ริดสีดวงทวาร (หมอชาวบ้าน)
สำหรับโรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่พบบ่อย อาการส่วนใหญ่ของริดสีดวงทวาร คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดแดงสด หรือมีก้อนโผล่ขณะถ่ายอุจจาระ การกินอาหารที่มีกากใยน้อย อาหารรสจัด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นอาการของริดสีดวงทวารให้เป็นมากขึ้นได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง
การรักษาโรคริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับชนิด และระยะของโรค
หากเป็นริดสีดวงทวารระยะแรก หัวยังอยู่ภายใน ไม่เจ็บ แต่จะมีเลือดออกได้
ระยะที่ 2 จะมีหัวริดสีดวงยื่นออกมาจากปากทวารเมื่อถ่ายอุจจาระ แต่จะหดกลับเข้าไปเองได้
ริดสีดวงทวารทั้ง 2 ระยะนี้ สามารถรักษาโดยให้ยากิน หรือยาเหน็บทางทวารหนัก ร่วมกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย และอาจพิจารณาการรัดหัวริดสีดวงทวารด้วยยาง หรือฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งริดสีดวงทวารที่เลือดออก
ระยะที่ 3 และ 4 ริดสีดวงทวารใหญ่มากเกินกว่าจะกลับเข้าไปเอง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น
สำหรับการผ่าตัดจะขึ้นกับจำนวนและชนิดของริดสีดวงทวาร รวมทั้งความชำนาญของศัลยแพทย์ เช่น ริดสีดวง 1-2 ตำแหน่ง อาจใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยในการตัดริดสีดวงทวาร โดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บแผล แต่ถ้าริดสีดวงทวาร 3 ตำแหน่งขึ้นไป อาจใช้เครื่องมือตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลม โดยการตัดและเย็บนี้จะเกิดตามแนวเส้นรอบวงของช่องทวารหนัก ทำให้สามารถตัดหัวริดสีดวงออกได้ทุกหัว และไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลง อีกทั้งแนวการเย็บแผลอยู่สูงกว่าปากทวารหนัก ผู้ป่วยจะไม่แผลภายนอกเลย รวมถึงเจ็บปวดก้นหลังผ่าตัดน้อย
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เนื่องจากการผ่าตัดแบบใหม่นี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ส่วนวิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวารนั้น ควรกินอาหารที่มีกากใยมากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว ลดอาหารประเภทไขมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระนาน ๆ หรือนั่งอ่านหนังสือในขณะขับถ่าย
ขอบคุณที่มาจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน