ดาวเคราะห์น้อย 2012 DA 14 โคจรใกล้โลก : 16 กุมภาพันธุ์
ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ขนาดประมาณ 45 เมตร จะโครเข้าใกล้โลกในระยะ 27,000 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมค้างฟ้า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่นักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์เฝ้าจับตาชม แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อโลก
ดาวหางแพนสตาร์ โคจรใกล้โลก : 5 มีนาคม
ปรากฏการณ์ดาวหางแพนสตาร์ ใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม 2556 และจะสุกสว่างมากที่สุดในวันที่ 10 มีนาคม 2556 แต่จะเห็นได้ชัดในวันที่ 9-17 มีนาคม ส่วนช่วงที่ประเทศไทยสามารถจะสังเกตดาวหางได้ดีที่สุดคือช่วงที่ดาวหางเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่คาดว่าดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด
จันทรุปราคาบางส่วน : 26 เมษายน
ในช่วงรุ่งสางของวันที่ 26 เมษายนนี้ เราจะได้ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 2.54 น. และจะสิ้นสุดลงในเวลา 5.11 น. โดยประเทศไทยสามารถชมปรากฏการณ์นี้ได้พร้อมกับประเทศทางซีกโลกตะวันออกของอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และ ออสเตรเลีย
ดาวหางไอซอน : เดือนพฤศจิกายน
ปรากฏการณ์ดาวหางไอซอน สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และสว่างที่สุดในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 และอาจสุกสว่างใกล้เคียงกับดวงจันทร์เต็มดวงทีเดียว นอกจากนี้ดาวหางไอซอนจะใกล้โลกที่สุดราววันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 โดยห่างจากโลกประมาณ 64 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเราสามารถชมดาวหางไอซอนได้ยาวต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบ 10 ปี เลยทีเดียว
ขณะที่ปรากฏการณ์ฝนดาวตกในปีนี้ จะเกิดขึ้นมากกว่า 6 ช่วงเวลา โดยช่วงที่คาดว่าจะเกิดได้มากที่สุดคือ คืนวันที่ 12 สิงหาคม ถึงเช้ามืดของวันที่ 13 สิงหาคม โดยจะมีฝนดาวตกมากกว่า 60 ดวง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ครอบครัวข่าว 3