เมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ที่ประชุมอนุมัติให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยจากเดิมที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งไว้ คือ 1.มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด และ 2.มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยปรับในข้อ 2 เป็น มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่จบปริญญาตรีขึ้นไป มีหลากหลายสาขาที่จำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอน เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม เครื่องยนต์ เครื่องกล เป็นต้น ซึ่งผู้จบสาขาเหล่านี้ไม่ได้จบวิชาชีพครู แต่สถานศึกษามีความจำเป็นต้องใช้คนเก่งๆเข้ามาจัดการเรียนการสอน จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนจากคุรุสภา แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ได้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้
"ต่อไปนี้จะมาสอบเข้ารับราชการเป็นครูผู้ช่วย ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาก่อนก็สามารถมาสอบบรรจุได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอน และระหว่างปฏิบัติงานในตำแหน่งครูผู้ช่วย ก็ต้องทำให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่หากภายใน 2 ปียังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็จะไม่สามารถเป็นข้าราชการต่อได้ ซึ่งเชื่อว่าการเปิดโอกาสครั้งนี้จะแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนและทำให้ได้คนเก่งๆ เข้ามาสอบได้ โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาที่ขาดแคลนมาก ทั้งครูผู้สอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีผลใช้ดำเนินการในการสอบบรรจุครั้งต่อไป" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ที่มา สยามรัฐ
หมายเหตุ
คุรุสภาทำการอนุญาตให้บุคคลปฏิบัติการสอนในโรงเรียนได้โดยมีใบอนุญาต 3 ประเภท ดังนี้
1. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ = ปฏิบัติการสอนได้เต็มรูปแบบ = ได้จากการเรียนหลักสูตรทางการศึกษาที่ได้รับการรับรองของคุรุสภาอย่างสมบูรณ์ หรือผู้ทำคุณสมบัติครบตามที่ระบุในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, หรือผู้ที่เป็นครูอยู่ก่อน 12 มิถุนายน 2546 , หรือผู้ที่ จบ ป.ตรีอื่น ขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายใน 3 ปี หลัง การประกาศใช้ พรบ. สภาครูฯ 12 มิถุนายน 2546
2. ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน = ...สามารถปฏิบัติการสอนได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อำนวยการสถานศึกษา ถือเป็นผู้มี มาตรฐานความรู้ แต่ยังไม่มีมาตรฐานประสบการณ์ = ใบนี้ ได้จากการเข้าสู่กระบวนการเทียบโอนความรู้ฯ หรือ ทดสอบความรู้ฯ ครบ 9 มาตรฐาน หรือหลักสูตรเฉพาะที่ระบุว่าได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน = ใบนี้ มีอายุ 2 ปี
3. หนังสือขออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ =คือ หนังสือที่คุรุสภาออกให้โรงเรียน เมื่อโรงเรียนทำหนังสือขออนุญาตให้บุคคลสอนในโรงเรียน แต่บุคคลนั้นไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยคุรุสภาจะอนุญาตให้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี หากลาออกจากโรงเรียนที่ขออนุญาตก่อน 2 ปี ถือว่าสิ้นสุดการขออนุญาต = ได้จากการที่โรงเรียนทำหนังสือขออนุญาตต่อคุรุสภา
ข้อที่ 3 ให้เรียกว่า "หนังสืออนุญาตให้บุคคลปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" หากเรียก "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" ผู้รับบริการจะสับสนกับข้อที่ 2 ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นประเด็นเข้าใจผิดอยู่ หลัง ก.ค.ศ. ประกาศหลักเกณฑ์รับสมัครสอบบรรจุใหม่
ลักษณะของหนังสือฉบับนี้ จะไม่เหมือน สองข้อแรก เพราะจะเป็นหนังสือออก ตามหลักสารบรรณ ส่งไปยังโรงเรียน ขณะที่ สองข้อแรก เป็นใบประกาศเลย