กลายเป็นคลิปของยูทูปที่ทำการถ่ายทอดสดการเสี่ยงดิ่งเวหาที่ทำสถิติคลิปที่ผู้คนกดชมถ่ายทอดสดสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม (เวลาท้องถิ่น) นักดิ่งเวหาเสี่ยงตายชาวออสเตรีย กลายเป็นนักดิ่งเวหาคนแรกของโลก ที่สามารถดิ่งด้วยความเร็วที่มากกว่าความเร็วเสียงได้เป็นคนแรกของโลก โดยทำความเร็วขั้นสุดท้ายของการร่วงหล่นลงสู่พื้นได้มากถึง 833.9 ไมล์ ต่อชม. หรือ 1,342.8 กม.ต่อ ชม. หรือมัค 1.24 โดยมีระยะการตกอย่างเสรี (free fall) ที่ 119,846 ฟุต หรือ 36,529 เมตร
นายเฟลิกซ์ บอมการ์ตเนอร์ วัย 43 ปี กระโดดออกจากแคปซูลห้อยอยู่กับบอลลูนซึ่งลอยขึ้นไปสู่จุดที่อยู่เหนือพื้น โลกถึง 39,044 เมตร หรือ 128,097 ฟุต หรือสุดเขตสู่อวกาศ ก่อนจะดึงสายร่มชูชีพ เพื่อร่อนลงสู่พื้นดินในบริเวณผืนทะเลทรายของรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ได้โดยปลอดภัย
บอมการ์ตเนอร์เปิดเผยว่า เขาเกือบจะยกเลิกภารกิจเสี่ยงตายครั้งนี้ เนื่องจากกะบังหน้าของหมวกกันน็อคเป็นฝ้ามัว โดยเมื่อเขาร่อนลงสู่พื้นดิน บอมการ์ตเนอร์ถึงกับนั่งคุกเข่าและชูกำปั้นด้วยความดีใจ ก่อนที่ทีมเฮลิคอปเตอร์ช่วยเหลือจะเดินทางมาถึง
บอมการ์ตเนอร์ให้สัมภาษณ์ระหว่างการแถลงข่าวว่า เมื่อต้องยืนอยู่บนขอบอวกาศ เขารู้สึกตัวเล็กกะจ้อยร่อย และไม่คิดถึงการทำลายสถิติโลกอีกต่อไป ไม่คิดถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนรู้มา สิ่งเดียวที่เขานึกถึงคือการมีชีวิตรอดเมื่อกลับสู่พื้นโลก
อย่างไรก็ดี สถิติใหม่ของเขาในครั้งนี้ จะยังคงไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะได้รับการรับรองจากสมาพันธ์กีฬาทางอากาศนานาชาติ (เอฟเอไอ)
บอมการ์ตเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์เซอร์วุสในออสเตรีย ว่า มีความรู้สึกเหมือนหินขนาด 20 ตัน ร่วงลงจากบ่าทั้งสองข้าง พร้อมกับเผยว่าใช้เวลาเตรียมตัว สำหรับการสร้างสถิติโลกในครั้งนี้กว่า 7 ปี แต่เดิมบอมการ์ตเนอร์ตั้งใจจะกระโดดลงจากแคปซูลเมื่อขึ้นสูงได้ระดับ 120,000 ฟุต แต่บอลลลูนลอยขึ้นสูงไปอีกถึงกว่า 8,000 ฟุต ผู้ที่แสดงความยินดีกับบูการ์ตเนอร์เป็นคนแรกคือ ประธานาธิบดีไฮนซ์ ฟิชเชอร์ ของออสเตรีย กล่าวว่าชาวออสเตรียทั้งประเทศภาคภูมิใจกับความสำเร็จของนายบูมการ์ตเนอร์ใน ครั้งนี้อย่างยิ่ง
ก่อนหน้าการดิ่งพสุธาครั้งนี้ เกิดความกังวลกันว่า บอมการ์ตเนอร์อาจประสบปัญหาบางอย่าง เนื่องจากเดิม เขาต้องกระโดดลงมาในท่าสามเหลี่ยม ซึ่งก็คือเขาต้องเอาศีรษะลง ขณะที่ต้องกางแขนทั้งสองข้างออก แต่ภาพจากวิดีโอหลังจากกระโดดจริง พบว่าเขาอยู่ในท่าหกคะเมนตีลังกา อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น เขาสามารถใช้ประสบการณ์การกระโดดที่มากกว่า 2,500 ครั้ง ในการค่อยๆปรับท่ากระโดดให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและมั่นคง
สำหรับอันตรายที่บูมการ์ตเนอร์ต้องฝ่าด่านคือ หากควบคุมทิศทางไม่ได้ ขณะร่วงลงสู่พื้นโลกด้วยความเร็วมหาศาล อาจทำให้หมดสติได้ทันที แลถ้าชุดที่สวมใส่เกิดรอยปริแยกเพียงเล็กน้อย แรงกดดันอันมหาศาลจะทำให้กระแสเลือดในร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกิน 100 องศาเซลเซียสทันที
ทีมงานของเขา ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนงมีทั้งสิ้นราว 100 คน ซึ่งรวมถึงนาวาอากาศเอกโจ คิตติงเกอร์ นายทหารอากาศสหรัฐซึ่งเกษียนอายุราชการแล้ว แต่เขาเคยเป็นเจ้าของสถิติกระโดดลงมาจากที่สูงที่สุดของโลก 102,800 ฟุต หรือ 31,333 เมตร เมื่อปี 1960
โฆษกศูนย์ควบคุมภารกิจครั้งนี้ แถลงว่า นายเฟลิกซ์ บวมการ์ทเนอร์ สามารถทำลายสถิติฝ่ากำแพงกั้นเสียงด้วยความเร็ว 1,137 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลา 4 นาที 19 วินาที จากระดับความสูง 128,097 ฟุต ส่วนการกระโดดของเขาทั้งหมดนั้นใช้เวลา 9 นาที 3 วินาที ในจำนวนนี้ รวมถึงเวลา 4 นาที 44 วินาที หลังจากเขากระตุกร่ม เพื่อลงสู่พื้นโลก ซึ่งตอนแรกเขาตั้งใจที่จะลอยให้ได้นานกว่า 5 นาที ก่อนที่จะกางร่ม
ที่มา มติชนออนไลน์