การเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม : ยุทธการ สืบแก้ว
“มนุษย์เรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มหายใจและเรียนรู้ต่อเนื่องไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต” APPS (1992, อ้างถึงในสาระสำคัญจากการบรรยายสรุปของ รศ. ดร. สุมาลี สังข์ศรี, 2543) แรกที่ผู้เขียนได้อ่านก็เห็นด้วยในทันที ด้วยเพราะการเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย มิได้จำเป็นเฉพาะในช่วงวัยเรียนเท่านั้น เพราะการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนให้เกิดทักษะด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านความรู้ และทักษะการใช้ชีวิต อันจะทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้มีความพร้อมที่ จะเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลง และปัญหาต่าง ๆของบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน รวมทั้งช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตในแต่ละช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม
ความสามารถทางการคิดและการเรียนรู้นั้น ถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ ที่แยกมนุษย์ออกจากสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างชัดเจน มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พัฒนาและแก้ปัญหา ต่างๆรอบตัวได้ เนื่องจากความสามารถในการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ซึ่งการเรียนรู้มนุษย์มีหลายสาเหตุ เริ่มตั้งแต่ การเกิดความต้องการพื้นฐานของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางร่างกาย ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ความต้องการความรัก ความต้องการการยอมรับ ความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองไปจนถึงความต้องการที่จะแก้ปัญหา ปรับปรุง หรือพัฒนาเรื่องต่างๆ ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้คนต้องคิด ซึ่งการคิดนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้และหาทางตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้น การเรียนรู้จึงเป็นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งแก่ชรา (ยุทธการ สืบแก้ว, 2551) การเรียนรู้เกิดขึ้นพร้อมกับชีวิตมนุษย์และอยู่คู่ขนานไปกับชีวิต กล่าวคือ มนุษย์เมื่อลืมตามองโลกก็ต้องเริ่มเรียนรู้ ทารกต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและความต้องการทางร่างกาย เมื่อถึงวัยเรียนก็จะมีสังคมกลุ่มเพื่อนและบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้อง มีกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น ทำ ให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น ไม่เฉพาะภายในโรงเรียนหรือภายในสถาบันเท่านั้น เมื่อบุคคลจบจากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาออกมาสู่โลกของอาชีพ การเรียนรู้ของบุคคลก็จะลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ และต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง วิทยาการและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้บุคคลต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อติดตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงอาชีพการงานให้เหมาะสม ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมตามช่วงพัฒนาการชีวิตในเชิงจิตวิทยา สรุปได้ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นพร้อมกับชีวิตและดำเนินควบคู่กับพัฒนาการในทุกช่วงชีวิตของมนุษย์
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2545) มุ่งเน้นพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง ดี มีความสุข ซึ่งการพัฒนาความเก่งนั้น ก็หมายถึง การพัฒนาความสามารถทางสมองอันได้แก่ การคิดและการเรียนรู้ โดยเฉพาะในมาตรา 22 และ 24 ที่มีเนื้อหามุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ และให้มีการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2545) ซึ่งโดยรวมแล้ว การที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีศักยภาพทางการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตให้สมบูรณ์ และสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาความรู้ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องเน้นเรื่องกระบวนการคิดเป็นสำคัญ ทั้งนี้การที่จะทำให้มนุษย์เกิดกระบวนการคิดและการเรียนรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับศักยภาพของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งหลายจะต้องเข้าใจถึงพัฒนาการของมนุษย์ในแต่ละวัยและในทุกๆมิติ ทั้งมิติด้านร่างกาย มิติด้านจิตใจและมิติด้านกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมให้คนในสังคมมีทักษะทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป ดังนั้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับมนุษย์จึงเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงวัย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยนี้ อยู่ภายใต้ ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ที่อธิบายถึง การเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ของสรรพสิ่ง และมนุษย์แสวงหาความรู้จากการเรียนรู้ประสบการณ์ ซึ่งการเรียนรู้จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างองค์ความรู้ก็เป็นกระบวนการต่อเนื่องและจะเป็นทักษะติดตัวมนุษย์เราไปตลอดชีวิต
ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)
พิพัฒนาการ หรือ Progressive หมายถึง การเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง โดยปรัชญาพิพัฒนาการนิยม เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดและวิธีการศึกษาแบบเดิมที่เน้นแต่เนื้อหา สอนแต่ท่องจำ ไม่คำนึงถึงความสนใจของเด็ก และพัฒนาเด็กแต่เพียงสติปัญญาเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนขาดความ ริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง และเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความซับซ้อนและก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้กระบวนการเรียนรู้จำต้องเป็นไปตามหลักการที่เหมาะสม
จัง จ๊าค รุสโซ, จอห์น เฮนรี่, เปสตาลอสซี่, เฟรด เดอริค ฟรอเบล วางแนวคิดทางปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมเป็นกลุ่มแรก ของยุโรป ค.ศ. 1870 ต่อมา ฟรานซีส ดับเบิลยู ปาร์คเกอร์ ได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบโรงเรียนขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมา จอห์น ดุย ทำการทดลองเพิ่มเติมจนทั่วโลกได้รู้จักปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมของเขา ซึ่งมีนักการศึกษาร่วมอยู่ด้วย คือ วิลเลียม เอช คิลแพททริค, จอห์น ไซล์ค และเฮนรี่ บาร์นาร์ด สหรัฐอเมริกาจัดตั้งสมาคมการศึกษาพิพัฒนาการขึ้นในปี ค.ศ.1919 ได้จัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อชีวิต (The Life-Centered Curriculum) ขึ้นใช้ในโรงเรียนอย่างกว้างขวาง
จอห์น ดุย ได้ยกย่องปาร์คเกอร์ ว่าเป็นบิดาของปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ก่อตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง(ราว ค.ศ.1920) และนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในยุคปัจจุบัน สำหรับวงการศึกษาไทยได้รับเอาปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม โดยรู้จักกันในนามว่า “การศึกษาแผนใหม่“
พิพัฒนาการนิยมเชื่อว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบที่มีอิทธิพลสูงสุดในการกำหนดรูปแบบของวัฒนธรรมและสังคม คือ การค้นคว้า ทดลอง และประสบการณ์ของมนุษย์ที่ได้เห็นประจักษ์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดอนาคตโชคชะตาของตนเอง มนุษย์ควรจะเน้นความสำคัญและคุณค่าของแต่ละบุคคลให้มาก ดังนั้น การศึกษาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะต้องเปลี่ยนแปรสภาพไปด้วยเมื่อถึงความจำเป็นการศึกษาไม่ใช่สอนให้คนยึดมั่นในความจริง หรือถูกกำหนดไว้ตายตัว หากจะต้องหาทางปรับปรุงการศึกษาเพื่อจะเป็นแนวทางนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
การเรียนรู้ตลอดชีวิต คืออะไร
จากการวิเคราะห์นิยามของนักการศึกษาทั้งหลาย พบว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ( Lifelong Learning ) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิด จิตใจและทักษะทางร่างกาย ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นในทุกช่วงของชีวิต Lifelong Learning นักการศึกษาต่าง ๆ ได้แยกออกเป็น 3 คำ คือ “life” หรือ “ชีวิต” อาจมองในแง่ของพัฒนาการมนุษย์ ชีวิตมีการเจริญเติบโต มีความเปลี่ยนแปลงและต้องเกี่ยวพันกับปัจจัยต่าง ๆ มากมายทั้งในเรื่องของความเป็นอยู่ สังคม สิ่งแวดล้อม ศาสนา การเมือง คำ ว่า “lifelong” หรือ “ช่วงชีวิต” อาจมองในแง่ช่วงเวลาของชีวิตว่า คนเราเกิดมาต้องผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย และคำ ว่า “Learning” หรือ “การเรียนรู้” คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์การศึกษา เกิดขึ้นเมื่อประมาณกว่า 30 ปีมาแล้ว ภายใต้ความพยายามของ OECD UNESCO และสภายุโรป (Council of Europe) เป็นการสนองต่อความบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีต ในขณะที่บุคคลเรียนรู้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสทางการศึกษามีขีดจำกัดในช่วงเริ่มแรกของชีวิต ที่ครอบงำโครงการศึกษาที่เป็นทางการ (Formal Education) จึงมีความจำเป็นที่จะให้โอกาสที่สองแก่คนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น
การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่เพียงหมายถึงการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education) เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการเรียนรู้ทุกรูปแบบตลอดช่วงชีวิต ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงต้องมีมุมมองแบบองค์รวม (Comprehensive View) ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานทางการศึกษาก็มีนโยบายและยุทธศาสตร์หลายด้านที่สร้างและส่งเสริมให้คนในสังคมประเทศ เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกระจายผ่านไปยังกระบวนการจัดการศึกษา หากแต่ การจัดการศึกษาให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายนั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง และจะบรรลุผลได้ก็ต้องใช้เวลายาวนาน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานในสังคม ต่างช่วยกันส่งเสริมให้เกิดกระแสของการสร้างการเรียนรู้อย่างแพร่หลาย ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวทางได้ ดังนี้ 1) ปรับปรุงการเข้าถึง คุณภาพ และ ความเป็นธรรมในการเรียนรู้ 2) สร้างรากฐานที่มั่นคงด้านทักษะการเรียนรู้ 3) ให้ความสำคัญกับทุกรูปแบบของการเรียนรู้ 4) จัดสรรทรัพยากร และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากทุกภาคส่วน สนับสนุนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นทุกช่วงเวลาในชีวิต และ 5) สร้างภาคีเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน
เป้าหมายของแนวคิดทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย
แนวคิดที่ผู้เขียนพิจารณาจากนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ทำให้ทราบได้ว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษา ซึ่งการศึกษาจะทำให้เกิดทักษะทางการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเรียนรู้ที่ผสมกลมกลืนไปกับวิถีการดำ เนินชีวิต ทำให้บุคคลเกิดการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ในทุกช่วงวัย ให้เป็นผู้ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขตามศักยภาพของตน มีคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอสำหรับการดำ เนินชีวิต การประกอบอาชีพ สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ หรือแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถในการแสวงหาและเพิ่มพูนความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง เลือกรับความรู้ข้อมูลข่าวสารและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ปรับตัว ดูแลสุขภาพ ที่ถูกต้องและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้ในทุกช่วงชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
เป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกประการหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการเรียนรู้ การขยายโอกาสทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยลดความแตกต่างของอัตราการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม ดังนั้น การเรียนรู้จึงมีหลายรูปแบบและเกิดขึ้นได้หลายวิธี ทั้งจากหลักสูตรที่เป็นทางการเช่นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ไปจนถึงไม่เป็นทางการ เช่นในครอบครัว ชุมชน และที่ทำงาน
ผู้เกี่ยวข้องที่มีพลังในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่จะนำยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ ต้องคำนึงถึงทรัพยากร 3 ประการ คือ ประการแรก ความเพียงพอ มีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตประเภทต่างๆ ในตลอดแต่ละช่วงเวลาของอายุ ประการที่สอง ทรัพยากรได้ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ประการที่สาม ความคุ้มค่าของงบประมาณ ว่าผลที่ได้นั้นก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรหรือไม่
การเรียนรู้ภายใต้ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม
การเรียนรู้โดยส่วนใหญ่ หากมองในมิติของสิ่งที่เกิดจากการศึกษา จะพบว่า การเรียนรู้เกิดจากการจัดการศึกษา ซึ่งพิจารณาตามปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ซึ่งเชื่อว่า การศึกษาคือชีวิตไม่ใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต หมายความว่า การที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ ก็ต้องลงมือกระทำ เพื่อให้เกิดประสบการณ์กับผู้เรียน กิจกรรมการเรียนการสอนจึงมุ่งการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ในกระบวนการของจัดการศึกษานั้น จะถือว่าประสบการณ์และการทดลองมีความสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ และการเรียนรู้เป็นเรื่องของการกระทำ (Doing) มากกว่าความรู้ (Knowing) และจะต้องให้ผู้เรียนได้รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคมได้ ดังนั้นการศึกษาจึงต้องดำเนินไปโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย
ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือวิวัฒนาการนิยม (Progressivism) เป็นปรัชญาที่ยึดหลักการของปรัชญาสากลสาขาปฏิบัติการนิยม โดย ชาลส์ เอส เพียซ (Charles S. Pierce) โดยมีความเชื่อว่า นักเรียนเป็นบุคคลที่มีทักษะพร้อมที่ปฏิบัติงานได้ ครูนั้นเป็นผู้นำทางในด้านการทดลองและวิจัย หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประสบการณ์ต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหาของสังคม รวมทั้งแนวทางที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ ปรัชญาปฏิบัติการนิยมให้ความสนใจอย่างมากต่อการ “ปฏิบัติ” หรือ “การลงมือกระทำ” ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ “การคิด” สนใจแต่การกระทำเป็นหลัก แต่ความหมายของปรัชญานี้ก็คือ “การนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ” เพราะเห็นว่า ลำพังแต่เพียงการคิดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดี และการกระทำที่เหมาะสม
จากการพิจารณาและข้อสังเกตปรัชญาพิพัฒนาการนิยมที่ส่งผลต่อการเรียนรู้สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้
2. สภาพการณ์ของสรรพสิ่งในโลกนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
3. กระบวนการเรียนรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์จะทำให้มนุษย์มีกระบวนการคิดที่ถูกต้องเหมาะสม
4. กระบวนการเรียนรู้ ทำให้รู้ว่าควรคิดอย่างไร มากกว่าคิดอะไร
5. โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคม และเป็นสถาบันต้นแบบของการสร้างกระบวนการเรียนรู้
6. เสรีภาพในการเรียนรู้ ภายใต้กฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานของการสร้างองค์ความรู้เฉพาะตน
7. กระบวนการศึกษามุ่งให้เกิดการเรียนรู้ ตามมาตรฐานสากล
การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้นิยามของปรัชญาพิพัฒนาการนิยมอย่างแท้จริง โดยกระบวนการเรียนรู้ต่างๆล้วนมุ่งให้ความสำคัญต่อตัวบุคคล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจึง เน้นการให้เรียนรู้วิธีเรียน วิธีแสวงหาความรู้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์มีทักษะในการแสวงหาความรู้และใช้ความรู้แก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตัวเองในทุกๆช่วงของชีวิต ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้นิยามของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ก็คือ การปลูกฝังนิสัยและทักษะในการเรียนรู้ให้แก่บุคคล ให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาและทุกโอกาส (ดร. ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์ ,2543)
จากการศึกษาและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของกระบวนการศึกษา พ.ศ. 2555-2556 และข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552 - 2559) ที่มุ่งปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้คนในสังคมประเทศได้เรียนรู้ตลอดชีวิตโดยอาศัยการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
หน่วยงานทางการศึกษาทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่สามารถสร้างให้บุคคลเกิดทักษะทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ที่ต้องรับผิดชอบประชากรวัยที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยมุ่งเน้นที่ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปี – 59 ปี) และผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยได้กำหนด วิสัยทัศน์ คือ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นได้ภายใน ปี พ.ศ. 2561 อยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ
1) พัฒนาคุฯภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย
2) เพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้และการศึกษา ให้ครอบคลุม ทั่วถึงและเป็นธรรม
3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้
กล่าวโดยสรุป การที่จะทำให้บุคคลในสังคมเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบและเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ตามศักยภาพเฉพาะตน นั้น จำเป็นต้องอาศัยหลักการและแนวคิดที่สอดคล้องกับบริบทดังกล่าว นั้นคือ ตามหลักปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของมนุษย์ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 13 หลักการ ดังที่ปรากฏอยู่ในนโยบายส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของประเทศไทย ดังนี้
1) หลักความจำเป็น คือ ต้องทำ ให้ทุกคนตระหนักว่าการศึกษาตลอดชีวิตเป็นงานจำเป็นสำหรับชีวิตของคนทุกคน
2) หลักความเชื่อมั่น ต้องเชื่อมั่นว่า บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด
3) หลักความครอบคลุม การศึกษาตลอดชีวิตครอบคลุมการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ
4) หลักความเสมอภาค ประชาชนทุกคนควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกันทุกรูปแบบ โดยปราศจากข้อจำ กัดในเรื่องเพศ อายุ ร่างกาย สติปัญญา อาชีพ พื้นฐานการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
5) หลักการผสมผสาน ในแต่ละช่วงอายุ บุคคลควรได้รับการศึกษาหลายรูปแบบผสมผสานกัน เพื่อการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ
6) หลักการเทียบโอน ควรให้มีการเทียบโอนหลักฐานการศึกษาหรือการเรียนรู้กันได้ทั้งในการศึกษาประเภทเดียวกัน และระหว่างการศึกษาทั้งสามประเภท เพื่อให้บุคคลมีโอกาสศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต และสามารถเลือกเรียนด้วยการศึกษาประเภทใดก็ได้ตามความต้องการ
7) หลักความหลากหลายและเป็นประชาธิปไตย ควรจัดบริการการศึกษาที่หลากหลาย มีสาขาวิชาและกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนและฝึกฝนอย่างอิสระตามความต้องการ ความสนใจ และความถนัดของแต่ละบุคคล
8) หลักความยืดหยุ่น สร้างความยืดหยุ่นในกฎเกณฑ์ระเบียบต่าง ๆ ทั้งในประเด็นของวิธีการ เวลา และสถานที่
9) หลักความต่อเนื่อง การจัดการศึกษาตลอดชีวิตควรจัดอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอมีแหล่งการเรียนรู้บริการโดยสนองความประสงค์ของผู้เรียนได้เพียงพอ การเรียนรู้ควรเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่
10) หลักความกลมกลืนและสัมพันธ์กับชีวิต ควรจัดการศึกษาให้สัมพันธ์โดยตรงและกลมกลืนกับการดำ เนินชีวิตของบุคคลและชุมชน เพื่อให้ทุกคนตระหนักชัดว่า การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
11) หลักในการแสวงหาความรู้ กระบวนการเรียนรู้มุ่งให้ความสำคัญแก่ตัวผู้เรียนหรือบุคคลเป็นหลัก จึงส่งเสริมให้แต่ละบุคคลพัฒนาเต็มศักยภาพ ให้กำหนดหรือเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง และรู้วิธีแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม
12) หลักความสำคัญของครอบครัวและชุมชน ครอบครัวและชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต
13) หลักการมีส่วนร่วม การศึกษาตลอดชีวิตจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของ ทุกฝ่าย ทั้งจากทุกหน่วยงาน ทุกสถาบันการศึกษาและแหล่งความรู้ทุกประเภท
การสร้างสังคมการเรียนรู้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ทุกคนในสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต นโยบายส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ มีพื้นฐานและทักษะที่ จำ เป็นในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม จึงต้องพยายามทำให้เกิดการขับเคลื่อนให้ได้ ทั้งนี้การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างแพร่หลายได้นั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสม โดยการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้ในประเทศให้มีมาตรฐานและกระจายไปอย่างทั่วถึง โดยมีหลักการ คือ
1) จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยอิงกับชุมชนและแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่เดิมในชุมชน ฝึกอบรมผู้สอนและอาสาสมัครของแหล่งการเรียนรู้หรือครูเกษียณอายุให้มีความรู้เพียงพอ พร้อมที่จะให้การบริการ ให้คำปรึกษาและแนะแนวถึงการเรียนรู้
2) จัดสร้างแหล่งการเรียนรู้เพิ่มเติม และเชื่อมโยงโดยศูนย์เครือข่ายในทุกระดับการศึกษา
3) ขจัดอุปสรรคของการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ประชาชนต้องเข้าไปเรียนรู้ในสถานศึกษา และห้องสมุดได้สะดวก ขยายเวลาบริการของห้องสมุดถึงเวลาหลังเลิกงานด้วย
4) ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ โดยผู้จัดการศึกษาควรกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียน และเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งจะทำ ให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ ความรู้ได้ด้วยตนเองกระบวนการเรียนการสอนต้องทำให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล เน้นทักษะในการแสวงหาความรู้ ให้เรียนรู้เรื่องของตนเองและเรื่องใกล้ตัวเป็นหลัก เรื่องไกลตัวเป็นรอง ให้ผู้เรียนสามารถนำ เอาความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ได้
5) การเรียนรู้ควรมุ่งให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง / สภาพที่เป็นจริง / สถานที่จริง
เมื่อสรรพสิ่งในบริบทของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง การรู้หนังสือที่เป็นผลจากการศึกษาเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่การรู้หนังสือจะต้องขยายขอบเขตให้กลายเป็นทักษะทางการเรียนรู้ ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพของบุคคล ไปตลอดชีวิต เพื่อให้ตนเองเกิดการพัฒนาไปอย่างสมบูรณ์และเป็นการวางรากฐานที่ดียิ่งในการเป็นคนในสังคมประเทศ เป็นพลเมืองอาเซียนและพลเรือนโลก ต่อไป
บรรณานุกรม
การศึกษาตลอดชีวิต : การศึกษาของคนไทยในยุคโลกาภิวัตน์. สำนักบริหารการศึกษา นอกโรงเรียน, 2538.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, 2545
เฉลิมลาภ ทองอาจ. การจัดการศึกษาตามปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressive Education). บทความ: http://www.gotoknow.org/home, 2554.
ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์ , นโยบายส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของประเทศไทย. สำ นักงานคณะกรรมการการศึกษา แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2543.
ทองปลิว ชมชื่น. ปรัชญาการศึกษานอกโรงเรียน. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศีลปากร, 2529.
บรรจง จันทรสา. ปรัชญากับการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2522.
พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ (และคณะ).ปรัชญาการศึกษา EF 703 (EF 603). กรุงเทพมหานคร:
มหาวิทยาลัย รามคำแหง, 2546.
เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์. พัฒนาการทางพุทธิปัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
ยุทธการ สืบแก้ว. การพัฒนาแบบวัดอภิปัญญา สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น. วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
รักกิจ ศรีสรินทร์. การเรียนรู้ตลอดชีวิต. กองการต่างประเทศ : สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, 2554.
รายงานสรุปการสัมมนา. นโยบายส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของประเทศไทย. สำ นักงานคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2543.
สุมาลี สังข์ศรี. นโยบายส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของประเทศไทย. สาระสำคัญจากการบรรยายสรุปของ ภาควิชาศึกษาศาสตร์: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543.
Policy Brief. Lifelong Learning, Organization for Economic Co-operation and Development: OECD, 2004.