นายนอร์แมน โจเซฟ วู้ดแลนด์ ผู้ร่วมคิดค้น"บาร์โค้ด" เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 91 ปี ที่บ้านพักในรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ
นายวู้ดแลนด์ และนายเบอร์นาร์ด ซิลเวอร์ เพื่อนร่วมสถาบันเทคโนโลยีเดร็กซ์เทล เมืองฟิลาเดลเฟีย ได้คิดค้นเครื่องหมายแทนข้อมูลชนิดหนึ่งที่เครื่องจักรสามารถอ่านได้ด้วยแสง เมื่อช่วงปี 1940
ระบบดังกล่าวได้รับการจดสิทธิบัตรหมายเลข 2,612,994 ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1952 ต่อมาสิทธิบัตรดังกล่าวถูกขายออกไปในราคาเพียง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระบบบาร์โค้ดสมัยใหม่ คาดว่ามีการใช้กันทั่วโลกมากกว่า 5 พันล้านครั้งต่อวัน
บุตรสาวของวู้ดแลนด์เปิดเผยว่า บิดาของเธอ เสียชีวิตที่บ้านพักในเมืองเอดจ์วอเตอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ธ.ค.)
บาร์โค้ดถือเป็นการคิดค้นที่มาก่อนกาลของวู้ดแลนด์และเพื่อน ซึ่งใช้เวลานานถึง 22 ปี กว่าบาร์โค้ดชิ้นแรกจะปรากฏ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ วึ่งขณะนั้นยังไม่สามารถคิดค้นได้ โดยบาร์โค้ดสมัยใหม่ในรูปแบบรหัสผลิตภัณฑ์สากล (Universal Product Code) อันแรกสุดที่ถูกอ่าน คือบาร์โค้ดที่ติดอยู่บนห่อหมากฝรั่งริกลีย์ ในซูเปอร์มาร์เก็ตในรัฐโอไฮโอเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1974
มีผู้กล่าวกันว่า วู้ดแลนด์ คิดระบบบาร์โค้ดออก ขณะที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ล้อมรอบด้วยทราย โดยใช้รหัสมอร์สเป็นตัวตั้งต้น และเริ่มวาดสิ่งที่คล้ายบาร์โค้ดลงบนทราย
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสมิธโซเนียนเมื่อปี 1999 ถึงช่วงเวลาดังกล่าวว่า เขาใช้นิ้วจิ้มลงไปในทราย และไม่ทราบว่าเหตุผลใด เขาลากนิ้วมาทางตัวเขา และขีดเส้นแบบเดียวกันเป็น 4 เส้น ก่อนจะนึกในใจว่า "ตอนนี้มี 4 เส้น และมันจะต้องเป็นเส้นกว้างบ้างแคบบ้าง แทนที่จะใช้จุดหรือเครื่องหมายขีดคั่น
สิทธิบัตรดังกล่าวถูกขายให้บริษัทฟิลโก ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายแบตเตอรี แต่หมดอายุลงในช่วงยุค 1960 ต่อมาไอบีเอ็ม ซึ่งเป้นบริษัทที่วู้ดแลนด์ทำงานอยู่ ตัดสินใจพัฒนารูปแบบกระทั่งเป็นเช่นในปัจจุบัน
เมื่อปี 2011 ทั้งวู้ดแลนด์และซิลเวอร์ ได้รับการจารึกชื่อลงในหอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติสหรัฐฯ
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555