นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ ๙/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
- เห็นชอบหลักเกณฑ์การเสนอผลงานวิชาการรับใช้สังคม
ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ทั้งนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์การเสนอผลงานทางวิชาการฯ ครอบคลุมผลงานที่คณาจารย์ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตนมาใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่หนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา โดยให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
- เห็นชอบกรอบระยะเวลาในการดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
๑) ที่ประชุมเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษามีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรงกับสาขาวิชาที่เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการฯ พิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใกล้เคียง ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.พ.อ.กำหนดได้ โดยไม่ต้องเสนอความเห็นชอบจาก ก.พ.อ.
๒) เห็นชอบร่างประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดให้การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ กรณีผลการประเมินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ สภาสถาบันอุดมศึกษาอาจกำหนดยกเว้นการประชุมได้เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
๓) เห็นชอบให้ส่งข้อมูลระยะเวลาเฉลี่ยในการดำเนินการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และมาตรการหรือแนวทางที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งใช้ในการลดระยะเวลาการดำเนินการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการในการเร่งรัดการดำเนินการที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าวกับแต่ละสถาบันต่อไป ซึ่งระยะเวลาเฉลี่ยดังกล่าวได้พิจารณาจากเวลาในการดำเนินการของมหาวิทยาลัย ๔๕ แห่ง โดยตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้เวลาดำเนินการเฉลี่ย ๑๔ เดือน ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ใช้เวลาเฉลี่ย ๑๕ เดือน และตำแหน่งศาสตราจารย์ ใช้เวลาเฉลี่ย ๑๗ เดือน
- เห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน ๑๒ ราย ดังนี้
- รศ.สุภาลักษณ์ ปรัชชญาสิทธิกุล สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ
- รศ.อนันต์ พลธานี สาขาวิชาการผลิตพืชไร่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.จินตนา ศิรินาวิน สาขาวิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รศ.สุจิตรา ยังมี สาขาวิชาเคมี (เคมีอนินทรีย์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.วสี ตุลวรรธนะ สาขาวิชาจักษุวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.ภาวนา ภูสุวรรณ สาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รศ.อรุณรัตน์ ฉวีราช สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.โสพิศ วงศ์คำ สาขาวิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.ปัทมา วิตยากร แรมโบ สาขาวิชาปฐพีศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร สาขาวิชาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- รศ.กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.วันชัย ริ้วรุจา สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- เห็นชอบสาระและความถูกต้องเหมาะสมของการพิจารณาอนุมัติกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ท.๑๑)
- ศาสตราจารย์สุวิทย์ ศรีอัษฎาพร สาขาวิชาศัลยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เห็นชอบการกำหนดสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ที่ประชุมเห็นชอบสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน ๒๗ สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จำนวน ๒๖ สาขาวิชา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งแล้ว เป็นสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งจะมีผลให้ข้าราชการที่ได้รับอนุมัติลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ในสาขาวิชาที่ ก.พ.อ.ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนได้โดยให้ถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการปรับแก้ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๔ ข้อ ๔ ในส่วนของสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ให้เป็น สาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของมหาวิทยาลัย เพราะสาขาวิชาบางสาขาอาจไม่ใช่สาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ แต่ก็เป็นสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ มีความจำเป็นแตกต่างกัน
- เห็นชอบการขยายช่วงระยะเวลาผ่อนผันในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น
จากการที่ ก.พ.อ.มีมติเห็นชอบขยายช่วงระยะเวลาผ่อนผันให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เสนอขอกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น โดยใช้ผลงานตามข้อบังคับหรือประกาศที่สถาบันอุดมศึกษากำหนดไว้เดิมไปพลางก่อนออกไปอีกจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสความก้าวหน้าในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แต่ขณะนี้ได้พ้นระยะเวลาผ่อนผันไว้แล้ว ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นระหว่างข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กับข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งขณะนี้ ก.พ.ยังไม่ได้นำเรื่องการเสนอผลงานวิจัยมากำหนดใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมิน
ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ขยายช่วงระยะเวลาผ่อนผันให้ข้าราชการเสนอขอกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น โดยใช้ผลงานตามข้อบังคับฯ เดิมไปพลางก่อน และเมื่อ ก.พ.ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเกี่ยวกับการเสนอผลงานวิจัยมาใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นกับข้าราชการพลเรือนสามัญแล้ว ก.พ.อ.จะพิจารณาประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในแนวทางเดียวกันต่อไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/nov/314.html