"มารยาททางสังคม"
มารยาท หรือ มรรยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาละเทศะ ส่วนคำว่า มารยาทในสังคม จะหมายถึง กรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับมารยาททางสังคมมาเสนอ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ และประโยชน์ในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
-การกล่าวคำว่า “ ขอบคุณ ” เมื่อผู้อื่นให้สิ่งของ /บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่างๆให้ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขาหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเปิดประตูให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้เราในรถประจำทาง คนช่วยกดลิฟท์รอเรา หรือช่วยหยิบของที่เราหยิบไม่ถึงให้ เป็นต้น โดยปกติจะใช้คำว่า “ ขอบคุณ ” กับผู้ที่อาวุโสกว่า และใช้คำว่า “ ขอบใจ ” กับผู้อายุน้อยกว่าเรา แต่ปัจจุบันมักใช้รวมๆกันไป
-เอ่ยคำว่า “ ขอโทษ ” เมื่อต้องรบกวน /ขัดจังหวะผู้อื่น เช่น เขากำลังพูดกันอยู่ และต้องการถามธุระด่วน ก็กล่าวขอโทษผู้ร่วมสนทนาอีกคน แต่ควรเป็นเรื่องด่วนจริงๆ หรือกล่าวเมื่อทำผิดพลาด /ทำผิด หรือทำสิ่งใดไม่ถูก ไม่เหมาะสมโดยไม่ตั้งใจ เช่น เดินไปชนผู้อื่น หยิบของข้ามตัวหรือศีรษะผู้อื่น เป็นต้น
สำหรับคนไทย เมื่อเอ่ยคำว่า “ ขอบคุณ ” หรือ “ ขอโทษ ” ต่อผู้ที่อาวุโสกว่า เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ มักจะยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย เช่น กล่าวขอบคุณพร้อมยกมือไหว้พ่อแม่ที่ท่านซื้อของให้ เป็นต้น
-ในการรับประทานอาหารไม่ว่าจะในหรือนอกบ้าน ไม่ควรล้วงแคะ แกะเกาในโต๊ะอาหาร หากจะใช้ไม้จิ้มฟัน ควรใช้มือป้องไว้ ควรใช้ช้อนกลางตักอาหารจากจานรวม และแบ่งอาหารใส่จานของตนพอประมาณ ไม่มากจนรับประทานไม่หมด ถ้าไอหรือจาม ควรใช้มือหรือผ้าป้องปาก หากต้องคายอาหารก็ควรใช้มือป้องปาก และใช้กระดาษเช็ดปากรองรับ แล้วพับให้มิดชิด และไม่ควรเคี้ยวอาหารเสียงดัง และไม่ควรสูบบุหรี่จนรบกวนผู้อื่น
-การรับประทานอาหารแบบสากล เมื่อเข้าที่นั่งแล้วให้คลี่ผ้าเช็ดมือวางบนตัก ไม่ควรเริ่มรับประทานอาหารก่อนแขกผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพ ใช้เครื่องใช้ในการรับประทานเฉพาะที่จัดไว้ให้เฉพาะคน ใช้ช้อนกลางตักอาหารจานกลาง ห้ามใชัช้อนของตนตักจากจานกลาง ถ้าต้องการสิ่งที่ไกลตัว อย่าโน้มหรือเอื้อมมือไปหยิบข้ามเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารของผู้อื่น หรืออย่าข้ามหน้าคนอื่นไป หากจำเป็นควรขอให้บริกรหยิบให้ การหยิบเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้หยิบจากด้านนอกเข้ามาก่อนเสมอ โดยจับส้อมมือซ้าย และมีดมือขวา ถ้าไม่มีมีด ใช้ส้อมอย่างเดียวให้ถือส้อมด้วยมือขวา จานขนมปังจะอยู่ทางซ้ายให้ใช้มือซ้ายช่วยบิรับประทานทีละคำ อย่าบิไว้หลายชิ้นและอย่าใช้มีดหั่นขนมปัง อย่าทาเนยหรือแยมบน
ขนมปังทั้งแผ่นหรือทั้งก้อนแล้วกัดกิน การกินซุปให้หงายช้อนตักออกจากตัวและรับประทานจากข้างช้อน อย่ากินปลายช้อน อย่าซดเสียงดัง ถ้าจะตะแคงถ้วยให้ตะแคงหงายออกจากตัว อาหารเนื้อสัตว์ ให้ตัดแต่พอคำและกินโดยใช้ส้อมช่วย น้ำดื่มให้วางทางขวามือเสมอ ก่อนลุกจากเก้าอี้ให้ทบผ้าเช็ดปากวางไว้บนโต๊ะ
-ในการไปชมมหรสพ เช่น คอนเสิร์ต หนังหรือละคร ควรเข้าแถวซื้อตั๋วตามลำดับก่อน-หลัง ไม่แทรกหรือตัดแถวผู้อื่น หรือฝากเงินคนที่อยู่ข้างหน้าโดยที่ตัวเองไม่ได้ยืนเข้าแถว เว้นแต่ผู้นั้นสนิทสนมกันและมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่ยืนเข้าแถวไม่ได้ ไม่ควรพาเด็กเล็กเกินไปชมการแสดง เพราะจะส่งรบกวนและทำความรำคาญให้ผู้อื่น ไม่ควรลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น อย่าส่งเสียงสนทนากันดังๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์การแสดง หรือแสดงอาการสนุกสนาน เป่าปาก ตบมือจนเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ หญิงชายไม่ควรเกี้ยวพาราสี หรือกอดจับต้องกันเมื่ออยู่ในโรงมหรสพ เมื่อไอ จาม หรือถ่มน้ำลาย ต้องทำด้วยกิริยาปกปิด มิให้เกิดเสียงดังรบกวนคนอื่น
-ในการเดินกับผู้ใหญ่ ถ้าเดินนำ ให้เดินห่างพอสมควร อยู่ด้านใดก็แล้วแต่สถานที่อำนวย แต่โดยปกติจะเดินอยู่ทางด้านซ้ายของผู้ใหญ่ หากเดินตาม ให้เดินเยื้องไปทางซ้ายของผู้ใหญ่เช่นกัน และเดินด้วยความสำรวมไม่ว่าเดินนำหรือตาม
-การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน มีหลักทั่วๆไปว่า แนะนำผู้อาวุโสน้อยต่อผู้อาวุโสมาก พาชายไปแนะนำให้รู้จักผู้หญิง ยกเว้นชายนั้นจะเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูง พาหญิงโสดไปรู้จักหญิงที่แต่งงานแล้ว แนะนำผู้มาทีหลังต่อผู้มาก่อน ถ้าเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม
-การสวดมนต์ ฟังพระสวด ฟังเทศน์ฟังธรรม หรือขณะพูดกับพระสงฆ์ ให้แสดงความเคารพด้วย การประนมมือ ที่เรียกว่า อัญชลี คือประนมมือให้นิ้วมือแนบชิดกัน ฝ่ามือราบปลายนิ้วตั้งขึ้น แขนแนบตัวระดับอก ไม่กางศอก ทั้งหญิงชายปฏิบัติเหมือนกัน
-การไหว้ (วันทา) มี ๓ ระดับ คือ ถ้าไหว้พระ เช่น พระรัตนตรัย ปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานให้แสดงความเคารพโดยประนมมือให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ถ้าไหว้ผู้มีพระคุณหรือผู้อาวุโส ที่เคารพนับถือ เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ประนมมือให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก ถ้าไหว้บุคคลทั่วไป ให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง ถ้า กราบ(อภิวาท) พระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ ต้องกราบ ๓ ครั้งแบมือ หากกราบคนไม่ว่าจะเป็นคนเป็น หรือคนตาย กราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ
-การจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ให้ประธานในพิธี (จะยืนหรือคุกเข่าแล้วแต่สถานที่) จุดเทียนเล่มซ้ายมือ (ของประธาน)ก่อน แล้วค่อยจุดเล่มขวา จากนั้นจึงจุดธูป แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หากมีพระบรมฉายาลักษณ์และธงชาติด้วย เมื่อกราบแล้ว ถอยออกมาแล้วทำความเคารพด้วยการคำนับเพียงครั้งเดียว ส่วนคนอื่นๆในที่นั้น เมื่อประธานลุกไปประกอบพิธี ให้ยืนขึ้น และเมื่อจุดเทียนเล่มแรก ให้ทุกคนประนมมือจนเสร็จพิธี เมื่อประธานกลับลงมานั่ง จึงนั่งตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนของมารยาททางสังคมอันเป็นหลักประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งหวังว่าจะเป็นแนวทางให้ท่านได้นำไปใช้ประโยชน์ในโอกาสต่างๆต่อไปตามสมควร
(อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ๒๕๔๙)