บทวิเคราะห์ ถึงเวลายุบ สมศ. ได้แล้วหรือยัง ?
รศ.ดร.บุญมี พันธุ์ไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) เกิดมาจากการมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ สมศ.ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานฯ พ.ศ.2543 ทำงานมามากกว่า 10 ปี เกี่ยวกับการประกันคุณภาพทางการศึกษา
แต่ก็ไม่สามารถประกันคุณภาพได้เลย เพราะคุณภาพของเด็กไทยตกต่ำลงทุกปี แสดงว่าทำงานล้มเหลวมาตลอดเวลา 10 กว่าปี ใช้งบประมาณของประเทศชาติไปมากมายมหาศาล ถึงเวลาแล้วที่จะถูกยุบหรือยัง
จากผลการสอบของ สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าคะแนน O-NET วิชาสามัญทั้งหลายได้แก่ วิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยน้อยมากไม่ถึง 50% ของคะแนนเต็ม (คะแนนเต็ม 100) ยกเว้นวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาได้คะแนนเฉลี่ยเกินครึ่งนิดหน่อย
ส่วนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีได้คะแนนเฉลี่ยเกือบถึงครึ่ง (คะแนน 40 กว่าๆ) และแนวโน้มคะแนนของนักเรียนก็จะลดลงทุกปี ซึ่งก็สอดคล้องกับการประเมินของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment:PISA) หลายปีที่ผ่านมาความสามารถของเด็กไทยด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ก็ตกต่ำลงทุกปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันก็สู้เขาไม่ได้และมีแนวโน้มจะลดลงทุกปีด้วยเช่นกัน
อดีต ผอ.สมศ.ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นประธานบอร์ด สมศ.ได้บรรยายในการประชุมวิชาการประจำปี 2555 จัดโดยสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา (สวพอ.) ผู้เขียนได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ดูเหมือนท่านเองก็จะยอมรับว่าการทำงานของ สมศ.ในขณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ยังมีเป้าหมายในการประเมินไม่ชัดเจน แต่ผู้เขียนเองอยากจะพูดว่าการทำงานของ สมศ.ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันล้มเหลวมาตลอดไม่ใช่ล้มเหลวเฉพาะตอนนี้ ผู้เขียนเองเคยเขียนวิจารณ์การทำงานของ สมศ.มาแล้วพร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะด้วยว่าควรทำอย่างไร ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านได้โดยคลิกไปที่ Google แล้วพิมพ์ชื่อผู้เขียนลงไป
การประเมินของ สมศ.ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมุ่งไปที่ตัวผู้บริหารและครูเป็นสำคัญ จึงทำให้ผู้บริหารและครูต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปจัดทำเอกสารต่างๆ ตามตัวชี้วัดให้ดีที่สุด เตรียมไว้รองรับการประเมินเพื่อให้ได้คะแนนมากๆ ผลการประเมินจะได้อยู่ในอันดับต้นๆ โดยไม่สนใจการเรียนการสอนนักเรียนในห้องเรียน ยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้ประเมินทั้งภายในและภายนอกจะมาประเมิน บางโรงเรียนถึงกับต้องปิดโรงเรียนหรืองดการเรียนการสอนนักเรียนเลยก็มี และให้นักเรียนมาช่วยจัดทำสภาพแวดล้อมรอบๆ โรงเรียนให้สวยงามจะได้คะแนนมากๆ
เ
มื่อคุณภาพของนักเรียนตกต่ำลงเรื่อยๆ ดังที่ได้กล่าวมา ผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี สมศ.ต่อไปอีกแล้ว แต่ก็อาจจะมีนักวิชาการบางท่านโต้แย้งว่า ถึงแม้ไม่มี สมศ.ทำหน้าที่ประกันคุณภาพทางการศึกษา คุณภาพของเด็กก็ยังแย่เหมือนเดิมเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเด็ก ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดนี้ ก็แสดงว่าการมีหรือไม่มี สมศ.ก็ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเด็กอยู่แล้ว
นั่นคือ แทนที่รัฐบาลจะเอางบประมาณไปให้ สมศ.ทำประกันคุณภาพทางการศึกษาอย่างที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ สู้เอางบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นๆ ทางการศึกษาน่าจะมีประโยชน์มากกว่า
ก่อนปี พ.ศ.2542 ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประกันคุณภาพทางการศึกษาเหมือนอย่าง สมศ.ก็ไม่เห็นมีเสียงสะท้อนออกมาว่าคุณภาพเด็กไทยตกต่ำเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่กลับมีเสียงชื่นชมว่าการจัดการศึกษาสมัยก่อนนี้ทำได้ดีกว่าสมัยนี้เสียอีก ใช้งบประมาณก็ไม่มากมายเหมือนอย่างปัจจุบัน โครงการใหญ่ๆ ที่เราเรียกว่า เมกะโปรเจ็กต์ก็ไม่มี เด็กเรียนแค่ระดับประถมศึกษาก็สามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขคล่อง ดีกว่าเด็กในยุคปฏิรูปการศึกษาเสียอีก
ผู้เขียนเคยเสนอให้ยุบ สมศ.มาแล้ว แต่ก็มีบางท่านบอกว่ายุบไม่ได้ง่ายๆ หรอกเพราะตั้งมาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ก่อนซึ่งมีขั้นตอนมาก แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าไม่น่าจะยาก เพราะ สมศ.จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานฯ พ.ศ. 2543 ถ้าจะยุบก็ออกพระราชกฤษฎีกายุบสำนักงานฯเสียก็ไม่น่าจะยุ่งยากเหมือนการออก พ.ร.บ.
ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะ รมต.กระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ถ้าท่านเห็นว่าเหตุผลที่ผู้เขียนกล่าวมานั้นพอจะรับฟังได้หรือพอมีมูล แต่ท่านอาจจะไม่แน่ใจก็สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก็ได้ โดยการสอบถามครูและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือทำโพลเฉพาะเรื่องนี้ก็ยิ่งดี ซึ่งผู้เขียนก็ยังมั่นใจว่าผู้บริหารสถานศึกษา ครูและอาจารย์ส่วนใหญ่จะตอบตรงกันว่าควรยุบ สมศ.ได้แล้ว อดีตท่านเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ผู้เขียนเชื่อว่าท่านคงจะมีช่องทางของกฎหมายที่จะยุบ สมศ.ได้โดยไม่ยาก
ถ้าท่าน รมต.ทำได้ ผู้เขียนคิดว่าท่านจะได้รับความขอบคุณและเสียงชื่นชม ในความกล้าหาญของท่านจากครูและอาจารย์ทั่วประเทศที่มีจำนวนมากเป็นหลักแสน ที่ท่านได้ช่วยปลดแอกที่เป็นภาระที่หนักแต่ไม่มีประโยชน์ออกจากบ่าของพวกเขาเสียที
พวกเขาเหล่านั้นจะได้เอาเวลาไปสอนเด็กนักเรียนให้เต็มที่เพื่อคุณภาพเด็กไทยจะไม่ตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 9 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)