ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. ได้กล่าวผ่าน " จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ ฉบับที่ 8/2555 (15/11/2555) " ไว้ว่า
เงินวิทยฐานะ
ผมเคยให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องเงินตกเบิกวิทยฐานะไปว่า ผู้ที่ได้รับอนุมัติเลื่อนวิทยฐานะ และมีคำสั่งตั้งแต่ตุลาคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2554 จะได้รับตกเบิกตุลาคม 2555 นี้ ซึ่งทำให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 68,074 คน (คำสั่งตั้งแต่ตุลาคม 2553 – ธันวาคม 2554) มีความหวังขึ้นมาทันที ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 22,724 ล้าน ในปี 2556 นี้ สพฐ. ได้รับงบประมาณเพื่อจ่ายเงินวิทยฐานะมาทั้งสิ้น 36,454 ล้าน เพื่อเบิกจ่ายให้รายเดิมที่เคยได้รับปี 2555 และรายใหม่ที่จะได้รับปี 2556 (ตุลาคม 2555 นี้)
ปรากฏว่า ก.ค.ศ. มีการปรับเกณฑ์การรับเงินตกเบิกวิทยฐานะสำหรับกลุ่มชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ Click ตามหนังสือก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/166 ลว. 13 มิถุนายน 2555 ทำให้ต้องมีการจ่ายเงินตกเบิกเพิ่มให้กับกลุ่มชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นแต่ละรายมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น จึงทำให้งบประมาณที่ได้มา 36,454 ล้าน จ่ายให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีคำสั่งถึง 31 กรกฎาคม 2555 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะจ่ายไปถึง 31 ธันวาคม 2555
ผมเลยกลายเป็นจำเลยไปทันทีที่ทำให้ผู้ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2555 – 31 ธันวาคม 2555 ยังไม่ได้รับตกเบิกวิทยฐานะ ถ้าเกณฑ์ ก.ค.ศ. ที่ปรับใหม่แจ้งมาก่อนที่เราได้รับงบประมาณเราคงปรับตัวทัน แต่นี่ได้เกณฑ์มาหลังจากที่เราได้รับงบประมาณมาแล้ว จึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว
ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามวงรอบงบประมาณปกติ กลุ่มที่เหลือจะได้รับเงินตกเบิกอีกครั้งก็คือตุลาคม 2556 อีกหนึ่งปีเต็ม
ขณะนี้ สำนักนโยบายและแผน(สนผ.) ได้ขอให้ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล(สพร.) รวบรวมจำนวนผู้ที่ได้เลื่อนวิทยฐานะตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2555 ถึงปัจจุบันว่ามีจำนวนเท่าไร และต้องใช้งบประมาณเท่าไร และจะทำเรื่องขออนุมัติงบกลางจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งท่านเลขาธิการให้ความเห็นชอบกับแนวทางนี้แล้ว เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ครับ เพราะท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้เปรยๆ เรื่องนี้กับท่านเลขาธิการอยู่เหมือนกันในการประชุมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
แต่จะได้หรือไม่ได้ ได้เมื่อไรนั้น ยังตอบไม่ได้ครับ