่ คงต้องมีการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมก่อนที่จะจัดสอบ
ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอผลการสอบสวนกรณีปัญหาการทุจริตสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยจากดีเอสไอ อยู่ คาดว่าน่าจะได้รับผลทันก่อนการประชุม ก.ค.ศ.นัดพิเศษ หากผลการสอบระบุว่ามีการทุจริต ก็เห็นว่าเป็นเหตุผลที่จะยกเลิกการสอบได้ แม้ว่าจะมีการเรียกบรรจุไปแล้วก็ตาม เพราะตามที่ได้ประเมินจากข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาเชื่อว่า น่าจะมีผู้ที่เข้าร่วมขบวนการทุจริตนี้ครึ่งหนึ่งคือประมาณเกือบ 1,000 คน จากที่มีการสอบบรรจุประมาณ 2,000 อัตรา อย่างในภาคตะวันออก-เฉียงเหนือที่เป็นภาคใหญ่ พนักงานราชการจะไปสอบภาคอื่นกันหมด
นอกจากนี้จะเสนอให้มีการเลื่อนการสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ด้วย เพราะหากผลการสอบยังไม่ชัดเจนว่า การสอบมีจุดบอดตรงไหน หรือจะอุดรูรั่วของการสอบได้อย่างไร ก็ยังไม่ควรมีการจัดสอบ ที่ดีเอสไอระบุว่าจะมีการสอบผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง 7 แห่งนั้นยังไม่ทราบข้อมูลว่ามีที่ไหนบ้าง ส่วนที่มีข่าวว่าข้าราชการในเขตพื้นที่ไม่กล้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การขัดขวางหรือไม่ยอมให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ เป็นความผิด
ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการสอบครูผู้ช่วย เริ่มจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลที่สนามสอบ สพป.ขอนแก่น เขต 3 พบว่าไม่ใช่แค่การมีคนไปนั่งสอบแทนเท่านั้น แต่มีการวางแผนผังที่นั่งสอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังตรวจสอบในส่วนนี้อยู่ รวมทั้งหาความชัดเจนว่าใครเป็นใคร มีการส่งสัญญาณอะไรในการสอบหรือไม่ ทั้งหมดนี้เหมือนมีการจัดการในห้องสอบ ข้อมูลทั้งหมดจะมีการส่งไปยังดีเอสไอและน่าจะมีการเจาะข้อมูลไปเรื่อยๆ จากการประเมินของ สพฐ.คาดว่ากรณีของผู้ที่เข้าไปสอบแทน อยู่ในหลักสิบคนไม่ใช่หลักร้อย ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องนี้อาจมีข้าราชการระดับสูงของ สพฐ.เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ยังมองไม่ชัดเจน การพูดกันลอยๆ เพื่อให้กระทบชิ่งหน่วยงาน จนทำให้เกิดความเสื่อมเสียและขาดความเชื่อมั่นโดยขาดหลักฐานก็ไม่ควรพูด
ต่อข้อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า สพฐ.เปลี่ยนวิธีการจัดส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ เอื้อให้เกิดการทุจริต เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า เหตุที่เลือกที่จะจัดส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ เพราะว่าการสอบก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการจัดส่ง และมีความทุลักทุเล เนื่องจากข้อสอบใส่ซองผิด ส่งไปผิดที่ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะมุ่งแก้ปัญหาและคิดว่าการจัดส่งต้องมีหลักประกันที่เชื่อมั่น จึงเป็นที่มาให้ไปรษณีย์จัดส่ง ส่วนการแบ่งข้อสอบออกเป็น 4 วิชา ได้แก่ วิชาความรอบรู้ วิชาความรู้ ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วิชาความถนัดและเจตคติต่อวิชาชีพครู และวิชาความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติต่อวิชาชีพครู ส่วนละ 50 ข้อ คะแนนรวม200 ข้อนั้น จะต้องมีการแยกอยู่แล้วเพราะเป็นคนละวิชา การตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งข้อสอบออกเป็น 4 ส่วนและแยกสอบ จะเป็นมูลเหตุให้มีการจำเฉลยได้นั้น คิดว่าคงลำบาก ส่วนเครื่องมือสื่อสารนั้นในคู่มือการสอบระบุชัดเจนว่าห้ามนำเครื่องมือสื่อสาร อาทิโทรศัพท์มือถือเข้าไป กรณีที่มีการปล่อยให้นำเข้าไปถือเป็นความบกพร่องในกระบวนการสอบของผู้ที่คุมสอบ
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่เดินทางกลับจากการตรวจสอบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สิ่งที่น่าสังเกตและพบเป็นข้อพิรุธหนึ่งในการตรวจสอบครั้งนี้ก็คือ แม้จะมีการจัดสอบที่เขตพื้นที่การศึกษา แต่กระดาษคำตอบ สพฐ.เป็นคนนำไปตรวจ และเป็นผู้ประกาศผลว่าใครสอบได้หรือไม่ได้ ปกติแล้วการประกาศผลจะต้องมีการแจ้งผลคะแนนกลับไปให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ที่เข้าสอบได้ทราบด้วย แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งคะแนนของผู้เข้าสอบแต่ละคนให้เขตพื้นที่หรือผู้เข้าสอบได้ทราบ ดังนั้นหากเกิดกรณีที่ผู้เข้าสอบสามารถทำคะแนนได้เท่ากันแล้วใครเป็นคนเลือกว่าใครสมควรที่ต้องสอบได้ ถ้าเป็น สพฐ.เป็นผู้คัดเลือกหรือตัดสินในเรื่องนี้ แล้วเอาหลักเกณฑ์ใดมาตัดสิน จึงอยากให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 5 มีนาคม 2556
Advertisement
เปิดอ่าน 3,812 ครั้ง เปิดอ่าน 26,635 ครั้ง เปิดอ่าน 26,144 ครั้ง เปิดอ่าน 5,219 ครั้ง เปิดอ่าน 3,245 ครั้ง เปิดอ่าน 45,776 ครั้ง เปิดอ่าน 6,413 ครั้ง เปิดอ่าน 22,148 ครั้ง เปิดอ่าน 9,067 ครั้ง เปิดอ่าน 14,143 ครั้ง เปิดอ่าน 8,542 ครั้ง เปิดอ่าน 4,441 ครั้ง เปิดอ่าน 3,770 ครั้ง เปิดอ่าน 7,048 ครั้ง เปิดอ่าน 10,826 ครั้ง เปิดอ่าน 33,006 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 552 ☕ 23 พ.ย. 2567 |
เปิดอ่าน 665 ☕ 23 พ.ย. 2567 |
เปิดอ่าน 552 ☕ 23 พ.ย. 2567 |
เปิดอ่าน 187 ☕ 23 พ.ย. 2567 |
เปิดอ่าน 320 ☕ 23 พ.ย. 2567 |
เปิดอ่าน 2,567 ☕ 22 พ.ย. 2567 |
เปิดอ่าน 623 ☕ 22 พ.ย. 2567 |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 17,790 ครั้ง |
เปิดอ่าน 26,027 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,317 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,218 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,124 ครั้ง |
|
|