ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแต่งตั้งเลขาธิการ กช.
ศึกษาธิการ - สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เห็นชอบแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวง และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
เห็นชอบให้มีวันหยุดติดต่อกัน ๕ วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ ๑๒-๑๖ เมษายน ๒๕๕๖
►เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง ศธ.เสนอให้ ครม.พิจารณาว่า
๑) การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและเป็นส่วนราชการ ทำให้ต้องดำเนินงานภายใต้ระบบราชการที่ใช้แนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาจะแตกต่างกับภารกิจของส่วนราชการอื่น เพราะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยความคล่องตัวและความอิสระเป็นเครื่องมือในการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเพื่อสร้างสรรค์ปัญญาแก่สังคม ซึ่งการอยู่ภายใต้ระบบราชการทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินการตามภารกิจบนพื้นฐานหลักการอุดมศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคน เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน
ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๑ เกี่ยวกับมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐว่าไม่ให้ส่วนราชการเพิ่มอัตราใหม่ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๑ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ และวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๓ เห็นชอบหลักการแผนปฏิบัติการในการดำเนินการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมทั้งอนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภายหลังจากที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว สถาบันอุดมศึกษาได้บรรจุบุคลากรเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีกฎหมายรองรับสถานะในการทำงาน สิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการ รวมทั้งบุคลากรที่เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวสมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นแนวทางดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
๒) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเผยแพร่ให้ทราบ มีการประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์ จัดประชุมผ่านกลไกในระดับต่าง ๆ แล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
๑) กำหนดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และเป็นนิติบุคคล
๒) กำหนดวัตถุประสงค์ การแบ่งส่วนงาน และหน้าที่ของส่วนงานการรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
๓) กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน เป็นต้น และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
๔) กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่ง และคณาจารย์ประจำตามที่กำหนด กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง และให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
๕) กำหนดให้มีสภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์ ประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรตามที่กำหนด และให้สภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์มีหน้าที่ตามที่กำหนด
๖) กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยอธิการบดีเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง และให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
๗) กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาการ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการวิชาการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
๘) กำหนดให้มีสภาอาจารย์ และสภาพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุม เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
๙) กำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
๑๐) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา และการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
๑๑) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
๑๒) กำหนดบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณฯ การดำรงตำแหน่งและคณะกรรมการต่าง ๆ ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
►แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง
ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัด ศธ. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน ๒ ราย ตามที่ ศธ.เสนอ ดังนี้
๑) นางอ่องจิต เมธยะประภาส ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
๒) นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
พร้อมกันนี้ ครม. เห็นชอบให้มีวันหยุดติดต่อกัน ๕ วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ระหว่างวันศุกร์ที่ ๑๒ ถึงวันอังคารที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๖ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลดังกล่าว
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/feb/054.html