นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุม “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารการศึกษา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๖ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
รมว.ศธ.กล่าวขอบคุณที่ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ ศธ. ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของความร่วมมือก็มีความเชื่อมโยงกับแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างคนในแบบที่เราต้องการ โดยมีปัจจัยที่จะต้องดำเนินการ ดังนี้
- ความรู้พื้นฐานที่ควรจะรู้ จะต้องให้เด็กมีความรู้พื้นฐานในภาพรวม ภาพกว้าง แต่ไม่จำเป็นต้องรู้มากเกินไป เพราะไม่เกิดประโยชน์ เพราะข้อมูลความรู้ในยุคปัจจุบันไม่จำเป็นจะต้องต้องท่องจำเพียงอย่างเดียว เราสามารถค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นปัจจุบันและละเอียดกว่าการท่องจำ เพียงแต่ขอให้นักเรียนได้รู้วิธีการสืบค้น รู้ว่าจะสืบค้นได้จากที่ใด และรู้วิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความรู้นั้นๆ
- การคิดวิเคราะห์ เราต้องสอนให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ เพราะไม่ว่าจะไปเรียนสายใด ศาสตร์ใด หรือแม้แต่ทำงานส่วนใด ก็สามารถทำได้ เพราะคิดวิเคราะห์เป็น แต่หากเด็กท่องจำเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในศาสตร์ตัวเองหากออกข้อสอบนอกจากแนวที่ท่องไว้ ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งการที่จะทำให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้นั้นเกิดจากกระบวนการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้มีการถกแถลงและแสดงความคิดเห็นภายในห้องเรียน
- กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดได้จากการไม่มีกรอบไปจำกัด เราจะต้องพยายามให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ซึ่งการสอนของครูบางครั้งไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ สอนให้เด็กท่องจำเพียงอย่างเดียว ครูก็จะมีความรู้เท่าเดิม แต่หากครูเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ อภิปรายแลกเปลี่ยนในห้องเรียน ก็จะเป็นการพัฒนาครูไปด้วย
- ภาษาต่างประเทศ เด็กไทยจะต้องรู้ภาษาอื่นด้วยโดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของประชาคมอาเซียน หากเรารู้แต่ภาษาไทยเพียงอย่างเดียว เราก็จะสื่อสารกับคนเพียง ๗๐ ล้านคน แต่หากเรารู้ภาษาอังกฤษเราก็จะสามารถสื่อสารได้กับคนในประเทศสมาชิกอาเซียนและคนทั่วโลก สามารถสืบค้น ค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมากมาย แต่ปัจจุบันเด็กไทยอ่อนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการพูดและการฟัง ซึ่งทักษะของการพูดและฟังจะต้องมีการใช้เป็นประจำ จึงจะสามารถสื่อสารได้ เช่นเดียวกับภาษาไทยที่เราต้องหัดฟังก่อนที่เราจะพูดได้ จึงต้องการให้โรงเรียนส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ภาษาอังกฤษ โดยอาจจะกำหนดเป็นวันภาษาอังกฤษ ๑ วันต่อสัปดาห์ หรือจัดทำป้ายสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกพูดภาษาอังกฤษ เมื่อเจอกับคนที่มีความต้องการฝึกเหมือนกันก็จะสามารถพูดคุยได้ทันที
- ครู ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครูว่า หลักสูตรใหม่จะช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้อย่างไร และครูต้องเชื่อว่าหลักสูตรใหม่จะช่วยให้การเรียนการสอนดีขึ้นกว่าเดิม เพราะปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาถึงร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งสูงในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลการศึกษาจากการประเมินการศึกษาในด้านต่างๆ กลับพบว่า เด็กไทยต่ำกว่าเด็กประเทศอื่นที่ได้ลงทุนด้านการศึกษาน้อยกว่าเรา เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันและร่วมกันพัฒนาให้เด็กไทยมีผลการเรียนที่ดีขึ้น
- การส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ขณะนี้เราขาดแคลนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ต้องการจะศึกษาต่อสายวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา จำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ซึ่งการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ขึ้นอยู่กับครูเช่นกัน แต่เนื่องจาก ศธ.กำลังขาดแคลนครูเก่งในสาขานี้ และครูที่มีอยู่ก็มีทั้งครูเก่งและไม่เก่ง มีช่องว่างในส่วนนี้จำนวนมาก ครูที่เก่งก็จะเก่งมากๆ สามารถสอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่ครูที่ไม่เก่งจะสอนเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องซับซ้อน อย่างไรก็ตามการพัฒนาครูไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราต้องหาตัวอย่างครูที่สอนดี เช่น ครูในโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ที่มีเทคนิคการเรียนการสอนที่ดี ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจ และสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย โดยให้ครูไปศึกษาเทคนิควิธีการเรียนการสอนของครูเหล่านั้น อาจศึกษาอยู่ที่บ้านก็ได้ เพื่อจะได้นำเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ในการสอนของตนเอง ขอให้เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยาก
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕ ได้ไปปฏิบัติภารกิจในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ในการมอบรางวัลการบริการภาครัฐแห่งชาติดีเด่นและรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ แต่ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานของ ศธ.ได้รับรางวัลเลย แม้จะมีรางวัลมอบให้หน่วยงานต่างๆ ถึง ๑๒๐ รางวัล จึงขอฝากบอกผู้บริหารการศึกษามัธยมศึกษาให้ช่วยกระจายข่าวการมอบรางวัลครั้งนี้ด้วย หากหน่วยงานใดมีเรื่องดีเด่นในลักษณะนี้ก็ขอให้นำมาแสดงให้ได้รับรู้ แต่หากยังไม่ดี ก็ขอให้นำแนวทางของหน่วยงานที่ได้รับรางวัลมาพัฒนาต่อไป เพราะ ศธ.และหน่วยงานในสังกัดต้องให้บริการประชาชน จึงจำเป็นต้องพัฒนาการให้บริการทางด้านการศึกษาแก่ประชาชนที่มาติดต่อ อำนวยความสะดวก และปรับปรุงการบริการต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังมอบนโยบาย รมว.ศธ.ได้เป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ๔๒ เขต โรงเรียนมัธยมศึกษา ๒,๓๖๑ โรงเรียน กับสมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย ซึ่งได้แสดงเจตจำนงร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนี้
๑) พัฒนาการมัธยมศึกษาให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย ประชากรวัยเรียนมีคุณภาพระดับสากลบนพื้นฐานความเป็นไทย
๒) พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีคุณธรรมและจริยธรรม
๓) พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการการจัดการเรียนรู้สู่กลุ่มอาชีพเทียบเคียงมาตรฐานสากล
๔) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพและกระจายอำนาจตามหลักนิติบุคคล
๕) ระดมสรรพกำลังสร้างภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาการจัดการมัธยมศึกษาให้เข้มแข็ง
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/jan/018.html