กระทุ่ม ชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบ ป่าเบญจ-พรรณทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นในที่ชุ่มชื้นใกล้น้ำ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 500-1,500 เมตร ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย และภูมิภาคอินโดจีน มีชื่อวิทยา-ศาสตร์ อย่างเป็นทางการว่า ANTHOCEPHALUS CHINENSIS (LAMK.) A.RICH.EX WALP. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นตั้งตรง สูง 15-30 เมตร กิ่งตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งโน้มลง เปลือกต้นเป็นสีเทาแก่ มีรอยแตกเป็นร่องตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนสอบหรือป้าน สีเขียวสด
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแน่น โดยออกเป็นดอกเดี่ยวๆที่ปลายกิ่ง เป็นรูปทรงกลม เส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 4-5 ซม. เป็นสีเหลืองอ่อน ดอกมีกลิ่นหอม เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามแปลกตาและส่งกลิ่นหอมกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” เป็นผลรวม อุ้มน้ำ มีเมล็ดเล็ก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีชื่อเรียกตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยอีกคือ กระทุ่มบก, ตะกู, ตะโกส้ม (ภาคกลาง) ตุ้มขี้หมู (ใต้) ตุ้มหลวง (เหนือ) ทุ่มพราย (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ชื่อ กระทุ่ม มีอีกหลายชนิด เช่น กระทุ่มเขา กระทุ่มโคก และ กระทุ่มหูกวาง เป็นต้น มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมากทั้งดอกและต้น แต่ประโยชน์ใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพรแตกต่างกัน บางชนิดไม่มีสรรพคุณทางยาเลย
สำหรับสรรพคุณของ “กระทุ่ม” ที่เสนอในคอลัมน์วันนี้ ใบและเปลือกต้น มีแอลคาลอยด์หลายชนิด มีการนำแอลคาลอยด์บางชนิดไปศึกษาฤทธิ์ทางยากับหนูขาว พบว่าสามารถลดความดันโลหิตได้และออกฤทธิ์ได้นาน อินเดีย ใช้เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้ปวดมดลูก แก้โรคลำไส้ และอมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก ผลเป็น ยาฝาดสมานในโรคท้องร่วงครับ.
“นายเกษตร”
ที่มา ไทยรัฐ
ข้อมูลเพิ่มเติม
เอ่ยถึง ‘ดอกกระทุ่ม’ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ยิ่งเป็น ‘ผมทรงดอกกระทุ่ม’ แล้ว เกือบทั้งร้อยส่ายหน้า บอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน (รู้จักแต่ทรงสกินเฮดด์-ผมสั้นเกรียนติดหนังหัว) แต่สำหรับสาวๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทุกคนต้องไว้ผมทรงดอกกระทุ่มกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่
กระทุ่ม มาจากคำว่า ‘กทัมพะ’ ในภาษาบาลี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae และมีชื่อพื้นเมืองที่เรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น กระทุ่มบก, โกหว่า, ตะกู, ตะโกส้ม, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง, ตุ้มพราย เป็นต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน และมีหูใบรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างโคนก้านใบ ดอกสีเหลืองอ่อนออกเป็นช่อกลม กระจุกแน่นตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ซึ่งจะส่งกลิ่นหอมในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลมีลักษณะกลม เป็นผลย่อย ออกเป็นกระจุก เกิดจากวงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ผลจะสุกราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม แต่ละผลมีเมล็ด ขนาดเล็กมากมาย และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเมื่อแก่
ต้นกระทุ่มเป็นไม้ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ พบในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้น ใกล้น้ำ ที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร
ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย เพราะเนื้อไม้ของกระทุ่มมีความละเอียด มีสีเหลืองหรือขาว และมีคุณสมบัติแห้งเร็วมาก อีกทั้งมีลำต้นตรง เหมาะในการทำฝาบ้าน ทำประตู หน้าต่าง เพดาน กระดาน ทำกล่องต่างๆ ทำเยื่อกระดาษ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ
ในพระไตรปิฏกได้แสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า ‘มนุสสภูมิ’ คือที่เกิดของมนุษย์นั้น มี 4 ทวีป คือ
1. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ
2. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ
3. ชมพูทวีป (คือโลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ
4. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ
ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงกระทุ่มว่าเป็นต้นไม้ประจำอมรโคยานทวีป รวมทั้งต้นไม้ประจำทวีปอื่นๆ ในหัวข้อ ‘ขนาดภูเขาสิเนรุและต้นไม้ประจำทวีป’ ไว้ดังนี้ “อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง ( ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร ) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบ ภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของจาตุมหาราช เป็นที่ที่เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่
ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง) ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะในดาวดึงส์...”
ที่มา http://www.baanpud.net/forum/viewtopic.php?f=7&t=1158