"เสริมศักดิ์"เผย กก.ชุด ศธ. ตรวจเจอเข้าสอบ"ครูผู้ช่วย"แทนกันเพื่อบอกคำตอบคนอื่นอีก 20 ราย เล็งโยกบิ๊ก สพป.ขอนแก่น เขต 3
ความคืบหน้าการสอบสวนการทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา หลังตรวจพบมีพนักงานราชการในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 2 ราย มีชื่อแต่ละรายเข้าสอบใน 2 เขตพื้นที่การศึกษาในวันและเวลาเดียวกัน และทั้ง 2 รายมีชื่อเข้าสอบที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 เหมือนกันด้วย โดยรายแรกคือ นายภานุวัฒน์ ไชยวงศ์ พนักงานราชการ สพป.ใน จ.ชัยภูมิ สอบติดลำดับที่ 1 กลุ่มวิชาเอกภาษาไทย ที่ สพป. ศรีสะเกษ เขต 3 และปฏิเสธไม่ได้ไปสอบที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ทั้งที่มีชื่อสอบผ่านในลำดับที่ 15 กลุ่มวิชาเอกทั่วไป ส่วนรายล่าสุดสอบติดลำดับที่ 1 กลุ่มวิชาเอกประถมศึกษา ที่ สพป.นครปฐม เขต 1 ซึ่งเจ้าตัวยอมให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสืบสวนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกี่ยวกับขบวนการทุจริตครั้งนี้ โดยอ้างว่ามีข้าราชการระดับสูงใน ศธ.ร่วมขบวนการด้วย จึงถูกกันไว้เป็นพยาน และล่าสุดมีการเปิดเผยถึงรายงานผลการสืบสวนเบื้องต้นระบุสาเหตุการสมัครสอบ 2 เขตพื้นที่ฯดังกล่าว ก็เพื่อเปิดทางให้มือปืนรับจ้างที่เข้าสอบแทนที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ได้เข้าไปบอกคำตอบแก่ผู้เข้าสอบอีก 2 ราย ซึ่งอยู่ในขบวนการติวข้อสอบ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าทั้ง 2 คนสอบติดในลำดับที่ 1 และ 2 นั้น
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ศธ. ได้ตรวจพบว่ามีพนักงานราชการใน สพป.ที่ไปสมัครสอบ 2 เขตพื้นที่ฯ แล้วมีผู้เข้าไปสอบแทนอีกเขตพื้นที่ฯรวมประมาณ 20 คน ซึ่งกลุ่มที่เข้าไปสอบแทนเป็นขบวนการทุจริต เข้าไปสอบเพื่อบอกคำตอบให้กับผู้เข้าสอบคนอื่นๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้มาจากพยานแวดล้อมต่างๆ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการเข้าไปสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนการยกเลิกการสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้ ต้องรอดูผลการสอบสวนของดีเอสไอในภาพรวมว่า การทุจริตครั้งนี้เกี่ยวข้องกันในภาพรวมทั้งประเทศหรือไม่ หากเกี่ยวข้องจะต้องยกเลิกการสอบทั้งหมด แต่หากสรุปออกมาว่าเกี่ยวข้องในบางเขตพื้นที่ฯ จะให้ยกเลิกเป็นรายเขตพื้นที่ฯไป เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริต
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับผู้บริหารระดับสูงใน ศธ. และผู้บริหาร สพป.ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริต นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า หากผลสอบสรุปออกมาว่ามีผู้บริหาร ศธ.และ สพป.ไปเกี่ยวข้อง ก็ต้องจัดการ
เมื่อถามว่า กรณีของ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ที่เกิดปัญหาการทุจริตเข้าสอบแทนกันถึง 2 ราย ต้องสั่งโยกย้ายผู้บริหาร สพป.ขอนแก่น เขต 3 หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนหรือไม่ นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาดูแล้ว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้ดีเอสไอแจ้งข้อมูลการสอบสวนกลับมายัง ศธ.ก่อน จากนั้นจะพิจารณาว่าในส่วนที่มีการจัดสอบมีปัญหาตรงไหน และเกี่ยวพันไปถึงการสอบในเขตพื้นที่ฯใดบ้าง จะได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ คงต้องดูว่าสิ่งไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง ถ้าพื้นที่ไหนมีปัญหาเกิดความไม่เป็นธรรม ก็ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะกระทบใครก็ตาม แต่ถ้าพื้นที่ไหนไม่มีปัญหาก็ต้องพิจารณาอีกแบบหนึ่ง
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.กำลังส่งข้อมูลต่างๆ ให้ดีเอสไอตรวจสอบ ซึ่งกรณีที่มีข้อสงสัยว่ามีข้อสอบรั่ว เนื่องจาก สพฐ.ใช้วิธีส่งข้อสอบผ่านทางไปรษณีย์ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ล่วงหน้า 2 วันนั้น ทาง สพฐ.อธิบายได้ ซึ่งก่อนจัดสอบ สพฐ.ได้ชี้แจงขั้นตอนการสอบไปยังกรรมการคุมสอบทุกเขตพื้นที่ฯ โดยย้ำถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย และมาตรการป้องกันการทุจริต ซึ่งในหลักเกณฑ์การจัดสอบกำหนดไว้ชัดเจนว่า เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดต้องไว้นอกห้องสอบ หากพบว่ามีผู้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบ จะถือว่าทุจริต และที่ผ่านมามีผู้เข้าสอบบางคนถูกตัดสิทธิสอบไปแล้ว
"ส่วนการจัดส่งข้อสอบทางไปรษณีย์นั้น ยืนยันว่าเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม เป็นระบบพิเศษ และเป็นระบบเดียวกันกับการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการส่งไปรษณีย์แบบธรรมดา สพฐ.ได้พิจารณาดูเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยเห็นว่าเป็นระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูงสุด จึงเลือกวิธีนี้" นายชินภัทรกล่าว
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ศธ. เปิดเผยว่า ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นให้นายเสริมศักดิ์แล้ว ซึ่งในรายงานระบุว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และได้พูดคุยกับพยานแวดล้อมต่างๆ ทำให้ทราบถึงกระบวนการทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ว่า มีการขายเฉลยคำตอบเป็นชุดๆ โดยจะมีตัวแทนหรือเอเยนต์ออกไปหาลูกค้าที่เป็นพนักงานราชการใน สพป. ด้วยวิธีการโทรศัพท์ไปหาหรืออาจจะใช้วิธีไปเจอตัว เมื่อได้รายชื่อลูกค้าแล้วจะนำรายชื่อทั้งหมดมายังศูนย์กลาง ซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์อำนวยการของขบวนการทุจริต เพื่อจัดสรรให้พนักงานราชการแต่ละคนไปสมัครสอบในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ตามแต่ละวิชาเอก เพื่อป้องกันไม่ให้สมัครสอบชนกันในสนามสอบเดียว เพราะในการสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้จะต้องสอบได้ในลำดับที่ 1 และ 2 จึงจะมีโอกาสได้รับการบรรจุทันที เนื่องจากตำแหน่งว่างแต่ละวิชาเอกที่มีอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่ฯจะมีว่างราว 1-2 ตำแหน่ง
"ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมพนักงานราชการที่เข้าร่วมขบวนการทุจริตครั้งนี้และถูกตรวจสอบพบ จะสอบติดในลำดับที่ 1 ทั้งหมด และเป็นที่สังเกตว่าการไปสมัครสอบจะไปสอบนอกเขตพื้นที่ฯ ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของคนที่สอบได้กลุ่มนี้จะมาจากภูมิลำเนาและจังหวัดที่ใกล้เคียงกัน หรือบางครั้งจังหวัดเดียวกัน และยังพบว่าพนักงานราชการที่ทำงานอยู่โรงเรียนเดียวกัน และไปสอบที่จังหวัดอื่นๆ ก็ผ่านการสอบคัดเลือกได้หมดทุกคน" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในรายงานผลการตรวจสอบยังระบุว่า สำหรับขั้นตอนของการทุจริตนั้น เมื่อผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยตกลงใจ จะจ่ายเงินแล้ว จะได้รับการนัดแนะจากตัวแทนเพื่อนำเฉลยข้อสอบมาให้ท่องจำ โดยจะไม่นำข้อสอบมาให้ดูก่อน และจะส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือให้ด้วย โดยจะส่งให้ในช่วงตอนกลางคืน จากการตรวจสอบจะพบว่า ผู้เข้าสอบกลุ่มนี้ก่อนจะเข้าสอบ จะดูแต่โทรศัพท์มือถือตลอดเวลา และเมื่อดูข้อสอบจำนวน 200 ข้อ ที่ สพฐ.ออกข้อสอบ พบว่าแบ่งออกเป็น 4 ฉบับ ฉบับละ 50 ข้อ และใช้เวลาสอบฉบับละ 1 ชั่วโมง จากนั้น จะให้หยุดพัก แล้วเข้ามาสอบใหม่ ซึ่งช่วงพักจะเป็นช่วงให้ผู้เข้าสอบออกไปท่องจำเฉลยที่ส่งมาทางโทรศัพท์มือถือได้ง่าย เพราะหากให้สอบรวดเดียว 200 ข้อ เหมือน การสอบครั้งที่ผ่านๆ มา การจำเฉลยอาจจะทำได้ยากกว่า
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวอีกว่า ในรายงานผลตรวจสอบยังระบุประเด็นข้อสอบรั่วว่า จากการตรวจสอบจุดอ่อนจะอยู่ที่การจัดส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ ซึ่งการสอบที่ผ่านๆ มาไม่เคยส่งข้อสอบไปในช่องทางนี้เลย จึงทำให้ข้อสอบไปอยู่ที่เขตพื้นที่ฯก่อนวันสอบจริง 1-3 วัน ส่วนกรณีมีผู้สมัครสอบ 2 เขตพื้นที่ฯ แต่เข้าสอบที่เดียว ส่วนอีกเขตพื้นที่ฯจะมีบุคคลอื่นเข้าสอบแทนนั้น เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบฯได้นำผังห้องสอบมาตรวจดูพบว่า จุดประสงค์ของการเข้าสอบแทนก็เพื่อไปบอกคำตอบแก่ผู้เข้าสอบที่ร่วมขบวนการทุจริต อย่างกรณีมีผู้เข้าสอบแทนกันที่ สพป. ขอนแก่น เขต 3 ได้ตรวจสอบผลการสอบคัดเลือกพบว่า ผู้เข้าสอบที่นั่งอยู่ด้านหน้าคนที่เข้าสอบแทน สอบติดในลำดับที่ 1 และผู้ที่นั่งด้านหลังสอบติดลำดับที่ 2
วันเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนการทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วย เปิดเผยว่า ได้เริ่มสอบปากคำพยานหลายปากและตรวจสอบเอกสาร ในเบื้องต้นพบพิรุธในการจัดสอบหลายประเด็น และมีหลักฐานน่าเชื่อว่ามีความไม่ถูกต้องในการเก็บรักษาและจัดส่งข้อสอบ ซึ่งเอื้อให้เกิดการทุจริต ในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนจะลงพื้นที่ในภาคอีสานเพื่อสอบปากคำพยานบุคคล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีการทุจริตสูงมาก
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายธานินทร์ว่า มีการสอบปากคำพยานหลายปากแล้ว และมีข้อมูลสำคัญที่มีแนวโน้มต่อการประกาศยกเลิกการสอบ อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้พนักงานสอบสวนลงพื้นที่สอบปากคำที่เกี่ยวข้องอีกบางส่วน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จะลงพื้นที่สอบปากคำผู้เกี่ยว ข้องใน จ.ขอนแก่น เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับข้อมูลว่ามีการทุจริตการสอบ ทั้งนี้ จากการสอบปากคำพยานพบว่าเสียค่าใช้จ่ายในขบวนการติวข้อสอบรายละ 400,000 บาท โดยจะนัดก่อนวันสอบที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อซักซ้อมการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็คือโทรศัพท์มือถือ และการท่องจำเฉลยคำตอบ มีผู้เข้าร่วมซักซ้อมครั้งละประมาณ 50 คนต่อชั่วโมง โดยทั้งวันจะมีคนที่หมุนเวียนเข้าอบรม 500-600 คน ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะชี้ว่าพื้นที่ใดมีการทุจริต ส่วนจะมีการยกเลิกการสอบทั่วประเทศหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของ ศธ.ภ
(ที่มา:ข่าวหน้า1 มติชนรายวัน 2 มี.ค.2556)