ครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาดำเนินงานทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์ฯ ระยะที่ 2
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ
• เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระยะที่ 2
• เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย จำนวน 13,819 คน
• รับทราบการดำเนินการเสริมความรู้แหล่งมรดกโลกของไทย ของ ศธ.
►เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) ระยะที่ 2
ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2551–2566) จำนวน 4 รุ่น วงเงิน 3,872.6100 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เนื่องจากโครงการที่เน้นการเพิ่มกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และครูวิทยาศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 15 คนต่อประชากร 10,000 คน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555–2559) และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขยายเวลาการให้ทุนประเภทระดับปริญญาตรี–โท–เอก ต่อเนื่องเพิ่มอีก 2 รุ่น (รุ่นปี 2556–2557) รุ่นละ 200 ทุน รวม 400 ทุน รวมเป็น 6 รุ่น เพื่อให้ได้เป้าหมายภาพรวม 1,600 คน โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2552–2556 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,026.3215 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณส่วนที่เหลืออีก จำนวน 2,846.2885 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุนเดิมต่อเนื่องและนักเรียนทุนที่จะรับใหม่ในปี พ.ศ.2557–2568 นั้น ให้ สกอ.เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป พร้อมทั้งให้จัดทำกลไกและเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพให้แก่ผู้รับทุนให้เกิดความชัดเจน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้รับทุนปัจจุบันดำเนินการศึกษาอย่างต่อเนื่องและผู้รับทุนใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการ
สาระสำคัญของเรื่อง โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสร้างฐานกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นคุณภาพ เป็นการลงทุนทางการศึกษาและพัฒนาคนด้านวิทยาศาสตร์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งให้ผลในระยะยาวและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมอารยประเทศ และเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้นักเรียนที่มีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยผู้รับทุนโครงการฯ ทุกคนต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และผู้ที่รับทุนต้องไม่เป็นผู้ทำงานอยู่ในสังกัดทั้งภาครัฐและเอกชน และอยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งผลการดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
• ผลการคัดเลือกผู้รับทุนเข้าร่วมโครงการฯ สามารถคัดเลือกได้จำนวน 1,189 คน จากเป้าหมาย 1,600 คน คิดเป็น ร้อยละ 74.31 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนี้ 1) ทุนระดับปริญญาตรี-โท-เอก ต่อเนื่อง สามารถคัดเลือกได้จำนวน 774 คน จากเป้าหมาย 800 คน คิดเป็นร้อยละ 96.75 และ 2) ทุนระดับปริญญาโท-เอก ต่อเนื่อง และปริญญาเอก สามารถคัดเลือกได้จำนวน 415 คน จากเป้าหมาย 800 คน คิดเป็นร้อยละ 51.87
• จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากโครงการ ขณะนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 6 คน แบ่งเป็น สาขาวิชาฟิสิกส์ จำนวน 5 คน และสาขาคณิตศาสตร์ จำนวน 1 คน
• จำนวนนักศึกษาทุนโครงการฯ ที่ได้รับทุนการศึกษา/ทุนวิจัย เพื่อไปทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ รวมจำนวน 10 คน แบ่งเป็นทุนวิจัยระดับปริญญาตรี 4 คน ระดับปริญญาเอก 6 คน
• มีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนานิสิต/นักศึกษาทุนโครงการ ให้เป็นอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่ดีและมีคุณภาพมาตรฐานได้ในอนาคต ได้แก่ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ และโครงการพัฒนาศักยภาพการวิจัยสำหรับนิสิต/นักศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (SAST Research Development Project)
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการบริหารโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) เสนอขอขยายระยะเวลาการให้ทุนประเภทระดับปริญญาตรี-โท-เอก ต่อเนื่อง เพิ่มอีก 2 รุ่น (รุ่นปี 2556-2557) รุ่นละ 200 ทุน รวมจำนวน 400 ทุน เพื่อให้ได้เป้าหมายภาพรวม 1,600 คน และใช้กรอบวงเงินงบประมาณเดิม
►เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556–2560 จำนวน 13,819 คน
ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556–2560 เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการด้านบริการการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์และแก้ปัญหาการกระจายแพทย์ตามภูมิภาค โดยมีเป้าหมายการผลิตแพทย์เพิ่ม 5 รุ่น จำนวน 9,039 คน ประกอบด้วยโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โดย ศธ.จำนวน 4,038 คน และโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่ม ภายใต้ความร่วมมือของ ศธ. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 5,001 คน จากการผลิตแพทย์ตามแผนปกติที่มีอยู่เดิม 4,780 คน รวมเป็นผลิตแพทย์ทั้งสิ้น 13,819 คน ตามที่ ศธ.เสนอ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ศธ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณเฉพาะงบประมาณดำเนินการสำหรับโครงการดังกล่าวแล้วจำนวน 562 คน เป็นเงิน 30,500,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินการที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ หรือได้รับการจัดสรรแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 หรือใช้เงินเหลือจ่ายจากรายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้วมาดำเนินการ โดยขอทำความตกลงรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ ส่วนงบลงทุนให้หน่วยงานขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามแผนเป้าหมายการผลิตแพทย์เพิ่มเติมตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงการใช้อาคารสถานที่และครุภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อน
►รับทราบรายงานการบริหารจัดการและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกของไทย
ครม.รับทราบสรุปรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะตามรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา เรื่อง การบริหารจัดการและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกของไทย ดังนี้
• กรมประชาสัมพันธ์ เร่งรัดดำเนินการประชาสัมพันธ์และปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของสาธารณชนเกี่ยวกับมรดกไทยมรดกโลก เพื่อให้เกิดความร่วมใจร่วมแรงในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาพื้นที่มรดกโลกในระดับพื้นที่ โดยจะร่วมบูรณาการการจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์กับกรมศิลปากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
• กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดย บมจ.ทีโอที ได้ดำเนินการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย (WiFi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 1 จุด ณ บึงพระรามในบริเวณเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนมกราคม 2555 ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว
• กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยใช้แผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ซึ่งเป็นแผนแม่บทระดับภาคครอบคลุมระยะยาวเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2550–2559 และจะได้มีการทบทวนแผนแม่บทต่อไปในอนาคต
กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสริมความรู้แหล่งมรดกโลกของไทย ดังนี้
1) บรรจุความรู้เรื่องแหล่งโบราณสถานที่เป็นมรดกโลกของประเทศไทย ในหลักสูตรกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (สาระประวัติศาสตร์) ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
2) อบรมครูสอนประวัติศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยแก่ผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
3) จัดหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ตรงและมีส่วนร่วมกิจกรรมคุ้มครองแหล่งโบราณสถานในท้องถิ่น
4) จัดโครงการมัคคุเทศก์น้อย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งโครงสร้างร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเยาวชนด้วยการศึกษาแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน