1. โครงการ Race to the Top
โครงการ Race to the Top (RTT) เป็นโครงการนำร่องปฏิรูปการศึกษาของสหรัฐอเมริกา เริ่มเมื่อปี 2009 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก โอบามา โดยสนับสนุนงบประมาณ 4.35 พันล้านเหรียญให้มลรัฐ (State) และท้องถิ่น (Local District) ดำเนินการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับ ผิดชอบโครงการ งบประมาณที่สนับสนุนดังกล่าวเป็นลักษณะของทุนอุดหนุนเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน (Competitive grants) โดยมลรัฐ/ท้องถิ่นจะเป็นผู้เสนอโครงการว่าจะพัฒนาการศึกษา อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไร เพื่อสร้างความเป็นเลิศและจะดำเนินการให้ยั่งยืนอย่างไร ตามประเด็นที่กำหนดซึ่งมีน้ำหนักแตกต่างกัน ดังนี้
1) การพัฒนาประสิทธิภาพครูและผู้บริหารโรงเรียน (ร้อยละ28)
2) การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำ (ร้อยละ25)
3) มาตรฐานการศึกษาและการประเมินครูแบบ Value-added Modeling (ร้อยละ14)
4) การพัฒนา Charter School และนวัตกรรมทางการศึกษา (ร้อยละ11)
5) การช่วยเหลือโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ (ร้อยละ10)
6) ระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน (ร้อยละ9)
7) STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematic) (ร้อยละ3)
การกำหนดจุดเน้นและจัดสรรงบประมาณดังกล่าว เป็นการจัดครั้งแรก เมื่อปี 2009 งบประมาณส่วนใหญ่จัดให้กับ 11 มลรัฐ (State) และปี 2012 ได้มีการจัดสรรงบประมาณโดยเน้นให้ท้องถิ่น(Local District) และเครือข่ายโรงเรียน (Consortium) โดยจัดทุนอุดหนุน รายละ 10-40 ล้านเหรียญ โดยเพิ่มจุดเน้นเกี่ยวกับ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเรียนการสอน การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการพัฒนาทักษะอาชีพ
เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นะครับ เพราะเราเคยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ที่เราเรียกว่า “ งบแลกเป้า ” มาก่อนแล้ว ซึ่งได้รับความพึงพอใจจากสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนมาก เพราะได้มีโอกาสคิดเอง ทำเอง และแก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของตน แต่เราต่างจากเขาก็คือ เราตั้งงบไว้ไม่มากนักเพื่อการนี้ และเราทำไม่ต่อเนื่อง บางปีก็มีบางปีก็ไม่มี
2. Harlem Children’s Zone (HCZ)
Harlem Children’s Zone (HCZ) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งเมื่อ ปี 1970 ที่นิวยอร์ก โดยGeoffrey Canada มีพันธกิจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในชุมชน เสื่อมโทรม โดยเริ่มตันจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยใน 1 block ในปี 1990 และเมื่อ ปี 2011 HCZ ดูแลเด็ก 11,043 คน วัยรุ่น 10,883 คน จากชุมชน 97 blocks มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ในโครงการทั้งหมด 2,500 คน (ทำงานไม่เต็มเวลา(part time) 1,475 คน) ได้รับงบประมาณ ปีละ 95 ล้านเหรียญ สภาพใน Halem นั้น มีเด็กด้อยโอกาสร้อยละ 73 ครอบครัวยากจนรายได้ต่ำกว่า 15,000 เหรียญ ร้อยละ 28 เด็กกำพร้า ร้อยละ 64 เด็กที่เป็นโรคอ้วน ร้อยละ 44 วัยรุ่นที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 36 โครงการสำคัญๆ ของ HCZ เช่น
1) โครงการพัฒนาชุมชน
2) โครงการครอบครัวศึกษา
3) โครงการให้บริการสังคมแบบ Single Stop
4) โครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัย
5) โครงการสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน
6) โครงการป้องกันความรุนแรงในเด็กและเยาวชน
7) โครงการ Charter School
8) โครงการเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อและประกอบอาชีพ
หลักการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
1) พัฒนาแบบครบวงจร
2) สร้างสรรค์โครงการเพื่อพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนมีงานทำอย่างมีคุณภาพ
ที่มา http://www.plan.obec.go.th/ewt_news.php?nid=1131&filename=index
3) สร้างชุมชนที่ดีแบบมีส่วนร่วม โดยผู้ปกครอง เด็ก และสถาบันในชุมชน
4) ประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
5) สร้างวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จในองค์กร
HCZ มีความเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จก็คือ ความมุ่งมั่นของชุมชนต่อการพัฒนาตามความต้องการของตนและโครงการพัฒนาที่ดีต้องสนองตอบเด็กเป็นรายบุคคลและรายครอบครัว
ใครนึกภาพ Halem ที่ผมเล่ามาไม่ออก ก็ให้นึกถึงชุมชนแออัดบางแห่งที่มีปัญหาสารพัน เช่น ความยากจน ยาเสพติด โจรกรรม อันธพาล ตั้งครรภ์ก่อนวัยกันควรก็แล้วกันครับ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาบ้านเราอย่างไร แนวคิดที่ผมได้ก็คือ เป็นโครงการที่ช่วยป้องกันและแก้ไขเด็กออกกลางคัน เด็กจะอยู่ที่โรงเรียน ประมาณวันละ 8 ชั่วโมง อยู่ที่บ้านวันละ 16 ชั่วโมง HCZ พยายามหากิจกรรมต่างๆมาจัดในชุมชนเพื่อให้เด็กมีโอกาสทำประโยชน์เพื่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน ปิดโอกาสไม่ให้ทำไม่ดี เมื่อไม่มีโอกาสเสี่ยงในเรื่องที่จะไม่ดี โอกาสที่จะเป็นคนดีและเรียนจนจบหลักสูตรและมีงานทำจึงมีสูง
3. National Education Account
ระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account : NEA) เป็นระบบการจำแนกทรัพยากร(Resources)เพื่อใช้สำหรับจัดการศึกษา ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวอาจมาจากภาครัฐ ภาคเอกชน(รวมทั้งจากครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียน) และทรัพยากรที่ได้รับจากการบริจาคจากแหล่งต่างๆ ทรัพยากรดังกล่าวอาจเป็นเงิน วัสดุ ครุภัณฑ์ หรือแรงงานก็ได้ ซึ่งสรุปแล้วก็คือ ทรัพยากรที่นำมาลงทุนเพื่อการจัดการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด และเป็นอะไรก็ตาม ทรัพยากรดังกล่าวจะถูกจัดสรร/ปันส่วนไปเป็นต้นทุนกิจกรรมและต้นทุนผลผลิตของหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา เช่น เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง ค่าอาหารเสริม(นม) ค่าอาหารกลางวัน ค่าจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ค่าบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลแห่งการเรียนรู้ (Learning Outcome)ของผู้เรียน
การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาในอดีตที่ผ่านมามักจะตอบคำถามว่า เราจะนำทรัพยากรไปใช้ทำอะไร แต่ถ้าเราต้องการต้องการให้เกิดผลแห่งการเรียนรู้ของนักเรียนตามที่เราต้องการแล้วละก็ เราต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ทรัพยากรที่ได้รับมานั้นจะก่อให้เกิดอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลแห่งการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือไม่ ระบบบัญชีรายจ่ายทางการศึกษาแห่งชาติจะช่วยทำให้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาจัดสรรอย่างถูกที่ถูกทางและพอเพียง แต่เพียงเท่านี้ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าทรัพยากรดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลแห่งการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตัวแปรหรือองค์ประกอบที่ส่งผลต่อผลแห่งการเรียนรู้ จะต้องถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษา นอกจากนั้นทรัพยากรเพื่อการศึกษายังต้องได้รับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
จดหมายฉบับนี้ของผมคงเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายสำหรับเวทีนี้ เนื่องจากขณะนี้ท่านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนคนใหม่แล้ว ส่วนผมคงไปทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา สพฐ. ท่านผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนคนใหม่คงใช้เวทีนี้พูดคุยกับท่านในเรื่องราวของการวางแผนและงบประมาณ สำหรับผมคงต้องไปหาเวทีใหม่ที่เหมาะๆ สำหรับเป็นเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวแผนและผู้สนใจทุกท่านที่ให้การติดตามถามไถ่และให้ข้อเสนอแนะเรื่องราวต่างๆด้วยดีเสมอมา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านจงมีแรงกายแรงใจ มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันผลักดันการศึกษาขั้นพื้นฐานของเราให้ก้าวไปสู่จุดหมายสมตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งใจไว้ สวัสดีครับ