นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ถึงผลวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ พ.ศ.๒๕๕๔ หรือ TIMSS 2011 ซึ่งพบว่าคุณภาพการศึกษาไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ศธ.จะเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย โดยเน้น ๒ เรื่อง คือ การปฏิรูปหลักสูตร และการพัฒนาครู
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากผลการวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งจัดโดย The International Association for the Evaluation of Educational Achievement หรือ IEA พบว่าคุณภาพการศึกษาไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ศธ.จำเป็นต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย โดยเน้นหัวใจสำคัญใน ๒ เรื่อง คือ
๑) การปฏิรูปหลักสูตร ที่จะต้องมีการคิดและทบทวนทั้งระบบว่า จะให้เด็กเรียนอะไร เรียนอย่างไร จะต้องปรับวิถีชีวิตที่ส่งเสริมให้เป็นเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสำนึกประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้อยู่ในหลักสูตรที่เรียนเป็นรายชั่วโมง แต่ต้องแทรกซึมอยู่ในการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่เล็กจนโต เพราะการที่จะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ไม่ได้สอนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น
๒) การพัฒนาครู หากเราได้ครูที่ดีมีคุณภาพ ก็จะสามารถสอนได้ดี ลูกศิษย์ก็จะไปได้ดีด้วย
นอกจากนี้ ขณะนี้โครงสร้างเวลาเรียนของ ศธ.เน้นใส่เนื้อหาให้เด็กมากเกินไป เด็กเรียนมากจนกระทั่งไม่มีเวลาคิด ได้แต่จำอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นส่วนของหลักสูตรที่จะต้องดำเนินการในทันที ส่วนจะลดชั่วโมงเรียนหรือไม่นั้น ต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสมของเวลาที่เด็กควรจะเรียนในห้องเรียนจริงๆ ก่อนว่า ควรจะเรียนกี่ชั่วโมงต่อวันต่อสัปดาห์ รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบกับโรงเรียนในประเทศอื่นว่า ใช้เวลาในการเรียนมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รศ.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. พิจารณาเรื่องหลักสูตรและการพัฒนาครู ซึ่งจะมีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอมายัง รมว.ศธ.เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีการประชุมทุกๆ ๒ สัปดาห์ และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการดำเนินการในเรื่องนี้คือ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราปฏิรูปกันหลายเรื่อง หลายครั้งผลไม่ถึงเด็ก แต่สิ่งที่ต้องการจริงๆ ในเรื่องของการศึกษา คือ ผลต้องถึงตัวเด็ก
อนึ่ง ผลวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ พ.ศ.๒๕๕๔ จัดโดย IEA มีประเทศต่างๆ เข้ารับการประเมิน ๔๕ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล เบลเยียม อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เยอรมนี เดนมาร์ก ไต้หวัน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ไทย เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมินในระดับ ป.๔ และ ม.๒ มีผลสรุปดังนี้
ผลการวิจัยระดับชั้น ป.๔
มี ๕๒ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม โดยไทยเข้าร่วมการประเมินเป็นครั้งแรก พบว่าไทยมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ ๔๕๘ อยู่อันดับที่ ๓๔ และวิทยาศาสตร์ ๔๗๒ อยู่อันดับที่ ๒๙ โดยประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ ๖๐๖ คะแนน ส่วนประเทศที่วิชาวิทยาศาสตร์สูงสุด ได้แก่ เกาหลีใต้ ๕๘๗ คะแนน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวม ไทยถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับแย่ (Poor) ในวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับพอใช้ (Fair)
● จำแนกตามรายสังกัด พบว่า
๑) โรงเรียนสาธิต มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ๕๔๐ และวิทยาศาสตร์ ๕๖๒ สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติที่กำหนดไว้ ๕๐๐ คะแนน
๒) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย ๔๔๖ และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย ๔๕๖
๓) โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) คะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ๕๐๒ และวิทยาศาสตร์ ๕๒๒
๔) โรงเรียนสังกัดเทศบาล/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๗๖ และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย ๔๙๕
๕) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๘๗ วิทยาศาสตร์เฉลี่ย ๕๐๙
● คะแนนจำแนกตามภูมิภาค พบว่า นักเรียนในกรุงเทพฯ มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติทั้งสองวิชา ส่วนนักเรียนภาคตะวันออกและภาคตะวันตก มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติในวิชาวิทยาศาสตร์ และนักเรียนภาคอีสานตอนบนมีคะแนนคณิตศาสตร์ต่ำที่สุด และภาคใต้มีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำที่สุด
● ภาพรวมของเด็กไทยในระดับชั้น ป.๔ คณิตศาสตร์ ๘๘% มีความสามารถตั้งแต่ระดับที่ต่ำมากไปจนถึงระดับปานกลาง หรือมีคะแนนต่ำกว่า ๔๐๐-๕๕๐ คะแนน และมีเพียง ๑๒% ที่ได้คะแนนอยู่ในระดับสูงถึงระดับก้าวหน้า หรือมีคะแนนสูงกว่า ๕๕๐ คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์เด็กไทย ๘๐% มีความสามารถตั้งแต่ระดับที่ต่ำมากไปจนถึงระดับปานกลาง และมีเพียง ๒๐% มีคะแนนอยู่ในระดับสูงถึงระดับก้าวหน้า
ผลการวิจัยระดับชั้น ม.๒
ไทยมีผลคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ ๔๒๗ อยู่ในอันดับที่ ๒๘ และวิชาวิทยาศาสตร์ ๔๕๑ อยู่ในอันดับที่ ๒๕
● เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยในปี ๒๕๕๐ พบว่า คะแนนเฉลี่ยลดลงทั้งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ในเมื่อปี ๒๕๕๐ คณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๔๑ และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย ๔๗๑ อย่างไรก็ตาม การประเมินในปี ๒๕๕๔ ประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดวิชาคณิตศาสตร์ ได้แก่ เกาหลีใต้ เฉลี่ย ๖๑๓ ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ เฉลี่ย ๕๙๐ ในขณะที่ไทยเมื่อพิจารณาในภาพรวม ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับแย่ (Poor) ทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
● คะแนนจำแนกตามรายสังกัด พบว่า
๑) โรงเรียนสาธิต มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ๕๕๔ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๖๐๐ ส่วนวิทยาศาสตร์เฉลี่ย ๕๕๒ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๖๐๖ แต่ทั้งสองวิชายังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติซึ่งอยู่ที่ ๕๐๐ คะแนน
๒) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ๔๔๐ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๔๕ ขณะที่วิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ย ๔๖๔ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๗๔
๓) โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ๔๓๓ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๐๐๗ ที่ได้ ๓๘๑ วิทยาศาสตร์เฉลี่ย ๔๕๗ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๒๔
๔) โรงเรียนสังกัดเทศบาล/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๒๔ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๗๔ วิทยาศาสตร์เฉลี่ย ๔๕๐ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๕๐๑
๕) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) วิชาคณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๑๙ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๕๐๔ วิทยาศาสตร์เฉลี่ย ๔๔๑ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๕๒๘
● คะแนนจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกและปริมณฑล มีคะแนนสูงขึ้นทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยภาคตะวันออก มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ๔๙๕ สูงกว่าปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๒๗ วิทยาศาสตร์ ๕๐๘ สูงกว่าปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๖๖ ส่วนปริมณฑล คะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๘๑ สูงกว่าปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๓๖ คะแนนวิทยาศาสตร์เฉลี่ย ๕๐๖ สูงกว่าปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๗๒ ในขณะที่ภูมิภาคอื่นมีคะแนนเฉลี่ยลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนคะแนนลดลงจนน่าเป็นห่วง คะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย ๔๑๕ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๔๘๓ และวิทยาศาสตร์ ๔๔๑ ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ที่ได้ ๕๑๐
นอกจากนี้ ผลการวิจัยครั้งนี้ยังได้สำรวจด้านครูผู้สอน ซึ่งพบว่าทั้งระดับชั้น ป.๔ และ ม.๒ ครูไทยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์ แต่ผลการประเมินที่ออกมากลับต่ำกว่าสิงคโปร์ค่อนข้างมากทั้ง ๒ วิชา และยังพบว่าครูไทยมีความมั่นใจในการสอนและความพร้อมในการเตรียมการสอนทั้ง ๒ วิชาอยู่ในระดับต่ำ
|
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/dec/327.html