ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 10/2555 (25/12/2555) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ งบประมาณปี 2555 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี , แนวทางการจัดสรรเงินรายหัวให้กับนักเรียนในอนาคต และการยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบล
จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 10/2555
ถึง พี่น้องชาวแผนและผู้ที่สนใจทุกท่านครับ
ทำงานเพลินๆ เผลอไม่นาน ก็จะหมดปีเสียแล้ว ก็เป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าผมยังสนุกกับงาน และชีวิต คนที่ไม่สนุกกับงานและชีวิตก็จะตั้งหน้าตั้งตารอว่าเมื่อไรจะหมดวันเสียที เมื่อไปจะถึงวันนั้นวันนี้ ในรอบเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนที่ผมรับผิดชอบอยู่สามเรื่อง ซึ่งไม่นับรวมเรื่องเก่าคือ ค่าตอบแทน 15,000 บาทสำหรับอัตราชั่วคราว ซึ่งรอเข้ารับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอยู่ และเรื่องเงินตกเบิกวิทยฐานะ ซึ่งมี 6 ทางเลือก ผู้บริหารระดับนโยบายเลือกทางเลือกที่ 3 โดยใช้งบประมาณ 1,846 ล้านบาท ถ้าไม่ทราบว่าทางเลือกที่ 3 เป็นอย่างไร ลองเปิดจดหมายฉบับที่ 9/2555 ดูสิครับ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเสนอของบกลางจากคณะรัฐมนตรีอยู่ คุณครูหลายท่านพยายามถามผมว่าแล้วเมื่อไรรัฐมนตรีถึงจะพิจารณา ประเด็นนี้เหนือการควบคุมของเราครับ แต่ผมเชื่อว่าคงเร็วๆนี้ จดหมายฉบับนี้ผมขอคุยสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง งบประมาณ ปี 2555 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เรื่องที่สอง แนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนในอนาคต และเรื่องสุดท้าย การยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบล เริ่มเลยดีกว่าครับ
►งบประมาณปี 2555 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี
หากพี่น้องชาวแผนจำได้ก็จะทราบว่า ช่วงปลายๆเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ทำเรื่องกันเงินงบประมาณที่ สพฐ./สพท./โรงเรียนใช้ไม่ทันถึง 3,644 ล้าน เป็นงบประมาณ ปี 2554 จำนวน 144 ล้าน งบประมาณ ปี 2555 จำนวน 3,500 ล้านไปยังกรมบัญชีกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายการ ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การศึกษาบางรายการ เช่น รถยนต์ตู้โดยสารของเขตพื้นที่และโรงเรียน เครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ รวมถึงรายการโต๊ะเก้าอี้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งตามกำหนดการเดิม รายการต่างๆเหล่านี้ต้องก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2555 ขณะนี้มีข่าวดีที่จะบอกครับว่า กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้ใช้งบประมาณดังกล่าวได้แล้ว และทราบเป็นการภายในว่าจะขยายเวลาให้ก่อหนี้ผูกพันได้จนถึง 31 มีนาคม 2556 ค่อยหายใจคล่องขึ้นมาหน่อยเพราะมีเวลาอีก 3 เดือนจากนี้ ขณะนี้สำนักคลังและสินทรัพย์ สพฐ.กำลังแจ้งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ เมื่อทราบแล้วก็เร่งดำเนินการนะครับ เพราะรัฐบาลต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินทองจะได้ไหลเวียนและคงไม่ขยายเวลาให้อีกแล้วถ้าดำเนินการล่าช้าไม่ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว
►แนวทางการจัดสรรเงินรายหัวให้กับนักเรียนในอนาคต
ขณะนี้เป็นช่วงการโอนเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับภาคเรียนที่ 2/2555 ให้กับโรงเรียน 3 รายการ คือ ค่าเล่าเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งต้องยอมรับว่าช้ามากๆสำหรับการดอนเงินครั้งนี้ ก็ไม่รู้จะโทษใครดี ก็หันไปโทษระบบข้อมูลที่ไม่เสถียร ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่า ที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดในการโอนเงินอุดหนุนดังกล่าวบ้างเหมือนกัน กล่าวคือ บางแห่งได้รับเงินเกิน บางแห่งได้รับเงินน้อยกว่าที่ตนเองจะได้ ทำให้เงินขาดไป เพื่อไม่ให้โรงเรียนเหนื่อยเกินไป สพฐ.ก็ใช้หลักการที่ว่า หากโอนเกินให้คืน หากโอนขาดก็จะโอนเพิ่มให้ ส่วนใหญ่ก็เรียบร้อยดีครับ จะมีก็เพียงบางแห่งที่ได้รับเงินเกินไปแต่ไม่ยอมคืน ดังนั้นการจัดสรรครั้งนี้ สพฐ.จึงไม่จัดสรรให้ เพราะถือเป็นการหักลบกลบหนี้ โดยให้โรงเรียนดังกล่าวใช้เงินส่วนเกินที่ยังไม่ได้ส่งคืน สพฐ. กลับกลายเป็นว่า เงินเก่าที่เกินก็ใช้หมดไปแล้ว ส่วนเงินใหม่ก็ไม่ได้รับจัดสรร จึงเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินใช้ในปัจจุบัน ก็คงต้องแก้ปัญหาเป็นรายๆไปครับ โดยอาจจัดสรรงบประมาณให้ไปใช้เป็นบางส่วนก่อน แต่ก่อนจะจัดสรรให้ จะให้ชี้แจงก่อนว่าโรงเรียนนำงบประมาณส่วนเกินไปใช้อะไรหมดทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใช้ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนมัธยมศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ส่งข้อมูลนักเรียน ถ้าไม่มีข้อมูลจำนวนนักเรียนก็ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ครับ
ขณะนี้เกิดแนวคิดในการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนให้กับผู้ปกครองโดยตรง ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปการเงินเพื่อการศึกษาได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวไว้นานแล้ว คงเข้าหลักที่ว่า “ใครถือเงิน คนนั้นมีอำนาจต่อรอง” ซึ่งเรื่องนี้ในหลายๆประเทศได้ดำเนินการแล้ว โดยจ่ายเงินอุดหนุนนักเรียนให้ผู้ปกครอง แล้วให้ผู้ปกครองนำไปจ่ายให้กับโรงเรียนตามรายการที่โรงเรียนเรียกเก็บ โรงเรียนก็จะพยายามสร้างความดีเด่นดัง ผู้ปกครองจะได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียน เมื่อมีนักเรียนโรงเรียนก็จะได้เงิน ในทางตรงข้ามถ้าไม่มีนักเรียน โรงเรียนก็จะไม่มีเงินเข้ามาบำรุงโรงเรียน ต่างจากโรงเรียนของไปในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าผลสัมฤทธิ์จะต่ำสักเพียงไรก็ตาม หรือไม่ผ่าน สมศ.ก็ตาม หรือไม่มีเด็กเหลืออยู่สักคนก็ตาม ครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เลขาธิการ กพฐ. ทุกคนก็คงยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเต็มทุกคน และไม่เคยมีใครถูกลงโทษ ปัจจุบัน สพฐ.ก็จ่ายเงินเรียนฟรีในรูปเงินสดให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง 2 รายการ คือ ค่าเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน และยังมีอีก 2 รายการที่ได้สำหรับนักเรียนยากจนและนักเรียนพักนอน และในอนาคตหากเป็นไปได้ สพฐ.อาจจ่ายเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนในลักษณะของบัตรเดบิต (Debit card) ซึ่งเป็นบัตรที่มีมูลค่าตามจำนวนเงินอุดหนุนที่นักเรียนได้รับ นักเรียนจะได้รับบัตรเดบิตคนละ 1 ใบ เพื่อใช้แทนเงินสดในการไปซื้อสินค้าและบริการเรื่องต่างๆ ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดกันอยู่ครับ ถ้ามีความคืบหน้าก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
►การยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบล
ขณะนี้ได้เกิดแนวคิดอย่างมีส่วนร่วมในระดับนโยบายถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบลเกิดขึ้น โดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่า ในระดับตำบลจะมีโรงเรียนขนาดเล็กกระจายอยู่ ๒-๔ โรง และโรงเรียนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางความขาดแคลนทรัพยากรในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวก็จะกลายเป็นเด็กด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีความพยายามที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในตำบลที่คาดว่าจะส่งผลให้คุณภาพของนักเรียนสูงขึ้น บางแห่งอาจใช้นวัตกรรมการหมุนเวียนครู หมุนเวียนคอมพิวเตอร์ หรือหมุนเวียนนักเรียน ไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่น ซึ่งหลายแห่งทำได้ดี เช่น สพป. เลย ๑(แก่งจันทร์โมเดล) สพป. เลย ๓(ลากข้างโมเดล) สพป. ลพบุรี เขต ๒(ใจประสานใจโมเดล) สพป. นครราชสีมา3 (ทุ่งหลวงโมเดล) สพป.นครสวรรค์1(พยุหะศึกษาคารโมเดล) สพป.แพร่1(บ้านห้วยโรงนอกโมเดล) สพป.อุดรธานี2(เสอเพลอโมเดล) สพป.พิษณุโลก1(วังน้ำคู้โมเดล)และยังมีอีกหลายแห่ง ซึ่งบางแห่งก็ยั่งยืน บางแห่งก็ไม่ยั่งยืน ทำๆ หยุดๆ แล้วแต่ผู้บริหารโรงเรียนและนโยบายระดับสูง
การสนับสนุนจากต้นสังกัดเพื่อให้นวัตกรรมดังกล่าวข้างต้นดูจะจริงจังขึ้นมาเสียแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความเห็นชอบที่จะให้ สพฐ. จัดทำรถตู้โดยสาร ๑๕ ที่นั่ง ตำบลละ ๑ คัน จำนวน 6,545 คัน (ตำบลทั้งหมดในประเทศไทยมี 7,409ตำบล แต่บางตำบลไม่มีโรงเรียน หรือบางตำบลมีโรงเรียนเป็นเอกเทศไม่ต้องหมุนเวียนเด็ก/ครูหรือบางตำบลเดินทางไปเรียนกับตำบลอื่น) รถยนต์ตู้โดยสารดังกล่าวนี้ จะใช้รับส่งนักเรียนในช่วงเช้า-เย็น กลางวันให้ อบต./เทศบาลตำบลนำไปใช้บริการชุมชน อาคารเรียนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อันเนื่องมาจากการรวมนักเรียนก็เปิดโอกาสให้ กศน. เข้ามาใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในระดับตำบล หรือให้พัฒนาชุมชนมาใช้เป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ของชุมชน โดย สพฐ. จะเป็นผู้ตั้งงบประมาณซื้อรถยนต์และค่าบำรุงรักษา ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้ตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าจ้างพนักงานขับรถและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถดังกล่าว ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีครับ ที่จะเกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้สูงขึ้น มีคำถามแล้วสิว่าจะได้จริงๆ หรือ ทำได้ครับ และมีตัวอย่างให้เห็นแล้วตามรายชื่อสำนักงานเขตพื้นที่ที่กล่าวถึงข้างต้น
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำงานนะครับ แล้วค่อยพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ
ที่มา เว็บไซต์สำนักนโยบายและแผน สพฐ.