นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ ๒/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี ผศ.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
● เห็นชอบการแต่งตั้งศาสตราจารย์
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน ๖ ราย ดังนี้
๑) รองศาสตราจารย์อภิชาต ภัทรธรรม ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง
๒) รองศาสตราจารย์วันทนีย์ วาสิกะสิน ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง
๓) รองศาสตราจารย์อัญชลี สุทธิประการ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง
๔) รองศาสตราจารย์จินตกร คูวัฒนสุชาติ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง
๕) รองศาสตราจารย์ณัฐชยา เฉลยทรัพย์ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง
๖) รองศาสตราจารย์กิตติพงศ์ มณีโชติสุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง
● เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณากำหนดบัญชีรายชื่อวารสารทางวิชาการ สำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เนื่องจากปัจจุบันมีวารสารทางวิชาการจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งวารสารที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในลักษณะ Open Access Journal ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ ประกอบกับ ก.พ.อ.ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือรายชื่อวารสารที่ควรจะนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่
คณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวมี ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นประธานอนุกรรมการ มีอนุกรรมการประกอบด้วย ศ.จรัญ จันทลักขณา ศ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ศ.ธารา ตริตระการ ศ.ยง ภู่วรวรรณ ศ.วิชัย บุญแสง ศ.สุทัศน์ ยกส้าน ศ.ปราณี กุลละวณิชย์ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ ศ.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ศ.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล นางสาวนฤมล รักษาสุข และ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สกอ. มีเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดสรรรายชื่อวารสารทางวิชาการ สำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ.กำหนด รวบรวมรายชื่อวารสารทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากวงวิชาการและวิชาชีพ จัดทำบัญชีรายชื่อวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่ใช้ในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ ก.พ.อ.มอบหมาย
● การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคล
ตามที่ ก.พ.อ.ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอผลงานทางวิชาการสำหรับการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยกำหนดให้เสนอผลงานอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงประเภทเดียว ได้แก่ ๑) ตำรา หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ หรือ ๒) ผลงานวิจัย หรือ ๓) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งผลงานดังกล่าวจะต้องเป็นผลงานที่มีคุณภาพดี และต้องเป็นผลงานที่มีลักษณะคุณภาพอีก ๓ องค์ประกอบ คือ ๑) ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๒) มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ และ ๓) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีความเห็นว่า มีความเข้มงวดเกินไป และผลงานวิชาการบางประเภทไม่สามารถมีผลงานคุณภาพได้ครบทั้ง ๓ องค์ประกอบ โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และจะส่งผลให้มีผู้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้น้อยลง
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คณาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ที่ประชุม ก.พ.อ. จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศ ก.พ.อ.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ สำหรับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ กำหนดให้เสนอผลงานทางวิชาการอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงประเภทเดียว ประกอบด้วย ๑) ตำราหรือบทความทางวิชาการ หรือ ๒) งานวิจัย หรือ ๓) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือ ๔) ผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม ซึ่งมีคุณภาพระดับดี โดยผลงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ตามภาระงานซึ่งสถาบันอุดมศึกษาหรือคณะวิชาให้ความเห็นชอบและได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ.กำหนด และให้ยกเลิกลักษณะคุณภาพ ๓ องค์ประกอบ คือ ๑) ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๒) มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ และ ๓) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ ตามที่กำหนดไว้เดิมในประกาศฯ ฉบับที่ ๖
● ที่ประชุมได้รับทราบในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการของผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่ง ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.อ. มีจำนวน ๕ ราย คือ ตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนสูงขึ้น ๒ ราย และตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน ๓ ราย
- รายงานผลการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ที่ประชุมรายงานผลการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๐ จำนวน ๔๐ ราย ประกอบด้วย
สถาบัน
|
ผศ.
(ราย)
|
รศ.
(ราย)
|
รวม
|
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
|
๗
|
๑๔
|
๒๑
|
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
|
๘
|
๔
|
๑๒
|
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
|
๗
|
-
|
๗
|
รวม
|
๒๒
|
๑๘
|
๔๐
|
- ความคืบหน้าการขอรับการจัดสรรงบประมาณให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ ขณะนี้สำนักงบประมาณได้พิจารณาการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับพนักงานในสังกัดมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเสนอแล้ว โดยมีความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๗๙ แห่ง จึงให้ สกอ. ประสานงานกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อรวบรวมข้อมูลดังกล่าว และปรับปรุงการขอรับการจัดสรรงบประมาณในภาพรวมของสถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๗๙ แห่งให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/feb/074.html