รมช.เสริมศักดิ์ มอบนโยบายสมาพันธ์ครู พร้อมรับช่วยเหลือครูให้ได้รับวิทยฐานะ 3,500 บาทที่ตกค้างในปี 54 และให้ครูบรรจุก่อนปี 2540 เลือกรับบำนาญตามกฎหมายเดิม
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ มีตัวชี้วัดที่เน้นให้ความสำคัญในเรื่องของ คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ทางนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ โดยจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้การศึกษาสร้างเด็กที่มีคุณภาพ และผลิตครูให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทำให้มาตรฐานการศึกษาสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดนโยบายเรียน ม.6 จบ 8 เดือน โดย กศน. ซึ่งผู้ที่จะเรียนต้องมีอาชีพที่แน่นอน และอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนทาง สพฐ. มีโครงการควบโรงเรียนในตำบล โครงการนี้เกิดขึ้นจากมีโรงเรียน ประมาณ 14,000 โรง มีเด็กปฐมวัย – ป.6 ไม่เกิน 120 คน ซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญ โดยจะนำเด็กนักเรียนไปรวมกันในที่เดียวกัน ซึ่งในโรงเรียนหนึ่งอาจมีเด็กแค่ 2 ชั้นก็ได้ เพราะในโรงเรียนจะมีครูไม่ครบชั้น จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนครู รวมถึงการจัดหารถรับส่งนักเรียนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ตรงนี้จะเร่งนำเข้า ครม.ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้ 5,200 ตำบล แต่ยังเหลือเขต ที่ยกฐานะจากตำบลเป็นเทศบาลตำบล จะต้องตั้งในปี 2558 ซึ่งได้เชิญส่วนที่เกี่ยวข้องมาประชุม ขณะนี้ได้มีโมเดลแล้วคือ “แก่นจันทร์โมเดล“ อำเภอปากชม จังหวัดเลย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จะใช้วิธีจับกลุ่มร.ร.ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกัน แล้วยุบรวมนักเรียนชั้นเดียวกันมาไว้เรียนร่วมกัน เฉลี่ยแล้ว โรงเรียนแต่ละแห่งจึงสอนแค่ 1-2 ชั้นเรียน เท่านั้น ไม่เป็นภาระที่หนักเกินไปของครูที่มีอยู่ 2 คน และไม่จำเป็นต้องจ้างครูเพิ่ม อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจทำให้นักเรียนต้องถูกหมุนไปเรียนยังโรงเรียนที่ไกลบ้านมากขึ้น จึงต้องมีการจัดรถรับส่งนักเรียนทุกคนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง และ เมื่อมีการยุบรวมโรงเรียน.ในตำบลเดียวกันแล้ว จะมีการจัดตั้งงบประมาณสำหรับจัดซื้อรถยนต์รถส่งนักเรียนด้วย แต่จะบูรณาการให้หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กศน.ใช้รถร่วมกันได้ด้วย ที่สำคัญ จะขอแรงให้ อบต.ช่วยสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำมาเติมน้ำมันรถ จัดจ้างคนขับรถ โดยในสัปดาห์หน้านี้ตนจะไปคุยกับทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งนี้ หากยังปล่อยให้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กยืดเยื้อต่อไปแล้ว ก็จะทำให้นักเรียนในชนบทจำนวนมากเสียโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับ โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่เหลือผู้เรียนแล้วนั้น ถ้าจำเป็นต้องยุบก็ต้องดำเนินการ แต่เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต่อต้านการยุบ โรงเรียนก็ให้ปรับปรุงโรงเรียนนั้นๆ มาใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่นเป็น ศูนย์เด็กเล็ก หรือศูนย์แสดงสินค้าโอท็อป
หลังจากนั้น ตัวแทนสมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทย ได้ขอความช่วยเหลือจากทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องของ ช่องว่างและสิทธิของสวัสดิการครู ในระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ ที่ยังไม่ได้รับเงินตกเบิก วิทยฐานะ 3,500 บาท ตั้งแต่ปี 2554 รวมถึงเรื่อง กบข. ในส่วนของการพิจารณาบำเหน็จ บำนาญที่มีการแก้ไข ทำให้ครูได้รับประโยชน์ไม่มากเท่าที่ควร ในส่วนที่กฎหมาย กบข.กำหนดไว้ ในมาตรา 63 กำหนดว่าเงินบำนาญ ให้คำนวณจากเวลาราชการ คูณเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ร้อยละ 70 ของเงินเดือน ซึ่งครูขอแก้ไขให้ได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 แต่การจะแก้ไขมาตรา 63 เป็นเรื่องยาก ทางสมาพันธ์เสนอว่าเพื่อเป็นการเยียวยาผู้เป็นสมาชิก กบข. จึงขอให้ข้าราชการที่บรรจุก่อนปี 2540ได้มีโอกาสเลือกตัดสินใจอีกครั้งเมื่อตอนเกษียณอายุราชการ ว่าจะขอกลับไปคำนวณบำนาญตามกฎหมายเดิม หรือตามที่ กบข.กำหนด ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการนี้แล้ว หากเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. จึงอยากให้ดูแลเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับข้อเสนอดังกล่าวและจะดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เป็นขวัญกำลังใจแก่ครูดีมากขึ้น หากขวัญกำลังใจดีการทำงานก็จะดี และครูมีกำลังใจในการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มา http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=30698&Key=news_sakda