นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือกับนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และศาสตราจารย์ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาเรื่องการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษาให้ตรงตามปฏิทินอาเซียน เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ห้องทำงาน รมว.ศธ.
รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้หารือกับคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยที่จะมีการเลื่อนออกไปจากเดิม ทำให้มีผลกระทบกับนิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ซึ่งโดยปกติเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ ๔ แล้ว จะต้องไปฝึกสอนเป็นเวลา ๑ ปี (๒ ภาคเรียน) แต่เนื่องจากการเปิดภาคเรียนของในระดับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษายังเปิดภาคเรียนแบบเดิม คือ ช่วงระยะเวลากลางเดือนพฤษภาคม ทำให้เวลาการฝึกสอนของนักศึกษาไม่มีความต่อเนื่อง และอาจจะฝึกสอนได้ไม่ครบเวลา ๑ ปี ส่งผลให้จบการศึกษาล่าช้าออกไป โดย เลขาธิการ กพฐ.ก็มีมุมมองว่าอาจจะมีการปรับหรือขยับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้บ้าง เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถไปฝึกสอนต่อได้โดยไม่เสียเวลา ซึ่งในรายละเอียดเลขาธิการ กพฐ. กับคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ต่อไป
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในความเป็นจริงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องนี้ในที่ประชุมผู้บริหาร สพฐ.หลายครั้ง และได้รวบรวมข้อมูลการเปิดปิดภาคเรียนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ พบว่า ในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศอาเซียน ก็ยังมีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่มีความหลากหลาย ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยไทยจะเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับปฏิทินของอาเซียนก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลสำหรับนักศึกษาที่จะมีการเคลื่อนย้ายไปเรียนในมหาวิทยาลัยของอาเซียน แต่ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นว่านักเรียนทั้งระดับประถมฯ และมัธยมฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน การจะพิจารณาเลื่อนหรือไม่เลื่อนนั้น ควรจะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน หากจะเลื่อนให้ตรงกับมหาวิทยาลัยก็คงจะมีผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะต้องเลื่อนออกไปประมาณ ๔ เดือน กล่าวคือจากกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม แต่หากให้ปรับเวลาเหลือเพียง ๒ สัปดาห์ หรือไม่เกิน ๒๐ วัน ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะไม่เป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ปกครองและนักเรียนมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะรับข้อคิดเห็นจากคณะครุศาสตร์ฯ ไปประชุมรับฟังความคิดเห็น และประสานงานกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป โดยคาดว่าจะได้รับคำตอบในเบื้องต้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
คณบดีคณะครุศาสตร์ฯ กล่าวว่า เป็นความห่วงใยของ รมว.ศธ.ที่เห็นว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนของระดับอุดมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ยังมีความเหลื่อมล้ำกัน การที่จะปรับให้สองระบบสอดคล้องกันก็จะเป็นภาพที่ดีในแง่ของเอกภาพในการจัดการศึกษา และสอดคล้องกับนานาชาติในการร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการ การแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน อาจารย์ สู่เวทีสากล เพื่อให้มีความสะดวก มีความเป็นไปได้ และเกิดประโยชน์ต่อการศึกษามากขึ้น
สำหรับการศึกษาของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในปัจจุบัน เป็นหลักสูตร ๕ ปี และมีข้อบังคับของคุรุสภาให้มีการฝึกสอนเป็นเวลา ๑ ปีการศึกษา (๒ ภาคเรียน) โดยแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑) นิสิตนักศึกษา ที่เรียนสะสมหน่วยกิตครบถ้วน จะฝึกสอนในช่วงปี ๔ ภาคเรียนที่ ๒ และปี ๕ ภาคเรียนที่ ๑ และ ๒) นิสิตนักศึกษา ที่เรียนตามปกติ จะฝึกสอนในช่วงปี ๕ ในภาคเรียนที่ ๑ และ ๒ หากมีการขยับปฏิทินตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยกำหนดในปีการศึกษา ๒๕๕๗ นั้น ภาคเรียนที่ ๒ ก็จะเปิดเรียนในช่วงกลางเดือนมกราคม-กลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นิสิตนักศึกษาต้องไปฝึกสอน ในขณะที่โรงเรียน สพฐ.ยังเปิดตามปกติ คือ กลางเดือนพฤษภาคม ก็จะทำให้นิสิตนักศึกษาเสียโอกาสในการที่จะเข้าไปฝึกสอนตั้งแต่ต้นภาคเรียน ซึ่งมีเวลาคาบเกี่ยวในส่วนนี้ประมาณ ๒ สัปดาห์ หากมีการขยับและไม่ทำให้สภาพที่คุ้นชินด้านสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป แต่เป็นการปรับเพื่อให้สอดรับกับระดับอุดมศึกษาในการส่งนิสิตนักศึกษาไปฝึกสอนให้กับโรงเรียน สพฐ. ซึ่งถือเป็นแหล่งสำคัญในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และโรงเรียนเองก็ได้ประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า หากมีการขยับเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนออกไปในเวลาที่ไม่กระทบกับการศึกษาภาพรวมมากนัก การที่นิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์จะฝึกสอนต่อเนื่องทันทีก็จะมีความเป็นไปได้สูง แต่หากไม่ฝึกสอนทันทีจะเสียโอกาสและจะจบการศึกษาล่าช้าไปอีก ซึ่งขณะนี้ สพฐ. และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพยายามพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับนิสิตนักศึกษาที่จะไปฝึกสอน ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนที่ไปฝึกสอนด้วย
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ