จาก ความเดิมตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการดำเนินการของคณะกรรมการสอบราคาการซื้อหรือการจ้างในเรื่อง การประกาศสอบราคา ไปแล้ว ต่อไป จะขอกล่าวขั้นตอนของการเปิดซองสอบราคา ในเรื่องขั้นตอนการเปิดซองสอบราคา ของคณะกรรมการสอบราคา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญและละเอียดอ่อน ซึ่งต้องศึกษาทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และยังต้องศึกษาหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร (กวพ) 305(ว)/7286 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2542 และการตัดสินใจในการเปิดซองสอบราคาของคณะกรรมการสอบราคาจะตัดสินใจคัดเลือกผู้เสนอราคารายใดย่อมต้องดำเนินเป็นขั้นเป็นตอนและที่สำคัญต้องยึดถือความคุ้มประโยชน์ของทางราชการหากไม่ได้คัดเลือกจากผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต้องอธิบายเหตุผลและข้อกฎหมายตามระเบียบพัสดุดังกล่าวเป็นหลักในการพิจารณาคัดเลือกให้ได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกผู้เสนอราคาที่ไม่ได้เสนอราคาที่ต่ำสุด ดังนั้น คณะกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินการในวันเปิดซองสอบราคาอย่างระมัดระวัง โดยดำเนินการดังนี้
ในวันเปิดซองสอบราคาคณะกรรมการสอบราคาต้องมุ่งถึงความคุ้มประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก โดยอาจจะคัดเลือกจากผู้เสนอราคาที่ไม่ได้เสนอราคามาต่ำสุดก็ได้ โดยดำเนินการตามข้อ 42 ตามระเบียบดังกล่าวและที่สำคัญต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร (กวพ) 305(ว)/7286 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2542 ดังนี้
1.ก่อนเปิดซองใบเสนอราคาให้คณะกรรมการสอบราคาทำการเปิดซองสอบราคาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาและตรวจสอบว่า ผู้เสนอราคาแต่ละรายมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ โดยตรวจสอบเอกสารส่วนที่ 1 ที่ผู้เสนอราคามายื่นพร้อมกับใบเสนอราคา และเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยให้คณะกรรมการสอบราคาปิดประกาศรายชื่อผู้เสนอราคาที่มีสิทธิได้รับคัดเลือกไว้ในที่เปิดเผยของส่วนราชการนั้น และหากพบว่าผู้เสนอราคาแต่ละรายมีผลประโยชน์ร่วมกันให้ตัดสิทธิจากการเป็นผู้เสนอราคาทุกราย (ข้อ 3)
2.เมื่อถึงเวลาเปิดซองใบเสนอราคาให้คณะกรรมการสอบราคา ทำการเปิดซองใบเสนอราคาเฉพาะ ผู้มีสิทธิตามข้อ 1 ข้างต้น (ตามข้อ 42 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535)
เมื่อดำเนินการสอบราคาเสร็จเรียบร้อยให้ดำเนินการรายงานผลการสอบราคาต่อหัวหน้าส่วนราชการ และที่สำคัญคณะกรรมการสอบราคาทุกคนจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารสอบราคากำกับทุกแผ่น
จากขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นหากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทราบถึงระเบียบและหนังสือเวียนของสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น การดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับพัสดุต่างๆ คงไม่เกิดข้อผิดพลาดจากการตั้งใจปฏิบัติหน้าที่แต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับระเบียบพัสดุในอีกหลายรูปแบบที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาควรให้ความสนใจ ซึ่ง สำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
เมตตยา ประภัสสรางกูร
นิติกรชำนาญการพิเศษ
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เรื่องเกี่ยวกับการพัสดุ (การสอบราคา)
http://www.kroobannok.com/56504