งานนมัสการพระธาตุพนมเป็นประเพณีที่ถึอปฏิบัติต่อเนื่องกันมาแต่โบราณกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ไรมาชาวพุทธในลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อถึงเดือน 3 ข้างขึ้น จะพากันหลั่งไหลมานมัสการกราบไหว้บูชาไปจนตลอดสิ้นเดือน โดยมีความเชื่อถือชนิดฝังใจสืบทอดกันมานานว่า “ถ้าใครมีโอกาสมาแสวงบุญที่พระธาตุพนมด้วยศรัทธา จิตใจสงบเย็น เวลาตายแล้วจะได้ไปสู่สวรรค์” ดังนั้น จึงได้พากันพยายามมาแสวงบุญในจุดนี้ให้ได้ ในชั่วชีวิตหนึ่งได้มาครั้งหนึ่งก็ยังดีกว่าไม่มาเลย
ในงานนมัสการองค์พระธาตุพนมมีจุดสนใจหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เราไม่ได้เก็บมาคิดกัน เป็นเพราะแต่ละคนไม่ให้ความสนใจในสิ่งที่เป็นแกนของงานมากนัก มากราบไหว้ก็สักแต่ว่ามาโดยเชื่อตามๆ กัน มีคนแก่คนเฒ่าเล่าให้ฟังแต่สมัยโบราณ ในกลุ่มของวัยรุ่นคงจะมาด้วยความสนุกแสงสีเสียงของงาน แต่ไม่รู้ถึงประวัติความเป็นของงาน จุดสนใจของงานคือ การแสวงบุญของผู้มาเที่ยวงานนมัสการองค์พระธาตุพนม หน่วยรับบริจาคของทางวัด และสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่สำคัญงานนมัสการพระธาตุพนมเป็นศูนย์รวมผู้คนต่างสารทิศนับเรือนแสนแต่ละวันและต่างวัยต่างอาชีพ ถ้าจะให้ถามความคิดเห็นในด้านความเชื่อ สังคม และวัฒนธรรม ต่อองค์พระธาตุพนม เชื่อแน่ว่าต่างคนก็ต่างความคิด แต่ผู้เขียนเองก็พยายามรวบรวมจุดสำคัญๆ มาไว้ในเนื้อหานี้จะได้ยกมาอธิบายเป็นข้อๆ ไป
๑. ความเชื่อถือแต่โบราณ
ในสมัยโบราณ บรรดาชาวพุทธในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และในประเทศลาวเชื่อถือสืบ ๆ กันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญกุศลถวายเครื่องสักการะบูชา บริจาคทรัพย์ สวดมนต์ ท่องบ่น สาธยายคัมภีร์พระธรรมและเจริญเมตตาภาวนาเฉพาะหน้าองค์พระธาตุพนม จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อตายแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ เพราะฉะนั้น ด้วยพลังของความเชื่อดังกล่าวนี้ ได้ผลักดันให้พยายามขวนขวายหา เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่าที่สามารถจะทำได้ พวกชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนมไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี ซึ่งเรื่องนี้กล่าวไว้ไนตำนานพระธาตุพนม
ความเชื่อดังกล่าวนี้ เข้าใจได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดเห็นเรื่องสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ตามที่กล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตอนพระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ซึ่งเป็นศิลย์สาวกใกล้ชิดพระองค์ว่า
“สถานที่ ๔ แห่งซึ่งกุลบุตรกุลธิดาผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในเราตถาคต จะถือเอาสถานที่แสวงบุญก็ได้ คือ
๑. สถานที่ประสูติของเราตถาคต
๒. สถานที่ตรัสรู้พระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ
๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา และ
๔. สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
อีกประการหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสยืนยันว่า พระสถูปเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ก็ถือว่าเป็นปูชนียสถานเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พวกชาวพุทธจึงถือว่าผู้มีศรัทธาทำบุญต่าง ๆ ในบริเวณสถานที่ดังกล่าวนี้ ย่อมได้ผลานิสงฆ์มากเหมือนกัน
พระธาตุพนมกลายเป็นจุดรวมแห่งการแสวงบุญ
ในกรณีของพระธาตุพนมก็เหมือนกับปูชนีสถานในประเทศอื่น ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา คือ ได้ดัดแปลงรูปแบบแห่งการเคารพบูชาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในจำนวน ๔ แห่ง ซึ่งได้แก่สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในความหมายว่า พระบรมสารีกขธาตุและส่วนที่เหลืออื่น ๆ ของพระพุทธเจ้า เป็นสื่อแทนพระองค์ในความรู้สึกของผู้มีศรัทธา ดังนั้น พระสถูปเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พร้อมส่วนที่เหลืออื่น ๆ จึงถือเป็นจุดรวมแห่งการแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ
นับตั้งแต่ที่เชื่อถือกันว่าพระธาตุพนมเป็นสถานที่อันควรแก่การแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ ของชาวพุทธแล้ว บรรดาชาวพุทธผู้มีจิตศรัทธาจากทุกสารทิศทั่วประเทศทั้งไทยและลาว ต่างก็ได้หลั่งไหลมาแสวงบุญเป็นจำนวนมากตลอดปี โดยพากันประกอบพิธีทางศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลประจำปีตลอดทั้ง ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งมีขึ้นในระหว่างปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือเริ่มจากวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ มีบรรดาชาวพุทธที่มีศรัทธาจำนวนมากชุมนุมกันนมัสการพระธาตุ และบำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ซึ่งมีขึ้นภายในบริเวณพระธาตุ เช่น กราบพระธาตุ บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ปิดทองเปลว และกล่าวคำนมัสการ เป็นต้น
ขอบคุณที่มา ธาตุพนมดอทคอม