ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

รมว.ศธ.มอบนโยบายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ


ข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ 5 พ.ย. 2555 เวลา 17:56 น. เปิดอ่าน : 8,175 ครั้ง
Advertisement

รมว.ศธ.มอบนโยบายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

Advertisement

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ

เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เวลา ๗.๔๕ น. รมว.ศธ. เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ไปสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวง "พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์" และศาลพระภูมิ รวมทั้งสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๖ และพระพุทธรูปในห้องทำงาน โดยมีคณะผู้ตรวจราชการ ผู้บริหารองค์กรหลัก และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงให้การต้อนรับและร่วมพิธี

หลังจากนั้น ในเวลา ๙.๐๐ น. รมว.ศธ.ได้ให้นโยบายและแนวทางการทำงานด้านการศึกษาของรัฐบาล สรุปดังนี้

►ให้ช่วยพัฒนาการศึกษาอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยผู้ที่มีความรอบรู้ทั้งภายใน-ภายนอกกระทรวง

รมว.ศธ.กล่าวแสดงความขอบคุณแทน รมช.ศธ.ที่ผู้บริหารและข้าราชการ ศธ.ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่ง หากจะช่วยกันทำงานพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเข้มแข็งเหมือนที่ให้การต้อนรับก็จะขอบคุณยิ่ง ทั้งนี้แม้ตนจะได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของ ศธ. แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำงาน แม้อาจจะมีโอกาสไปสอนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย เช่น เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่หากพูดถึงประสบการณ์ต่างๆ ในเรื่องของการศึกษาแล้ว ท่านทั้งหลายที่อยู่ในกระทรวงถือว่ารอบรู้มากกว่า แม้ว่าท่านจะมีความรอบรู้แล้ว แต่เชื่อว่าสิ่งที่ท่านรอบรู้ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาไทยเท่านั้น เพราะยังมีท่านที่มีความรอบรู้อีกมากที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวง หรืออยู่ในกระทรวงแต่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้

►การศึกษาเป็นหัวใจการแข่งขันของประเทศ

เรื่องของการศึกษานั้น ทุกประเทศถือว่าเป็นหัวใจ ไม่มีประเทศไหนปฏิเสธได้เลยว่าการศึกษานั้นไม่ใช่หัวใจ เพราะในโลกยุคปัจจุบันที่แข่งขันกันด้วยความรู้ แข่งขันกันด้วยความสามารถของคน ไม่ใช่แข่งขันเหมือนในอดีตที่แข่งกันที่จำนวนคนหรือทรัพยากร การศึกษาจึงเป็นหัวใจจริงๆ ทั้งนี้การศึกษาเป็นเรื่องที่จะขับเคลื่อนแต่ละครั้งใช้เวลานานมาก เพราะเกี่ยวข้องกับบุคลากรผู้สอน ๘ แสนกว่าคน ผู้เรียนอีกหลายล้านคน ดังนั้นกว่าจะเห็นผลการขับเคลื่อนจึงใช้เวลานานกว่าการสร้างรถไฟฟ้ามาก แต่หากไม่ขับเคลื่อนและไม่ทำอย่างต่อเนื่อง ผลก็จะไม่เกิด เพราะฉะนั้นทีมที่มาร่วมทำงาน เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นางฉวีวรรณ คลังแสง และนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์), ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ซึ่งจะมาช่วยงานที่นี่ด้วย รวมทั้ง ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย จะมีส่วนช่วยเรื่องกฎหมายต่างๆ ตามที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยกันผลักดัน

ขณะเดียวกัน คำถามจากคนข้างนอกหรือคนทั่วไปว่าพอใจเรื่องการศึกษาไทยหรือไม่ คำตอบท่านทั้งหลายคงจะทราบดีว่า คนทั้งหลายยังไม่พอใจกับสภาพการศึกษาไทย บางท่านอาจจะบอกว่าคงเป็นความรู้สึก แต่จากการวัดกันในระดับนานาชาติ ที่เรียกว่า Program for International Student Assessment : PISA ซึ่งเป็นโครงการประเมินผลนักศึกษานานาชาติ ได้ประเมินผลในกลุ่มประเทศ OECD จำนวน ๓๔ ประเทศ และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD อีก ๓๑ ประเทศ รวมเป็น ๖๕ ประเทศ ปรากฏว่าในเรื่องของการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์นั้น ประเทศไทยอยู่ในลำดับประมาณที่ ๕๐ ทั้งสามด้าน โดยในระดับอาเซียนสูงกว่าประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ส่วนประเทศระดับแนวหน้า เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ติดอันดับหนึ่งในห้า ซึ่ง สสวท. ทราบข้อมูลนี้ดีว่า เด็กไทยเรียนเยอะ ครูสอนเยอะ แต่เรียนรู้น้อย นี่คือผลสรุปทางวิทยาศาสตร์คือใช้เวลาเยอะแต่เรียนรู้น้อย เครียด แถมออกไปแล้วสู้เขาไม่ได้


►ให้ ศธ.มีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐบาล ไม่เน้นเฉพาะการศึกษา

ในส่วนของนโยบายรัฐบาล ไม่เพียงแต่นโยบายเร่งด่วนและนโยบายด้านการศึกษาโดยตรงเท่านั้นที่ ศธ.จะต้องรับผิดชอบ แต่ยังมีนโยบายด้านอื่นๆ ที่ ศธ.จะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนและทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เช่น การเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเพียงพอ ซึ่ง สกอ. จะมีส่วนรับผิดชอบ หรือการสร้างคนที่มีฐานความรู้ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ สร้างนวัตกรรม ฯลฯ ซึ่ง ศธ.ต้องร่วมกันทำงานขับเคลื่อน และในบางเรื่องแม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ ศธ.ก็ต้องมีส่วนเข้าไปดำเนินการ เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น

รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายของ ศธ.นั้น จะนำนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษามาขับเคลื่อน และจะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากอดีต รมว.ศธ.ทั้งสองท่านคือ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ทั้งนี้ผู้บริหาร ศธ.ต้องร่วมกันขับเคลื่อนในส่วนของนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่นโยบายที่เป็นนโยบายเร่งด่วนและนโยบายที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาโดยตรงเท่านั้น แต่ ศธ.จะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เช่น การเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอ ซึ่งปรากฏในนโยบายรัฐบาลข้อ ๔.๓ นั้น แม้จะไม่เกี่ยวกับการศึกษา แต่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบในการผลิตคือ สกอ. หรือการสร้างฐานคนที่มีความรู้ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ สร้างนวัตกรรม ซึ่งกำหนดไว้ในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ศธ.จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการด้วย เป็นต้น ฉะนั้นจึงมีอีกหลายนโยบายที่ ศธ.จะต้องเข้าไปขับเคลื่อนหรือทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่าบางเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องของกระทรวงโดยตรง แต่ก็ต้องดำเนินการร่วมกัน เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด

►ประกาศนโยบาย ศธ.ที่จะขับเคลื่อน

รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนต่อไปนั้น จะต่อเนื่องจากสมัยอดีต รมว.ศธ. (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะต้องขับเคลื่อนไปให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ส่วนในรายละเอียดที่ผู้บริหาร ศธ.พิจารณาว่ามีอะไรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือดำเนินการไปแล้วประสบปัญหาอุปสรรค ก็ต้องมาหารือกันต่อไป สำหรับนโยบายที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและขับเคลื่อนการทำงาน มีดังนี้

๑) เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้ศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ขอให้ทุกคนให้ความสนใจ โดยมีประเด็นย่อย ดังนี้

- การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และจากผลการประเมินด้านการศึกษาของเด็กไทยที่พบว่าเด็กเรียนเยอะ แต่รู้น้อย จึงควรมีการทบทวนว่า เด็กควรจะเรียนอะไรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อ รวมทั้งเนื้อหาสาระในหลักสูตร ที่ควรจะเน้นพื้นฐานคณิตศาสตร์เพื่อต่อยอดการผลักดันเรื่องการผลิตนักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับภาษาอังกฤษก็มีความจำเป็น เพราะจากผลการประเมินของบริษัท Education First ที่รายงานโดย New York Times ได้ประเมิน ๕๔ ประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ พบว่าประเทศไทยอยู่ใน ๕ อันดับสุดท้าย ดังนั้น ศธ.จะต้องดำเนินการอย่างไรในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย รวมทั้งการใช้ภาษาไทยด้วย เพราะการอ่านเราก็ยังมีปัญหา รวมทั้งควรสร้างจิตสำนึกและค่านิยมที่ถูกต้องให้แก่เด็กด้วย

- การผลิตคนให้ตรงกับอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและระดับสากล ขณะนี้ประเทศขาดบุคลากรด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งพยาบาลที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตคนให้ตรงกับอุปสงค์ ตัวอย่างคือในขณะนี้มีบริษัทไทยไปลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศ เช่น โรงงานถลุงเหล็กที่อังกฤษ ก็ต้องการบุคลากรของไทยไปทำงานในต่างประเทศเช่นเดียวกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาเปิดกิจการในเมืองไทย ก็จำเป็นต้องใช้คนญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วย ดังนั้นคนไทยจะต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปทำงานในต่างประเทศได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย โดยครูอาจารย์จะต้องแนะนำนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ต้น หากสนใจเรียนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ หรือเรียนพยาบาลที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนก็จะมีงานรองรับและมีรายได้ที่ดี แต่หากเลือกเรียนในสายสังคมหรือสาขาวิชาที่มีคนเรียนจำนวนมากแล้ว อาจไม่มีโอกาสได้ทำงานตามสาขาที่เรียน หรืออาจต้องไปทำงานในสาขาอื่นที่ไม่ได้เรียน ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นให้ ศธ.ผลิตคนให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ คือในส่วนของอาชีวศึกษาที่จะต้องเน้นทั้งด้านคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมยานยนต์

- การปลูกฝังคุณธรรมและจิตสำนึกประชาธิปไตย โดย ศธ.ได้ดำเนินการเรื่องการปฏิบัติธรรมของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ไม่ควรทำเป็นครั้งคราว แต่ควรมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นปี ๒๕๕๕ ตนได้รับเชิญให้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเป็นวินัยมาก โดยได้มีโอกาสไปดูงานโรงเรียนประถมศึกษา เพราะเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ต่อสู้กับเหตุการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม มีวินัยในการต่อแถวได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งจากการดูงานพบว่าได้เห็นการฝึกอบรมด้านวินัยตั้งแต่เล็กๆ เกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความเสียสละในห้องเรียน ทั้งนี้หากเราใช้แนวทางโรงเรียนวิถีพุทธ หรือดำเนินโครงการครูพระสอนศีลธรรม รวมทั้งการดำเนินโครงการปฏิบัติธรรมสำหรับผู้บริหารของอดีต รมว.ศธ.(ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) ก็ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะได้ผลในทางที่ดีขึ้น ก็ควรดำเนินการต่อไป

- การพัฒนาคุณภาพครู อาจารย์ โดยเฉพาะด้านที่ขาดแคลน ซึ่งผลการประเมินต่างๆ พบว่ามีครูที่สอนไม่ตรงตามสาขาจำนวนมาก ดังนั้นจึงจะต้องพัฒนาครูผู้สอนเหล่านี้ รวมทั้งครูบรรจุใหม่ให้มีคุณภาพเช่นกันด้วย นอกจากนี้ได้รับทราบปัญหาคนที่มีความรู้ในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ด้านภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่เต็มใจจะเข้ามาช่วยสอน แต่ติดปัญหาไม่สามารถสอนได้ เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ความจริงคือบุคคลเหล่านั้นสามารถสอนในมหาวิทยาลัยได้ ได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยเชิญไปสอนได้ แต่จะไปช่วยสอนประจำในโรงเรียนไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายท่านมีความรู้มากกว่าครูที่เรามีอยู่เพราะเป็นสาขาที่เราขาดแคลน หรือกรณีที่นำนักศึกษาจากอังกฤษเข้ามาช่วยสอนในโรงเรียน ก็ยังพบปัญหาเช่นกัน ที่จริงแล้วถ้าเป็นการช่วยสอนไม่น่าจะมีปัญหา ไม่ใช่เป็นครูประจำ โดยเฉพาะธุรกิจต่างๆ ซึ่งมี Corporate Social Responsibility : CSR อยู่แล้ว แทนที่จะไปทาสีโรงเรียน อาจเป็นการช่วยสอนน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำไป

- การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา เข้าใจว่าจะมีหลายโรงเรียนที่ทำได้ดี มีการจัดระบบการศึกษาที่ดี และมีโรงเรียนไปดูเป็นตัวอย่าง ซึ่ง ศธ.ควรจะไปดูว่าโรงเรียนใดที่จัดการศึกษาได้ดี มีรูปแบบต่างๆ หลากหลาย และเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นพิจารณานำไปปรับใช้ได้ จึงควรจะมีการกระจายแนวความคิดดีๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อไป

๒) การสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะครอบคลุม ๒ เรื่อง คือ

- สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการทุพลภาพ ให้ทั่วถึง เช่น โครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ซึ่งในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เน้นให้โอกาสแก่คนที่ยากไร้ แต่ในระยะหลังได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ใครสอบได้ดี ก็จะได้ ซึ่งต้องการให้พิจารณาด้วยว่าถึงแม้จะมีทุนสำหรับเด็กเก่ง แต่คงต้องพิจารณาทุนสำหรับผู้ยากไร้เพิ่มเติมด้วย มิฉะนั้นคนที่ยากไร้ก็จะเสียโอกาสที่จะไปศึกษา รวมทั้งความเสมอภาคต่างๆ ด้วย

- การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต เช่น กศน.ได้ทำให้ผู้ที่อยู่วัยทำงานได้ยกระดับตัวเอง พัฒนาให้รองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต่อไปเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะคนอายุ ๖๐ ปียังสามารถทำอะไรได้อีกมาก เพราะคนที่อยู่ในวัยทำงานรองรับไม่เพียงพอ ในหลายประเทศให้คนที่อายุมากแล้ว แต่ไม่สูงมากเกินไป กลับมาเป็นปัจจัยการผลิตอยู่ เราจะดำเนินการให้ท่านเหล่านี้ได้รับการพัฒนาเรื่องความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อให้กลับมาเป็นกำลังการผลิตของสังคม มิฉะนั้นเด็กรุ่นหลังเรา จะแบกรับพวกเราไม่ไหว เพราะจำนวนน้อย แต่ผู้สูงอายุเราจำนวนมากกว่า

๓) การนำสันติสุขสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศธ.จะต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการเรื่องนี้ ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้บอกว่า ต้องเน้นการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ศธ.ต้องมีบทบาทหนักในเรื่องนี้ด้วย

๔) การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ผ่านมา ศธ.ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องเข้มแข็ง ติดตามใกล้ชิด ในสถานศึกษาต้องไม่มียาเสพติด ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "โรงเรียนสีขาว"







๕) แท็บเล็ต จะจัดหาในปีนี้สำหรับนักเรียนชั้น ป.๑ และ ม.๑ โดยขอให้ดูแลในเรื่องการจัดหา โดยให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ข้อสำคัญคือเนื้อหาสาระในแท็บเล็ตต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้มีความน่าสนใจสำหรับเด็ก

๖) การวิจัย เป็นเรื่องสำคัญที่ ศธ.ต้องการจะให้มีงบประมาณการวิจัยเพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาลดลง ก็เพราะวิจัยไปแล้วไม่นำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่หากวิจัยแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อภาคการผลิต เป็นประโยชน์ต่อภาคอื่นๆ งบประมาณวิจัยจะไหลเทมาทั้งจากภาครัฐและเอกชน อย่างแรกคือ ขอให้ไปดูงานวิจัยที่ทำไว้แล้ว ที่อยู่บนชั้น บนหิ้งทั้งหลาย อันไหนที่นำมาปรับใช้เป็นประโยชน์ประยุกต์ใช้ได้ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ หรือภาคสังคม นำมาปัดฝุ่น แล้วให้คนได้เห็นว่า สิ่งที่วิจัยไปแล้วใช้ได้จริง เป็นประโยชน์จริง อย่างที่สอง เวลาจะวิจัยอะไร หากได้มีการทำงานร่วมกับคนที่จะใช้ผลงานวิจัย เช่น ภาคธุรกิจ หากวิจัยแล้วภาคธุรกิจได้ประโยชน์ หมายความว่าแทนที่รัฐจะต้องเสียงบอุดหนุนงานวิจัยเอง ๑๐๐% ธุรกิจอาจจะรับทั้ง ๑๐๐% หรืออาจจะมีส่วนร่วมก็ได้ อย่างนี้ก็จะเห็นว่าทำแล้วได้ประโยชน์ ขอให้นักวิจัยทั้งหลาย นอกจากวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์แท้ๆ ก็ทำไปส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่นำไปใช้ได้จริง ประยุกต์ใช้ได้จริง ก็ต้องมี ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้คนเห็นความสำคัญของงานวิจัย และเราจะได้พัฒนาส่งเสริมงานวิจัยกันมากกว่านี้

๗) กองทุนตั้งตัวได้ ขณะนี้เมื่อพิจารณาผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว พบว่ามีความพร้อมพอสมควร สามารถดำเนินการนโยบายดังกล่าวได้แล้ว นอกจากนี้ผู้ประกอบการทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ๆ ในหลายประเทศที่มีระบบที่ช่วยสนับสนุน ก็ดำเนินการในส่วนที่ชำนาญ แต่ส่วนที่ไม่ชำนาญอาจมีระบบที่มีผู้ดำเนินการให้ บางประเทศไปจ้างอีกประเทศหนึ่งมาดำเนินการ เช่น บัญชี ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการบางคนเก่งในเรื่องผลิตเสื้อ แต่เรื่องการทำบัญชี การบริหารต่างๆ อาจมีระบบใดเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้หรือไม่

๘) การผลักดันการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน ศธ.ควรจะมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

๙) งบประมาณ ศธ.เป็นกระทรวงที่มีงบประมาณมากที่สุด สิ่งที่จะขอรบกวน คือ เรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน ขอให้เร่งดำเนินการดูแลให้มีการเบิกจ่าย โครงการเดียวกันให้เริ่มทำตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ให้เงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย อย่าไปปล่อยค้างท่อจนกระทั่งปลายปีงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างก็ให้ดำเนินการตามระบบที่โปร่งใส หากไม่จำเป็นต้องใช้วิธีกรณีพิเศษ ก็ขอให้จัดซื้อจัดจ้างโดยระบบปกติ เพื่อจะได้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

๑๐) ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอรัปชัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำในเรื่องการทุจริตคอรัปชันให้ดูแลให้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพยายามไม่ให้เกิดข้อครหา ในเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้หน่วยงานใดที่มีข้อครหาเกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่ง หลีกไม่พ้นที่จะมีการทุจริตคอรัปชันตามมา ซึ่งจะส่งผลให้คนที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ทำงานอย่างทุ่มเท ก็จะหมดกำลังใจ ขอให้ดูแลให้ดี อีกส่วนคือจะมีข่าวบ่อยๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา ระหว่างครูกับนักเรียน อาจารย์กับนักศึกษา และในส่วนที่บุคลากรทางการศึกษาต้องไม่ให้คนในวงการเดียวกันมาทำอะไรที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หากเราดำเนินการอย่างจริงจัง เรื่องเหล่านี้ก็จะน้อยลง แต่หากเราไม่เอาจริง ดูเป็นเรื่องที่ไม่ให้ความสนใจ ก็จะเกิดเรื่องนี้ขึ้นบ่อยๆ ในสถานศึกษา

๑๑) ประสิทธิภาพ เรื่องของประสิทธิภาพนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโรงเรียนขนาดเล็กมาก ซึ่งผลประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่หากเราจัดระบบรับส่งเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กด้อยคุณภาพ ไปเรียนอีกโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ตั้งห่างไกลออกไป แต่มีคุณภาพดีกว่า โดยผู้ปกครองไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย แต่การดำเนินการจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องมวลชน คือชาวบ้านก็ไม่ติดใจ และจัดระบบวิธีการที่ดีในการรับส่งนักเรียนอย่างสะดวก ตรงนี้คือส่วนที่จะช่วยกันพัฒนาขึ้นมา

 

ที่มาภาพและข่าวจาก http://www.moe.go.th/websm/2012/nov/287.html


รมว.ศธ.มอบนโยบายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

:: เรื่องปักหมุด ::

ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556

ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556

เปิดอ่าน 6,963 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 1/2559 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559
ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 1/2559 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559
เปิดอ่าน 9,944 ☕ คลิกอ่านเลย

การมอบอำนาจให้ รมว.ศธ.สั่งและปฏิบัติราชการแทน และ มอบหมายให้ขับเคลื่อนงานตามนโยบาย
การมอบอำนาจให้ รมว.ศธ.สั่งและปฏิบัติราชการแทน และ มอบหมายให้ขับเคลื่อนงานตามนโยบาย
เปิดอ่าน 7,370 ☕ คลิกอ่านเลย

ภาพรวมโครงการนำร่อง "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"
ภาพรวมโครงการนำร่อง "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"
เปิดอ่าน 6,070 ☕ คลิกอ่านเลย

ม.44 รวมอาชีวะรัฐ-เอกชน
ม.44 รวมอาชีวะรัฐ-เอกชน
เปิดอ่าน 8,484 ☕ คลิกอ่านเลย

สรุปการประชุมองค์กรหลัก ศธ. ครั้งที่ 6/2554
สรุปการประชุมองค์กรหลัก ศธ. ครั้งที่ 6/2554
เปิดอ่าน 8,355 ☕ คลิกอ่านเลย

ประกวดวาดภาพเนื่องในโอกาสวันครู ประจำปี 2555
ประกวดวาดภาพเนื่องในโอกาสวันครู ประจำปี 2555
เปิดอ่าน 9,721 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เพราะเหตุใด? หนุ่มญี่ปุ่นจึงโพสต์เตือนคนไทย อาจแห้วงานเพราะเฟซบุ๊ก!
เพราะเหตุใด? หนุ่มญี่ปุ่นจึงโพสต์เตือนคนไทย อาจแห้วงานเพราะเฟซบุ๊ก!
เปิดอ่าน 9,586 ครั้ง

เพนต์หน้าพิลึก! กระแสฮิตโจ๋ยุ่น
เพนต์หน้าพิลึก! กระแสฮิตโจ๋ยุ่น
เปิดอ่าน 10,127 ครั้ง

ติดตั้งสายดินปักขวด อันตราย
ติดตั้งสายดินปักขวด อันตราย
เปิดอ่าน 17,640 ครั้ง

แบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเลขเร็ว ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3
แบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเลขเร็ว ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3
เปิดอ่าน 12,052 ครั้ง

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2553
ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2553
เปิดอ่าน 15,627 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ