นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมืองของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษาในปี ๒๕๕๖
● ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน
รมว.ศธ. กล่าวว่าเรื่องของหลักสูตรมีผู้รู้จำนวนมาก และมีความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงต้องการให้มีส่วนร่วมอย่างมากตั้งแต่ต้น เพราะหากในช่วงต้นมีส่วนร่วมน้อย ช่วงท้ายจะมีความคิดเห็นต่างกันมาก แต่หากมีส่วนร่วมอย่างมากและกว้างขวางในช่วงต้น จะเกิดการตกผลึกและจะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เพราะต้องการพัฒนาการศึกษาของคนไทยทุกคน
ดังนั้นในปี ๒๕๕๖ จะเดินหน้าปรับปรุงหลักสูตรและปรับการเรียนการสอนให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานหลายชุดขึ้นมาขับเคลื่อนและทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ออกแบบระบบ โดยนำระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมาร่วมศึกษาวิเคราะห์ เช่น ระบบ Outcome-based Education ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกแบบหลักสูตรโดยจะกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อใช้ตำราเรียนนั้นเป็นเช่นไร ด้านตำราซึ่งจะต้องถอดรหัสหลักสูตรเพื่อออกแบบตำรา แต่ไม่ใช่การเขียนตำรา อย่างไรก็ตามจะรักษาระบบตำราไทยที่เป็นตลาดเสรีไว้ เพราะสำนักพิมพ์ในปัจจุบันทั้ง ๑๗ แห่ง สามารถแข่งขันกันสร้างตำราที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอยู่แล้ว
นอกจากนี้ นโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา นับว่าเป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ ดังเช่น Microcontent ของสหรัฐอเมริกา โดยในปี ๒๕๕๖ ศธ.จะเร่งดำเนินการ Cyber Home ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลให้แล้วเสร็จ เพื่อเชื่อมโยงกับการเรียนรู้จากแท็บเล็ตของนักเรียน
จากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องให้หลากหลายที่สุด โดยเชิญผู้รู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ มาช่วยระดมสมองให้มากที่สุด ซึ่งการที่จะให้คนมีส่วนร่วมมากตั้งแต่ต้นจะทำให้การปรับหลักสูตรเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเสียเวลาน้อยกว่าการที่ไม่เปิดรับฟังความเห็นจากคนหมู่มาก
อย่างไรก็ตามการปรับหลักสูตรจะครอบคลุมตั้งแต่การทบทวนใหม่อีกครั้งว่าหลักสูตรควรจะแบ่งเป็น ๘ กลุ่มสาระเช่นเดิมหรือไม่ เนื้อหาในแต่ละวิชาจะต้องปรับอย่างไรให้เข้ากับความรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เพราะในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เกิดแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการทบทวนเรื่องโครงสร้างเวลาเรียนด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าเวลาเรียนในห้องเรียนควรจะลดลง เพราะเวลาเรียนในห้องเรียนของเด็กไทยมากเกินไป จนไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดวิเคราะห์ การคิดวิเคราะห์จะเกิดจากการทำกิจกรรมมากกว่า และเพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน ขณะที่วิธีจัดการเรียนการสอนก็ต้องปรับให้ทันสมัยขึ้นด้วย
นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด ๔ ชุดใหญ่ ชุดแรก เป็นกรรมการที่จะมาออกแบบระบบการศึกษาของไทยใหม่ กรรมการออกแบบหลักสูตรในภาพรวม หาคำตอบให้ได้ว่าหลักสูตรควรจะเป็นกี่กลุ่มสาระวิชา เพราะมีแนวคิดหนึ่งว่าควรจะลดสาระวิชาลง แต่กำหนดให้ชัดเจนว่าในสาระวิชานั้นๆ จะแยกย่อยเป็นรายวิชาใดบ้าง เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ไม่มีชื่อรายวิชาย่อย ทำให้ผู้เรียนยังไม่รู้ว่ากำลังเรียนวิชาใดอยู่ หรือบางรายวิชาที่มีประโยชน์ เช่น วิชาเรียงความ หรือย่อความหายไป ทำให้นักเรียนอ่านหนังสือไม่ออกจับใจความไม่ได้
ทั้งนี้ เมื่อกรรมการชุดใหญ่ออกแบบหลักสูตรในภาพรวมแล้ว จะเชิญผู้รู้มาเป็นกรรมการแยกย่อยในแต่ละวิชาอีก เพื่อทำหน้าที่ยกร่างหลักสูตรแต่ละวิชา นอกจากนี้จะมีกรรมการออกแบบตำราเรียน กรรมการชุดนี้จะออกแบบว่าคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อใช้ตำราเรียนนั้นเป็นเช่นไร แล้วให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งทั้งรัฐและเอกชนไปสร้างตำราเรียนตามคุณลักษณะนั้น ส่วนชุดสุดท้ายจะเป็นกรรมการที่สร้างความเข้าใจ เพราะการจะนำระบบการศึกษาและหลักสูตรใหม่มาใช้ จำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อม ในฝ่ายต่างๆ ทั้งโรงเรียน นักเรียน ครู
● เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ
สำหรับการศึกษาด้านอาชีวศึกษานั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้มีสัดส่วนการเรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญ เพิ่มขึ้นเป็น ๕๐:๕๐ ในปี ๒๕๕๙ และเพื่อรองรับสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งนักศึกษาสามารถไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้ และเมื่อจบการศึกษาก็มีการรับประกันการมีงานทำ เพราะ ศธ.จะร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อผลิตบุคลากรในสาขาที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ
จากนั้นระหว่างที่กำลังศึกษานักศึกษาจะได้ฝึกและปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการนั้นๆ โดยสถาบันการอาชีวศึกษาจะเน้นที่คุณภาพ ในช่วงแรกของการเปิดการเรียนการสอนจึงจะรับนักศึกษาจำนวนไม่มากนัก
สำหรับการแต่งตั้งนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาและคณะกรรมการสถาบันการอาชีวศึกษาเป็นเรื่องสำคัญต่อสถาบันใหม่ และเป็นการแต่งตั้งครั้งแรกเพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางซึ่งมีกติกามาก รมว.ศธ.มีหน้าที่พิจารณาตามคำเสนอแนะของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยจะพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมและมีความพร้อมที่สุด
● อัตรากำลังคนภาครัฐ
ในปัจจุบันกำลังคนภาครัฐ จะมีทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้าง ซึ่งจะต้องมีงบประมาณในส่วนของเงินเดือนและสวัสดิการจำนวนมาก ซึ่งมีความพยายามที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว แต่ควบคุมได้ในบางจุด เช่น ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในส่วนของศาลและองค์กรอิสระไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้คนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คนส่วนใดเกินก็ให้ไปช่วยเสริมในส่วนที่ขาด มีหลายกระทรวงขาดบุคลากรด้านการบริการประชาชน แต่จะมีบุคลากรไปกระจุกตัวอยู่ในหน่วยงานกลางเป็นจำนวนมาก
สำหรับด้านการศึกษา ศธ.มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๖๐ คน ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน จึงมีแนวทางในการบริหารจัดการโดยการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในละแวกเดียวกัน เข้าด้วยกัน
หมายเหตุ มีนโยบายต่างๆ กรุณาติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/jan/001.html