นักวิชาการแฉติวเตอร์โผล่ในโรงเรียน จ้างติวเข้มนักเรียนหวังยกระดับค่าเฉลี่ย O-NET 20% ผักชีโรยหน้าผลงานผู้บริหาร เงินเดือน-วิทยฐานะครู จี้ สพฐ.ศึกษาผลกระทบดีหรือไม่อย่างไร
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) 20% มาถ่วงน้ำหนักคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPA) ตลอดจนนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะของครู และใช้วัดเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียนว่า เมื่อมีการใช้คะแนน O-NET มาเกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดวัฒนธรรมการศึกษาใหม่ในวงการศึกษาไทย คือ O-NET มีอำนาจมาก ซึ่งอำนาจตรงนี้หากถูกนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์จะเกิดประโยชน์สูงสุด
แต่ขณะนี้กลับเกิดปรากฎการณ์ทางลบมากกว่า จากเมื่อก่อนที่พยายามลดจำนวนเด็กแห่เรียนกวดวิชา แต่เวลานี้สถานศึกษากลับจ้างติวเตอร์ประมาณ 500 บาทต่อหนึ่งคาบมากวดวิชาให้เด็ก โดยเฉพาะข้อสอบ O-NET ถึงโรงเรียน เพื่อยกระดับสัดส่วน 20% ให้สูงขึ้น เนื่องจาก O-NET มีผลกระทบต่อการโยกย้ายผู้บริหาร ระดับเงินเดือน การเพิ่มวิทยฐานะ จึงมีการติวการสอบ O-NET มากกว่าวิชาการเรียนการสอนปกติ
"ขณะนี้โรงเรียนจำนวนไม่น้อย แปลงสภาพกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของระบบการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเกือบ 1 ใน 3 ของเวลาเรียนกลายเป็นเวลาให้ติวเตอร์กวดวิชาให้นักเรียน"
นายสมพงษ์ กล่าวและว่า สำหรับโรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนประจำตำบล หรือโรงเรียนตามแนวชายแดนซึ่งอยู่รอบนอก สถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และเด็กคงไม่มีทางผ่านเกณฑ์เหล่านี้ได้ ฉะนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำเป็นต้องมีทางเลือกให้กับโรงเรียนเหล่านี้ด้วย เพราะโรงเรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเน้นทักษะชีวิต และการมีงานทำ ทั้งนี้ขอให้ สพฐ.ศึกษาถึงกรณีติวเตอร์ในโรงเรียนด้วยว่ามีผลกระทบทั้งดีและไม่ดีอย่างไร
ที่มา สยามรัฐ