นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง คือ นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.วรกร คำสิงห์นอก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
l ความก้าวหน้าการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน
ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและเตรียมการในการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
• สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินงานวางแผนเป็น ๒ ระยะ คือ - ระยะเร่งด่วน จะดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ โดยจัดทำคู่มือแนวทางการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบครบวงจร จัดทำแนวทางการรายงานผลการประเมินที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ จัดการประชุมชี้แจงเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำแนวทางการจัดการเรียนรู้บูรณาการลงสู่การปฏิบัติ - ระยะยาว จะดำเนินทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ จัดทำคู่มือการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ระดับชั้นเรียน และพัฒนาหนังสือเรียน ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะปรับปรุงให้มีความทันสมัย เป็นชุดการเรียนการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการ เช่น รูปแบบ Interactive Textbooks กิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับแหล่งความรู้ต่างๆ ได้ ฯลฯ
• สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันอาชีวศึกษาแต่ละแห่งสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เอง โดยยึดกรอบคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ ตามสาขาวิชาในการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา ในรูปแบบอาศัยแรงขับจากผู้ใช้ ซึ่งหลักสูตรที่พัฒนาจะต้องเป็นหลักสูตรแบบฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum) ซึ่งนำสมรรถนะของผู้ประกอบอาชีพที่ปฏิบัติงานอาชีพ มาตรฐานอาชีพ หรือมาตรฐานสมรรถนะมาเป็นปัจจัยในการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะวิชาชีพที่ตรงกับสมรรถนะอาชีพ สามารถประกอบอาชีพได้ทันที โดยมีแนวคิดในด้านคุณภาพการอาชีวศึกษา ที่พัฒนาผู้เรียนให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นไปตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพของแต่ละสาขาใน ๓ ด้าน คือ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ สมรรถนะหลักและสมรรถนะทั่วไป และสมรรถนะวิชาชีพ ซึ่งจะมีการกำหนดระบบการประกันคุณภาพหลักสูตรใน ๔ ประเด็นคือ คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา การบริหารหลักสูตร ทรัพยากรการจัดการอาชีวศึกษา และความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงาน
• สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ดำเนินการ ๓ ด้าน คือ ๑) จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education) โดยแบ่งระดับคุณวุฒิออกเป็น ๖ ระดับ คือ อนุปริญญา ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโท ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง และปริญญาเอก ซึ่งกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังให้บัณฑิตมี ๕ ด้าน คือ คุณธรรมจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ๒) การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning) ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการประยุกต์ความรู้ ทักษะการทำงาน และทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิชาชีพ ได้รู้จักชีวิตที่แท้จริงของการทำงานก่อนสำเร็จการศึกษา ๓) การประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา (Internal Quality Assurance) ที่จะต้องมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ๓ ปี ตามตัวบ่งชี้ที่จะบ่งบอกถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการอุดมศึกษา คือ ปรัชญา/ปณิธาน/วัตถุประสงค์/แผนดำเนินการ การผลิตบัณฑิต กิจกรรมการพัฒนานักศึกษา การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การบริหาร/จัดการ การเงิน/งบประมาณ และระบบ/กลไกการประกันคุณภาพ โดยปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องเสนอข้อมูลการประกันคุณภาพภายในผ่านระบบ CHE QA Online
l แนวทางการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
ที่ประชุมรับทราบแนวทางการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า ๑๒๐ คน จำนวน ๑๔,๘๑๖ แห่ง ซึ่ง สพฐ.มีข้อเสนอให้ ศธ.ประกาศนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในระดับชาติ และต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจนต่อเนื่อง สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ทุกระดับ นอกจากนี้ควรให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ปรับแก้กฎระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานตามนโยบาย โดยเฉพาะระเบียบบริหารงานบุคคล การไม่แต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า ๖๐ คน ซึ่งการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กควรมีหลากหลายรูปแบบในการพัฒนา เพราะในแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน
นอกจากนี้ สพฐ.ได้รายงานสรุปผลโครงการที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก คือ โครงการโรงเรียนดี ศรีตำบล ซึ่งกระจายอยู่ทุกตำบลๆ ละ ๑ โรงเรียน รวมทั้งสิ้น ๖,๕๔๕ โรง โดยมีบันไดความสำเร็จตามลำดับ คือ ๑) กำหนดนโยบาย ๗-๗-๗-๗ ที่เน้นปัจจัย ๗ ประการ กระบวนการ ๗ ประการ กระบวนการฝึกนิสัย ๗ ประการ และผลลัพธ์ ๗ ประการ ๒) การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กผ่านกระบวนการฝึกนิสัย ๓) การสร้างเครือข่าย "บวร" คือบ้าน วัด โรงเรียน หรือ "บรม" คือ บ้าน โรงเรียน มัสยิด โดยโครงการเน้นสร้างการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) การสร้างผู้บริหารและครูต้นแบบศีลธรรม การสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจ การนิเทศโรงเรียน การประเมินผลงาน การประเมินโรงเรียนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีคุณธรรมนำวิชาการ เป็นเด็กดี เป็นศักดิ์ศรีของตำบล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และมีภูมิคุ้มกันตนเองเพื่อรองรับการเปิดประตูสู่อาเซียน ส่วนผู้บริหารและครูเป็นตัวอย่างคนดี มีศีล ๕ มีธรรมข้อวัตรปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมเครือข่าย บวร หรือ บรม ซึ่งโรงเรียนใดที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับป้ายรับรองต้นแบบโรงเรียนดี ศรีตำบล ติดหน้าโรงเรียนและโล่เชิดชูเกียรติ ซึ่งสามารถขยายผลไปยังโรงเรียนต่างๆ ได้ (รายละเอียดโรงเรียนดี ศรีตำบล : ติดต่อ ดร.อรทัย มูลคำ ผู้อำนวยการโครงการ)
l การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษา
สอศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบการเตรียมความพร้อมด้านหลักสูตร ด้านการส่งเสริมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานทั่วไป วิชาการ ทรัพยากร ความร่วมมือกับสถานประกอบการ จุดเด่นของสาขาวิชาที่เปิดสอน และจุดที่ต้องพัฒนาของสาขาวิชาที่เปิดสอน และการเตรียมการการได้มาของสภาสถาบันการอาชีวศึกษา ที่จะต้องเตรียมการสรรหากรรมการสภา จัดทำโครงสร้างอัตราตำแหน่ง หลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งและการกลับเข้าสู่ตำแหน่ง ร่างประกาศ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการในการเสนอขออนุมัติหลักสูตร
l การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy)
จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ หารือกันในเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) นั้น ในส่วนของ ศธ. ได้เป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่ง สป.ศธ.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปถึงแนวทางการพัฒนา ๖ ประเด็น คือ ๑) พัฒนาคุณภาพการศึกษา ๒) สร้างโอกาสทางการศึกษา ๓) ปฏิรูปครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ๔) พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ๕) ผลิตและพัฒนาคุณภาพกำลังคนรองรับการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ๖) พัฒนาการศึกษารองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
l (ร่าง) ยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๘
ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในการดำเนินการจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๘ ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ นำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พึ่งพาตนเองได้ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุข" ซึ่งได้กำหนด ๗ ยุทธศาสตร์ ๖๓ มาตรการ ในการดำเนินการ คือ ๑) ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ๒) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ๓) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปครู เพื่อยกฐานะวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ๔) ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการฝึกอาชีพ ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ๕) ยุทธศาสตร์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ๖) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ ๗) ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน
l แนวทางช่วยเหลือ รร.เอกชนจากนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาท
ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือโรงเรียนที่เงินอุดหนุนไม่พอจ่ายเงินเดือนครูในอัตรา ๑๑,๖๘๐ บาท (ค่าครองชีพ ๓,๓๒๐ บาท) ในระยะเร่งด่วน ด้วยวิธีอุดหนุนเพื่อจ่ายเงินเดือนครูส่วนที่ขาดโดยตรง (Fast Track) พร้อมทั้งมอบสมาคมทางการศึกษาเอกชน สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ศึกษาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือที่มีความเหมาะสมกับโรงเรียนแต่ละประเภทแต่ละขนาด งบประมาณที่ต้องใช้ รวมทั้งแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายระยะยาว เสนอคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ ศธ.ช่วยเหลือต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้แก้ไขแล้วโดยให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบ เป็นเงินเดือนครูในอัตราเดียวกันทุกครั้งที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ
- ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ปรับเงินเดือนครูจาก ๑๑,๖๘๐ บาท เป็น ๑๓,๓๐๐ บาท เพิ่มเงินอุดหนุนอีก ๗๗๗.๕๐ บาท / ๙๗๒.๐๐ บาทต่อคนต่อปี ใช้งบประมาณปี ๒๕๕๖ เพิ่มขึ้น ๑,๙๒๑.๘๔ ล้านบาท
- ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗ ปรับเงินเดือนครูจาก ๑๓,๓๐๐ บาท เป็น ๑๕,๐๐๐ บาท เพิ่มเงินอุดหนุนอีก ๘๑๖.๐๐ บาท / ๑,๐๒๐.๐๐ บาทต่อคนต่อปี ใช้งบประมาณปี ๒๕๕๗ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓,๙๒๑.๑ ล้านบาท
l โครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา
สป.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมจัดโครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Leadership for Education Change : LEC) โดยให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา รับผิดชอบดำเนินการระหว่างปี ๒๕๕๖-๒๕๕๙ จำนวน ๒ รุ่นๆ ละ ๓๐ คน โดยเน้นให้ข้าราชการ ศธ.ระดับชำนาญการพิเศษ หรือเชี่ยวชาญ ที่มีอายุไม่เกิน ๔๕ ปี (ยกเว้นกรณีที่คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสม) มีจิตอาสา ความเป็นผู้นำ มีความเสียสละ และความทุ่มเทในการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมเข้าร่วมโครงการได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของระยะเวลาดำเนินงานโครงการ ซึ่งคาดว่าโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างให้ผู้นำมีกระบวนทัศน์ ทักษะ ภาวะผู้นำใหม่ ที่มีคุณสมบัติเอื้อต่อการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นการปรับเวลาเปิดปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาให้ตรงกับอาเซียน ซึ่งที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาทุกระดับไปหารือร่วมกับ ทปอ. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประเด็นการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลด้านพลังงาน ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานและไฟฟ้า โดยได้ตั้งเป้าหมายให้หน่วยงานต่างๆ ลดการใช้พลังงานร้อยละ ๑๐ หากหน่วยงานใดมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕ ให้สำนักงบประมาณดำเนินการปรับลดงบประมาณในปีต่อไป ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ของ ศธ.จะมีมาตรการในการประหยัดพลังงาน (น้ำมัน) และไฟฟ้าต่อไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/feb/068.html